ไม่พบผลการค้นหา
ความเหลื่อมล้ำเป็นงานของรัฐบาล และ “การปล่อยให้มหาเศรษฐีได้กำไรจากวิกฤต เป็นเรื่องที่ทั้งไร้สามัญสำนึกทั่วไป ไร้สามามัญสำนึกทางศีลธรรม และไร้สามัญสำนึกทางเศรษฐกิจ”
หากต้องเลือกระหว่างรักษาชีวิตคนตรงหน้าแต่แลกมากับผลกระทบใหญ่หลวงของอีกคน คุณจะเลือกสิ่งใด?

คำถามชวนกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นประจำในชีวิตปุถุชน เช่นเดียวกับเมื่อโลกต้องเผชิญวิกฤตโรคระบาดที่ไม่เพียงพรากชีวิตของคนจำนวนมาก แต่ยังริบเอาโอกาสของอีกหลายคนไปด้วย ผลกระทบของโควิด-19 แพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง ทว่ากลับไม่เท่าเทียม 

สมาพันธ์อิสระที่รวมตัวกันเพื่อบรรเทาทุกข์ของโลกอย่าง ‘ออกซ์แฟม’ เผยงานศึกษาในช่วงต้นปีที่ผ่านมาใต้ชื่อ “ไวรัสที่ไม่เท่าเทียม” (the inequality virus) เพื่อสะท้อนว่า ขณะที่เหล่ามหาเศรษฐีแดนมนุษย์สูญเงินจำนวนมากกว่าชีวิตคนจนผู้หนึ่งจะเข้าใจ พวกเขากลับถอนทุนและพลิกมาได้กำไรคืนภายในระยะเวลาเพียง 9 เดือน

ในทางตรงกันข้าม กว่าเหล่าชนแร้นแค้นจะกลับไปมีชีวิตยากจนในระดับก่อนวิกฤตโรคระบาดต้องใช้เวลาอย่างต่ำหนึ่งทศวรรษ​

มหาเศรษฐีแดนมนุษย์เหล่านี้มั่งคั่งร่ำรวยกันมากเพียงใด ตัวเลขเม็ดเงินในบัญชีหรือที่แปลงเป็นทรัพย์สินอื่นๆ อาจช่วยไขข้องใจได้

หากนับแค่เพียงผลต่างระหว่างสินทรัพย์ของผู้ที่ร่ำรวยที่สุด 10 อันดับแรกของโลกใบนี้ ในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 มาจนถึงปัจจุบัน เงินตรงนั้นสามารถป้องกันไม่ให้คนทั่วโลกไม่ตกไปอยู่ใต้เส้นความยากจนได้

เศรษฐี
  • มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (ซ้ายบน), อีลอน มัสก์ (ซ้ายล่าง), เจฟ เบซอส(ขวา)
“ประวัติศาสตร์จะจดจำวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ว่าคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 2 ล้านรายทั่วโลก
มันยังจะจดจำอีกด้วยว่า ประชากรอีกหลายร้อยล้านคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัวและตกไปอยู่ในความยากจน”

“ประวัติศาสตร์ยังจดจำด้วยว่านี้คือวิกฤตโรคระบาดครั้งแรกนับตั้งแต่มีการบันทึกมาที่ทำให้ระดับความเหลื่อมล้ำของแทบทุกประเทศในโลกนี้เพิ่มขึ้นอย่างพร้อมเพรียง”

สองประโยคว่าด้วยการจดจำทางประวัติศาสตร์คือสิ่งที่ออกมาจากปากของ ‘คริสตาลินา จอร์เจียวา’ ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

ก่อนหน้านี้ในช่วงที่การแพร่ระบาดยังระอุและทั่วโลกไม่เห็นความหวังจากวัคซีน ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ เคยออกมาเตือนเรื่องภาวะหนี้ทั่วโลกที่จะเพิ่มสูงขึ้น แต่จะสร้างความยากลำบากอย่างสาหัสกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจด้อย/กำลังพัฒนา 

กลับมาครั้งนี้ งานศึกษาครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำชัดว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลทั่วโลกจะปิดตาข้างเดียวและกินผลประโยชน์อย่างที่เคยเป็นมา 


‘เจฟ เบซอส’ vs ‘ฟาริดาแห่งบังกลาเทศ’

