ไม่พบผลการค้นหา
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จ่อฟ้องกลับเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง หลังใช้ข้อมูลเท็จกล่าวหาองค์กร กรณีมีมติแบน 3 สารพิษ ยืนยันมีคนกระทบต่อสุขภาพจริง

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง กรณี น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ระบุว่าจะฟ้องศาลปกครองให้มีการคุ้มครองชั่วคราวมติยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตรายในภาคเกษตร และยื่นถอดถอนมติที่เป็นต้นเหตุให้มีการยกเลิกสารเหล่านี้ เพราะใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จ และจะฟ้องรมว.สาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการที่เสนอข้อมูลนี้ รวมถึงเอ็นจีโอที่มีการนำเสนอข้อมูลเท็จ ว่า เป็นเรื่องตลกที่กล่าวหาว่าข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขเป็นเท็จนั้น จะเป็นเท็จได้อย่างไร ข้อมูลการป่วย การเสียชีวิตนั้นพูดกันมาหลายครั้งแล้วว่าจะมีการลงรหัสโรคเฉพาะ ซึ่งที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีเหล่านี้จะเป็นรหัส T60 T60.1-60.9 ซึ่งเป็นหลักฐานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จะนำมาใช้เพื่อการพิจารณาจ่ายค่ารักษาให้ รพ.

ศ.นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า ข้อมูลนี้จะแก้ไขหรือตกแต่งไม่ได้ เพราะเกี่ยวข้องกับระบบการเงินการคลังของประเทศ ขณะที่ สปสช.เองก็ต้องถูกตรวจสอบการใช้งบฯ จากหน่วยงานตรวจสอบการใช้งบฯ แผ่นดินด้วย

ดังนั้นเวลาแพทย์วินิจฉัยเสร็จ ลงรหัสโรคส่งถึง สปสช.แล้ว สปสช.จะลงมาตรวจสอบซ้ำก่อนพิจารณาจ่ายเงิน เป็นมาตรฐานปฏิบัติของแพทย์มาตั้งนานแล้ว ถามว่าแพทย์จะเอาข้อมูลเท็จตรงนี้มาเพื่ออะไร เราชี้แจงหลายรอบแล้ว ข้อมูลที่กระทรวงสาธารณก็เป็นข้อมูลมาตรฐาน 

เตรียมฟ้องกลับ

ศ.นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องการกล่าวหาว่ากระทรวงใช้มูลเท็จ ได้คุยกับคนในกระทรวงเมื่อเช้าวันที่ 23 ต.ค. ทราบว่ากำลังดูข้อกฎหมายว่าจะดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายได้หรือไม่ เพราะถือเป็นการกล่าวหากระทรวงสาธารณสุข ถูกดูหมิ่น ดูแคลน ซึ่งอาจจะไม่ได้มีผลกระทบกับความน่าเชื่อถือเรื่องระบบการแพทย์ของไทยต่อสายตาคนอื่น หรือต่อสายตาของต่างประเทศ แต่เป็นการทำให้เกิดความแตกแยกให้ประชาชน คนป่วยให้เคลือบแคลงว่ากระทรวงสาธารณสุขมั่วหรือไม่

ส่วนกรณีที่ระบุว่าจะฟ้องศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราวนั้น เรียนว่ากระทรวงสาธารณสุขยืนยันเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพมานานตั้งแต่ปี 2560 และยืนยันมติซ้ำตลอด ซึ่งมีผลทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจว่ามีผลกระทบอย่างที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานหรือไม่ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินก็พบว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพจริง จึงนำมาสู่คำวินิจฉัยว่าให้มีการยกเลิกการใช้ เมื่อปลายปี 2561 และให้ดำเนินการให้สิ้นสุดภายในปลายปี 2562 ก็ตรงกับมติของกระทรวงสาธารณสุขที่บอกว่าให้ยกเลิกการใช้ภายในปี 2562 

ดังนั้นเป็นการให้เวลานานถึง 2 ปีเต็ม การจะมาอ้างว่าให้เวลาน้อยก็ไม่จริง ทั้งๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขยืนยันมตินี้มาตลอด และให้ข้อมูลมาเต็มที่แล้วตลอด 2 ปี ที่ผ่านมา ดังนั้นทราบว่ามีนักกฎหมายให้ข้อมูลประเด็นนี้แล้วว่า อะไรก็ตามที่เป็นมติเพื่อปกป้องประชาชนโดยรวม ศาลปกครองไม่มีทางที่จะทำอย่างนั้นได้ ดังนั้นนี่คือมติที่ปกป้องชีวิตและความปลอดภัยในชีวิตประชาชนโดยรวม อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้กลัวการถูกฟ้องร้อง แต่เข้าใจว่านี่เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้คนทำงานเรื่องนี้พะว้าพะวง เสียเวลาและหยุดเผยแพร่ความจริงอะไรหรือไม่ ซึ่งถ้าบอกจะฟ้องเรียงตัวก็คงต้องฟ้องหมอทั้งประเทศ ฟ้องคนในกระทรวงสาธารณสุขจำนวนมากเพราะเราทำงานกันเป็นทีม