ตลาดข้าวอินทรีย์เป็นตลาดพรีเมียม ราคาสูง และเรียกร้องคุณภาพสูง การทำข้าวอินทรีย์ดูดีต่อโลก ต่อคนปลูก ต่อสิ่งแวดล้อม แต่กว่าที่ชาวนาสักคนจะปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตจากการปลูกข้าวใช้ปุ๋ยใช้ยา มาสู่ระบบข้าวอินทรีย์ ต้องมีแรงกายแรงใจ และความมุ่งมั่นที่จะปรับเปลี่ยนสูงมาก รวมถึงต้องมีเพื่อนมีเครือข่าย และมีกลยุทธ์การตลาด เพื่อให้ข้าวที่ปลูกด้วยน้ำพักน้ำแรงนั้นมีแหล่งรับซื้อที่ชัดเจน แน่นอน ในราคาที่เหมาะสม
'ส้มปอย จันทร์แสง' ผู้อำนวยการเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ จ.สุรินทร์ หรือ OASIS เล่าว่า ถ้าเทียบตอนนี้กับเมื่อ 20 ปีก่อน เวลาที่บอกใครๆ ว่าปลูกข้าวอินทรีย์ ทำอินทรีย์ ก็จะมีแต่คนมองว่า เป็น 'ผีบ้า' ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร แล้วยิ่งทำข้าวในระบบตลาดแบบที่ทำกันทุกวันนี้ด้วยแล้ว ก็แทบไม่มีใครเชื่อว่า จะมีองค์กรของเกษตรกรที่ทำตลาดข้าวแบบนี้ได้
"20 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้วว่า นี่คือเทรนด์ของโลก ตลาดโลกไปทางนี้ และการที่เราทำตรงนี้ เพราะเราเชื่อว่า การผลิตแบบอินทรีย์ดีต่อตัวผู้ปลูก ผู้ทาน แต่ที่เราต้องดูแลด้วยคือ เศรษฐกิจของเกษตรกรคนปลูกก็ต้องอยู่ได้"
ดังนั้น งานของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ จ.สุรินทร์ ที่ปัจจุบันมีสมาชิกเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ราว 500 ราย พื้นที่การปลูกรวม 10,000 ไร่ เป้าหมายการผลิตข้าวต่อปี 3,000 ตัน จึงคือ การส่งเสริมการทำอินทรีย์ ควบคู่ไปกับการทำเรื่องการตลาด
"ผู้ซื้อข้าวของเราปัจจุบันเป็นผู้ซื้อต่างประเทศ ร้อยละ 80 เป็นผู้ซื้อจากสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนประเทศอื่นๆ ก็มี เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง" ผอ.เครือข่ายฯ บอกเล่า
สำหรับคนภายนอก อาจมองว่า การปลูกข้าวอินทรีย์เป็นเรื่องดีต่อใจ ดีต่อโลก เป็นการทำดีต่อสังคม แต่ 'ส้มปอย' บอกว่า ตลาดข้าวอินทรีย์ในประเทศไทยยังเล็กมาก และน่าจะมีขนาดในตลาดไม่ถึงร้อยละ 1 ของมูลค่าตลาดข้าวทั้งระบบที่มีมูลค่าหลายพันหลายหมื่นล้านบาท
ดังนั้น การทำมาตรฐานข้าวให้ติดมาตรฐานสากลจึงเป็นเรื่องจำเป็น และเครือข่ายฯ จึงทำงานร่วมกับเทรดเดอร์ (หรือผู้ส่งออกข้าว) ที่เข้าใจกระบวนการทำอินทรีย์ ไปพร้อมๆ กับการทำงานร่วมกับลูกค้าที่เข้าใจ ซึ่งเป็นลูกค้าต่างชาติ ที่ทุกปีจะมาสุรินทร์เพื่อพบเกษตรกรผู้ปลูกและประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดปริมาณการเพาะปลูก การสั่งซื้อ และการปรับปรุงบำรุงข้าว
"เรื่องตลาดเป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าทำแล้ว ชาวนาไม่มีที่ขาย หรือ เอาไปขายในตลาดทั่วไป มันก็ไม่ต่างกัน มันก็ไม่ได้อะไร ดังนั้นเราจึงต้องทำตลาดกับผู้ซื้อต่างประเทศ ทำมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบัน ข้าวที่ผลิตในเครือข่ายสมาชิกได้รับการรับรองมาตรฐานระดับนานาชาติ เช่น มาตรฐานผลผลิตเกษตรอินทรีย์อียู, มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไบโอสวิส (BIO SUISSE), มาตรฐานข้าวอินทรีย์แคนาดา (COR: Canada Organic Regime), มาตรฐานข้าวเกษตรอินทรีย์นาโทแลนด์ (NaturLand) เป็นต้น"