นับตั้งแต่การระบาดเริ่มต้นวลียอดฮิตอย่าง “คนรวยมีแต่รวยขึ้น ส่วนคนจนก็จนลง” ยิ่งเป็นความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ 

ระหว่างวันที่ 18 มี.ค. - 31 ธ.ค.2563 มหาเศรษฐีระดับโลกมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นราว 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 122.4 ล้านล้านบาท ขณะที่ความมั่งคั่งรวมของพวกเขาขยับขึ้นมาเป็น 11.95 ล้านล้านดอลาร์สหรัฐฯ​ หรือประมาณ 375 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขในระดับเดียวกับที่ประเทศกลุ่ม จี20 ใช้ในวิกฤตครั้งนี้ 

คิดเล่นๆ ว่า ‘เจฟ เบซอส’ สามารถจ่ายโบนัสให้พนักงานแอมะซอนทั้ง 876,000 ราย คนละ 105,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3.3 ล้านบาท) ในเดือน ก.ย.2563 แล้วยังคงมีความร่ำรวยเท่ากับระดับที่เขาเคยมีก่อนเกิดวิกฤตโรคระบาด

บนดาวเคราะห์โลกดวงเดียวกัน ‘ฟาริดา’ ชาวบังกลาเทศผู้ประกอบอาชีพในโรงงานสิ่งทอแห่งหนึ่งของประเทศต้องตกงานในเดือน เม.ย.2563 ในขณะที่เธอกำลังตั้งครรภ์ได้ 8 เดือน นั่นหมายความว่า เธอสูญเสียทั้งเงินเดือนและผลประโยชน์ตามกฎหมายจากการคลอดบุตรไปทั้งหมด 

“ทั้งท้องอยู่, กลัวไวรัส, ตกงาน, ไม่มีสวัสดิการคลอดบุตรรองรับ ... บางครั้งฉันรู้สึกเหมือนจะเป็นบ้า”

ช่วงตอนหนึ่งของงานศึกษาจากออกซ์แฟมระบุว่า “การปล่อยให้มหาเศรษฐีได้กำไรจากวิกฤตท่ามกลางชีวิตคนอื่นที่ตกทุกข์ได้ยาก เป็นเรื่องที่ทั้งไร้สามัญสำนึกทั่วไป ไร้สามามัญสำนึกทางศีลธรรม และไร้สามัญสำนึกทางเศรษฐกิจ

แม้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบสุทธิจากวิกฤตครั้งนี้ แต่นักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 295 คน ที่ตอบแบบสอบถามของงานศึกษาครั้งนี้ จากทั้ง 79 ประเทศทั่วโลก ลงความเห็นสอดคล้องว่าระดับความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างยิ่งยวด ในจำนวนนี้ เกินครึ่งระบุว่า ความไม่เท่าเทียมทางเพศจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน 


‘รัฐบาล’ จะถูกจดจำ 

ไม่ต้องกล่าวให้มากความอีกต่อไปว่าประชากรโลกต้องการสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ เท่าเทียมและเห็นคุณค่า เศรษฐกิจที่ห่วงใยคุณภาพชีวิตคน และความมั่นคงทางรายได้ ริษยาอาจเป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้แต่ไม่มีใครดูแคลนหรือเคลือบแคลงใจคนรวยที่ทำถูกกฎหมาย ทว่าหลายครั้งหลายหน คนเหล่านี้กลับได้สิทธิประโยชน์มากเกินผู้อื่นและเสียผลประโยชน์น้อยกว่าผู้ใด 

การเก็บอัตราภาษีก้าวหน้ากับเหล่าผู้มั่งคั่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกต้องเอาจริงเอาจังมากกว่านี้ กรณีศึกษารัฐบาลที่ประสบความสำเร็จในการเก็บภาษีคนรวยเพื่อช่วยสังคมส่วนรวมเห็นได้กับประเทศอาร์เจนตินา ที่ใช้ช่วงเวลาวิกฤตบังคับใช้ภาษีความมั่งคั่งชั่วคราว จนสามารถสร้างรายได้ราว 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 94,000 ล้านบาท เพื่อนำไปจัดสรรทั้งทางการแพทย์และการบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ได้รับผลกระทบ 

