ไม่พบผลการค้นหา
จีเนียส เว็บเนื้อเพลงสัญชาติสหรัฐฯ ระบุว่ากูเกิลละเมิดข้อตกลงการใช้งาน ด้วยการลอกเนื้อเพลงไปแสดงบนเซิร์ชเอนจินของกูเกิลเอง โดยพบเนื้อเพลงที่ถูกขโมยว่า 100 เพลง ด้วยรหัสมอสที่ซ่อนไว้ในเครื่องหมายอะโพสโทรฟี

ในปัจจุบัน หากพิมพ์ชื่อเพลงลงในกูเกิลแล้วกดค้นหา นอกจากเว็บที่เกี่ยวข้องกับเพลงตามปกติแล้ว กูเกิลก็จะแสดงเนื้อเพลงให้ในกรอบสี่เหลี่ยมด้านบนสุดของผลการค้นหาด้วย อย่างไรก็ตาม เนื้อเพลงที่แสดงผลย่อมมีที่มา และจีเนียส (Genius) เว็บเนื้อเพลงของสหรัฐฯ ชี้ว่ากูเกิลลอกเนื้อเพลงของทางบริษัท โดยพบเนื้อเพลงของกูเกิลที่มาจากเว็บไซต์ของจีเนียสกว่า 100 เพลง

จีเนียส ระบุว่าได้แจ้งกูเกิลไปแล้วตั้งแต่ปี 2017 และแจ้งอีกครั้งในเดือนเมษายน 2019 ว่ามีข้อมูลถูกคัดลอกปรากฏบนเว็บไซต์ของกูเกิล โดยในจดหมายที่จีเนียสแจ้งเตือนไปในเดือนเมษายนนั้น กล่าวเดือนว่าการคัดลอกหรือใช้ซ้ำข้อมูลของจีเนียสนั้น ละเมิดข้อตกลงการใช้งานของจีเนียส และกฎหมายต่อต้านการผูกขาด

"ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เราได้แสดงให้กูเกิลเห็นหลักฐานที่ไม่อาจปฏิเสธได้ครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าพวกเขาแสดงผลเนื้อเพลงที่ก็อปปี้จากจีเนียส" เบ็น กรอส ประธานบริหารกลยุทธ์องค์กรของจีเนียส กล่าวกับเว็บไซต์เดอะวอลสตรีทเจอร์นัล

จีเนียสระบุว่า ในช่วงปี 2016 ทางเว็บไซต์ได้ทำการปรับเปลี่ยนเนื้อเพลงบางเพลง โดยแก้เครื่องหมายอัญประกาศเดี่ยว หรืออะโพสโทรฟี ในเนื้อเพลงให้เป็นแพทเทิร์นตัวปกติสลับกับตัวเอียง ( 'และ' ) โดยเครื่องหมายอะโพสโทรฟีทั้งสองแบบ เมื่อนำมาแปลงเป็นเครื่องหมาย . และ - ซึ่งใช้ในรหัสมอร์สแล้ว จะถอดออกมาได้เป็นข้อความว่า "คาหนังคาเขา" (Red Handed)

  • คลิปจากเดอะวอลสตรีทเจอร์นัล แสดงรหัสที่ซ่อนไว้ในเนื้อเพลงของจีเนียส

การจับผิดด้วยการแทรกข้อมูลเฉพาะในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีตั้งแต่ก่อนยุคอินเทอร์เน็ตแล้ว เช่น เทคนิคเมืองกระดาษ (paper town) ของบริษัททำแผนที่สมัยก่อน ที่ระบุตำแหน่งเมืองที่ไม่มีอยู่จริงลงบนแผนที่ ทำให้ใครก็ตามที่ลอกแผนที่ของทางบริษัทก็จะมีเมืองที่ไม่มีอยู่จริงนี้ติดไปเป็นหลักฐานการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วย

ทางกูเกิลได้ออกแถลงการณ์ถึงเดอะวอลสตรีทเจอร์นัลระบุว่า เนื้อเพลงซึ่งกูเกิลแสดงนั้น มาจากพาร์ตเนอร์ของกูเกิล กูเกิลไม่ใช่ผู้ผลิตข้อมูลนี้ อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ถึงเว็บไซต์เดอะเวิร์จ (The Verge) ทางกูเกิลยืนยันว่าข้อมูลเนื้อเพลงที่แสดงผลในกูเกิลได้รับลิขสิทธิ์มาจากหลายแหล่ง และกำลังดำเนินการสอบสวนประเด็นนี้กับพาร์ตเนอร์ของกูเกิล และหากพบว่าพาร์ตเนอร์รายใดไม่ดำเนินงานตามแนวทางปฏิบัติที่ดี กูเกิลก็จะยุติสัญญากับพาร์ตเนอร์รายนั้น

ทางจีเนียสได้เริ่มตั้งข้อสงสัยถึงที่มาของเนื้อเพลงบนกูเกิลในปี 2016 ภายหลังนักวิศกรรมซอฟต์แวร์รายหนึ่งของจีเนียส พบจุดผิดปกติในเพลง Panda ของศิลปินแรป Desiigner ซึ่งฟังยาก ในขณะที่เว็บเนื้อเพลงหลายๆ เจ้า ลงเนื้อเพลงที่เต็มไปด้วยข้อผิดพลาดและเข้าใจได้ยาก ทางด้านจีเนียสมีเนื้อเพลงฉบับที่ถูกต้อง เนื่องจาก Desiigner เป็นผู้ส่งเนื้อเพลงให้จีเนียสเอง

"เราสังเกตเห็นว่าเนื้อเพลงของกูเกิลตรงกับเนื้อเพลงของเราทุกตัวอักษร" กรอส กล่าว

อย่างไรก็ตาม แดฟเน เคลเลอร์ อดีตทนายของกูเกิล อธิบายว่า จีเนียสก็ไม่ได้เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมด เพียงแต่ได้รับสิทธิเผยแพร่เท่านั้น ดังนั้นข้อกล่าวหาของจีเนียสจึงไม่มีน้ำหนักในทางกฎหมายนัก แต่ก็ระบุว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าทำไมทางจีเนียสไม่อยากให้เกิดเหตุแบบนี้ขึ้น

เดอะวอลสตรีทเจอร์นัล ชี้ว่าการแสดงผลเนื้อเพลงจากเว็บเนื้อเพลงผ่านทางเว็บค้นหาข้อมูลของกูเกิลเอง ทำให้ยอดคนเข้าเว็บไซต์เนื้อเพลงอย่างจีเนียสลดลง

ที่มา: The Wall Street Journal / The Verge / Engadget