ด้วยทิศทางของโลกที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสุขภาพ คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ปลูกผู้ผลิต ความปลอดภัยของอาหาร สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็น 'พลวัตทางสังคม' ที่แวดล้อมและหนุนเสริม ให้การทำข้าวอินทรีย์มีเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ภาคอีสาน
"ในบ้านเราตอนนี้ คนทำอินทรีย์และทำการตลาดเอง ทำการตลาดกับต่างประเทศเอง มีเยอะขึ้นมาก แต่เราก็ยังต้องการการพัฒนาที่ถูกทิศถูกทาง
"เพราะการผลิตอินทรีย์ ถ้าเทียบในตลาดข้าวทั้งประเทศ มันติ๊ดเดียว ถ้าเอาผลประโยชน์มาพิจารณาเป็นประเด็นแรก มันก็ไม่ได้ยั่วยวนใจ หรือ เป็นแรงจูงใจพอที่จะทำให้นักธุรกิจข้าวรายใหญ่ระดับหลายพันหลายหมื่นล้านบาท มาสนใจหรอก ถ้าความคิดอุดมการณ์ทางสังคมไม่แข็งแรงพอ หรือ แข็งแรงพอ แบบสงเคราะห์หรือแบบพัฒนาร่วมกัน อันนี้ก็ต้องดูต่อด้วย" ส้มปอย กล่าว
ไม่คิดเปลี่ยนตลาดข้าวไทยเป็นอินทรีย์ทั้งหมด แต่อยากให้เติบโตขึ้นทุกปี
ดังนั้น ในยุคที่บริษัทใหญ่ๆ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สนใจสนับสนุนตั้งแต่กระบวนการผลิตไปถึงรับซื้อข้าวอินทรีย์เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน แต่สิ่งที่ 'ส้มปอย' อยากเห็นคือ การร่วมพัฒนาไปถูกทิศถูกทาง รวมถึงนโยบายภาครัฐที่ผ่านมาก็พูดเรื่องส่งเสริมการปลูกอินทรีย์มากันมาก แต่กลับเป็นเพียงการสนับสนุนปัจจัยการผลิตและโอกาสทางการตลาด แต่ไม่ได้ไกลถึงการสร้างโอกาสทางการตลาดที่ยั่งยืน ซึ่งยังเป็นเรื่องต้องพัฒนาต่อ
อีกด้านหนึ่ง เธอยอมรับว่า ถ้าคิดฝันจะเปลี่ยนตลาดข้าวไทยเป็นตลาดอินทรีย์ทั้งหมด ก็ดูจะเป็นการฝืนความเป็นจริง แต่สิ่งที่ต้องคิดกันคือ การมีกลไกมียุทธศาสตร์ที่จะทำให้การปลูกข้าวอินทรีย์มีการเติบโตขึ้นทุกปี พร้อมกับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ซึ่งปัจจุบันในระดับประเทศ ก็มีคณะกรรมการข้าวอินทรีย์ระดับชาติอยู่แล้ว แต่คณะกรรมการนั้นก็ยังไม่ได้มาเชื่อมกับองค์กรเล็กองค์กรน้อยที่ขับเคลื่อนของวิถีเกษตรอินทรีย์ตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศได้อย่างครอบคลุม
"ที่ผ่านมา ในระดับนโยบายชาติ ก็มีคนเห็นมีคนอยากทำเพราะเห็นว่ามันดีที่ได้พูดถึง แต่ยังไม่มีคนที่มีความเชื่อในระดับนโยบายอย่างแท้จริง ยิ่งเวลาคนคุมนโยบายเปลี่ยนแปลง มันก็เปลี่ยนไปตามคนที่เปลี่ยนไป แล้วกลไกก็ยังไม่สานพลังความร่วมมือได้ชัดเจน ทั้งที่มันมีกลไก เราก็เห็น แต่เราก็ว่ามันยังจับต้องไม่ได้"
'ส้มปอย' ย้ำว่า ด้วยกระแสธุรกิจโลกปัจจุบันที่มือใครยาวสาวได้ยาวเอา มันมาถึงทางตันแล้ว สิ่งที่จะสังเกตได้ในช่วงปีหลังๆ มานี้ คือ บริษัทใหญ่ๆ จะออกแคมเปญ หรือ ทำโฆษณาในประเด็นที่เชื่อมโยงกับสังคมได้ให้มากที่สุด ดังนั้นในแง่การเมือง ถ้าพรรคการเมืองใดที่สนใจเรื่องนี้ก็ควรมีกลไกที่ดูเรื่องเกษตรอินทรีย์เฉพาะ ไม่ใช่ดูรวมกับเกษตรทั้งหมด เพราะการมีกลไกเรื่องนี้ชัดเจน มันจะสะท้อนถึงการตระหนักต่อสถานการณ์โลกได้ชัดขึ้น เพราะการทำอินทรีย์อย่างมีกลยุทธ์ มีกลไก มีระบบ มันจะหมายถึงการพัฒนาเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรรายย่อย การดูแลสิ่งแวดล้อม และการทำตลาดที่ยั่งยืน
เชื่อในวิถีนี้ เพราะนี่คือความยั่งยืน