หากย้อนกลับไปดูข้อมูลการเก็บภาษีของ 100 ประเทศทั่วโลก ระหว่างปี 2007 - 2017 พบว่าเฉลี่ยแล้วระดับภาษีเงินได้นิติบุคคล (corporate income tax) ลดลงถึง 10% ขณะที่ระดับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากลับเพิ่มขึ้นกว่า 13% เช่นเดียวกับภาษีสินค้าและบริการที่ปรับตัวขึ้นถึง 10% ขณะที่ภาษีความมั่งคั่ง (wealth taxes) ลดลง 1% 

ให้เห็นภาพชัดชึ้นไปอีก งานศึกษาระหว่างปี 2009 - 2018 พบว่า เหล่าผู้ถือหุ้นของ 40 บริษัทชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์ฝรั่งเศสมีรายได้เพิ่มขึ้น 70% ขณะที่ซีอีโอของบริษัทเหล่านี้มีเงินเดือนเพิ่มขึ้น 60% ทว่าเงินเดือนของพนักงานในบริษัทเหล่านี้กลับขยับเพียงบ 20% เท่านั้น 

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม  WE FAIR พลังประชารัฐ ประวิตร ทวงสัญญาสวัสดิการ_2ก10324_2.jpg

ข้อเท็จจริงที่ปรากฎทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลของแต่ละประเทศทั้งสิ้น ยิ่งเมื่อพิจารณาว่า งานศึกษาสภาพความเหลื่อมล้ำหลังวิกฤตการเงินโลกปี 2008-2009 พบว่า หลังจากเกิดความยากลำบากดังกล่าว รัฐบาลหลายประเทศเลือกใช้นโยบายรัดเข็มขัดทางการคลังกับคนจนของประเทศ และใช้นโยบายลดภาษีให้กับคนรวย

  • รัดเข็มขัดทางการคลังกับคนจน แปรรูปออกมาเป็น การลดเงินเดือนพนักงานของรัฐ ลดสวัสดิการจำเป็นต่างๆ ลง เพราะมองว่าเป็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็น 

หากผสานข้อมูลระดับอัตราภาษีเงินได้ส่วนบุคคลและภาษีสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นกับสวัสดิการของคนทั่วไปที่ลดลง เทียบกับระดับภาษีที่จัดเก็บกับคนรวยที่ลดลง ย่อมตอบคำถามได้อย่างชัดเจนว่าเหตุใดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะมิติด้านรายได้ถึงเพิ่มขึ้น และไขข้อสงสัยได้อย่างชัดแจ้งว่าใครอยู่เบื้องหลังสิ่งนี้ 

ถามว่าขึ้นภาษีคนรวยจะช่วยประเทศได้แค่ไหน ออกซ์แฟมลองคำนวณโดยใช้กรณีศึกษาจากประเทศโมรอคโคและพบว่า หากรัฐบาลเลือกขึ้นภาษีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเพียง 2% จะสร้างรายได้ถึง 6,170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 193,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2010 - 2019 ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวสามารถครอบคลุมประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานให้ประชากรได้สูงถึง 7.5 ล้านคน หรือคิดเป็นสองเท่าของตัวเลขประชากรโมรอคโคที่มีประกันสุขภาพในปัจจุบัน 

เพื่อสรุปภาพรวมให้เห็นโดยง่าย หากสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำยังไม่เปลี่ยนแปลงจากเทรนด์ปัจจุบัน ภายในปี 2030 ประชากรเกือบ 2,800 ล้านคน ต้องมีชีวิตอยู่ด้วยเงินยังชีพราว 5.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ/วัน หรือประมาณ 172 บาท 

หากสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำเลวร้ายลงเพียงสองจุดเปอร์เซ็นต์ ณ ปี 2030 ตัวเลขผู้อยู่ใต้เส้นความยากจนจะพุ่งไปเกือบ 3,400 ล้านคน แต่ถ้าความเหลื่อมล้ำดีขึ้นสองจุดเปอร์เซ็นต์ ตัวเลขดังกล่าวจะกลายเป็น 2,400 ล้านคน 

คำพูดของ ‘อังตอนียู กูแตรึช’ เลขาธิการสหประชาชาติ คนที่ 9 อาจช่วยสรุปสถานการณ์โลกปัจจุบันได้อย่างดียิ่ง เมื่อเขาพูดว่า “ขณะที่เราทุกคนล้วนลอยอยู่ในท้องทะเลเดียวกัน มันชัดเจนว่าบางคนอยู่บนเรือยอชท์หรู ขณะที่คนอื่นๆ เกาะอยู่กับเศษซากที่หลงเหลือ”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;