'สนั่น บรรลือทรัพย์' เกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ อ.เขลาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ เล่าว่า พื้นที่ใน ต.ตากูก อ.เขลาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ที่เขาอยู่ คนส่วนใหญ่ทำนาและกว่าร้อยละ 80 ทำข้าวอินทรีย์ ส่วนตัวเขาทำนาอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 2556 ในยุคที่ข้าวสารกิโลกรัมละ 20 บาท (ตันละ 2 หมื่นบาท) เขาสามารถขายข้าวได้กิโลกรัมละ 24 บาท (ตันละ 24,000 บาท) เพราะข้าวของเขาสวย มีเปอร์เซ็นต์ต้นข้าวสูงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ แต่มายุคนี้ที่ข้าวเหลือราคากิโลกรัมละ 15-16 บาท ราคาข้าวที่ขายให้เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนนวัตกรรมการเกษตรอินทรีย์ หรือ OASIS แม้ไม่ถึงกิโลกรัมละ 20 บาทแล้ว แต่ก็สูงกว่าข้าวที่ขายให้กับโรงสีทั่วไป เพราะที่เครือข่ายฯ มีเกณฑ์มาตรการในการตรวจวัดคุณภาพข้าวและให้ราคาตามเปอร์เซ็นต์ต้นข้าว ไม่ใช่การตัดราคารับซื้อเกษตรตามปริมาณข้าวที่มี
"ผมมีความเชื่อและศรัทธาในข้าวอินทรีย์ และเห็นว่ามันยั่งยืนกว่า คือ ถ้าในยุคที่ข้าวสารแบบทั่วไปราคาสูงๆ เอาราคามาแข่งกัน ซึ่งผมก็ผ่านมาแล้ว แต่ผมว่า มันก็ไม่เท่าไร และมันไม่ยั่งยืน ไม่ยาว ส่วนทางนี้ (ทางอินทรีย์) ถึงราคาจะลงยังไง มันก็ยังอยู่ในระดับมาตรฐาน เพราะเขามีเกณฑ์มาตรฐานของเขา เขาทำงานร่วมกับเรา ร่วมกันพัฒนาไปด้วยกัน
"อย่างโรงสีทั่วไป เราขายข้าวตามเขากำหนด เช่น กิโลกรัมละ 16 บาท พอเกรดไม่ถึง ข้าวต้นไม่ถึง 42 เปอร์เซ็นต์ปุ๊บ เขาไม่ได้บอกเรานะ ว่าข้าวต้น 43 เปอร์เซ็นต์ จะให้ราคาโน่น ถ้า 40 เปอร์เซ็นต์จะให้ราคานี้ เขาไม่ให้ เขาจะมองว่าข้าวคุณเสีย ถึงจะตั้งราคากิโลกกรัมละ 15-16 บาท แต่เขาก็จะให้คุณแค่ 13 บาทเท่านั้น แล้วเราชาวนา ขนข้าวไปถึงหน้าโรงสีแล้ว ยังไงก็ต้องขาย แต่ตรงอินทรีย์เขามีมาตรฐาน เขามีสูตรให้ดูว่าเปอร์เซ็นต์ต้นข้าว ขึ้นไป บวก 10 สตางค์ ลงมา หัก 10 สตางค์ การหักก็ไม่ได้หักเป็นกิโลฯ แต่หักที่เปอร์เซ็นต์ต้นข้าว ถ้าเป็นโรงสีจะหักเป็นกิโลฯ ผมเคยเจอมา" สนั่น เล่า
ดังนั้น ในยุคที่ภาครัฐมีเป้าหมายสนับสนุนส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์ รวมถึงมียุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 พร้อมกับมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต่อปี
การมีตัวอย่างของคนที่ทำข้าวอินทรีย์มานานกว่า 20 ปี จึงเป็น 'การเรียนรู้' จากคนทำจริง ผ่านประสบการณ์จริง และอย่างที่ 'ผอ.เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนนวัตกรรมการเกษตรอินทรีย์ จ.สุรินทร์' ย้ำว่า การทำเรื่องนี้ต้องมีกลไล ต้องสานพลัง ต้องจริงจัง และที่สำคัญต้องเชื่อมั่นในเรื่องความยั่งยืน เพราะถึงมีเป้าหมายทำนาอินทรีย์ทั่วประเทศให้ได้ 1 ล้านไร่ จากปัจจุบันตามข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จะมีพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ยังไม่ถึง 2 แสนไร่ก็ตาม
แต่ถ้ามีความเชื่อและมีความมุ่งมั่น ทำอย่างเป็นระบบ มีกลไก ปลายทางอาจไม่ได้อยู่ที่จำนวนพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ที่เพิ่มขึ้นระดับล้านไร่ แต่คือการทำเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี คนกินข้าวได้ประโยชน์จากข้าวคุณภาพ และสิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลาย
นั่นอาจเป็นปลายทางที่คนทำเกษตรอินทรีย์ต้องการมากกว่า
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :