ไม่พบผลการค้นหา
"ผลงานวิจัยนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ยิ่งใหญ่ เพราะเราอยู่กับความล้มเหลวแบบ 100% มายาวนานมาก"

​นักวิจัยประสบความสำเร็จไปอีกขั้นในการค้นคว้าวิจัยตัวยาที่มีประสิทธิภาพสามารถชะลออาการเสื่อมของเซลล์สมองในผู้ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ถือเป็นความก้าวหน้าแรกในรอบหลายทศวรรษหลังเผชิญกับความล้มเหลวมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การวิจัยตัวยาที่ชื่อ "เลเคนแมบ" (Lecanemab) กลายเป็นความหวังใหม่ทางการแพทย์ระดับโลก

ยา "เลเคนแมบ" จะกลายมาเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยชะลออาการของผู้ป่วยได้ อย่างไรก็ตามสำนักข่าว BBC รายงานว่าขณะนี้ตัวยาจะมีประสิทธิภาพเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่เพิ่งจะเริ่มมีอาการของโรคเท่านั้น 

ฉะนั้นผู้คนหมู่มากที่กว่าจะรู้ตัวก็เข้าสู่อาการของโรคอัลไซเมอร์ในระยะลึกไปแล้ว จะไม่สามารถใช้ยานี้เพื่อชะลอการทำลายเซลล์สมองได้ จึงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่ายาเลเคนแมบจะสามารถช่วยเหลือผู้คนในการใช้ชีวิตร่วมกับโรคได้มากน้อยเพียงใด

ที่ผ่านมาทางทีมวิจัยได้มีการทดลองใช้ยาเลเคนแมบกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่เข้าร่วมโครงการวิจัยจำนวน 1,795 คน โดยคนกลุ่มนี้ได้รับยาทุกๆ 2 สัปดาห์ ติดต่อกันเป็นเวลา 18 เดือน ซึ่งผลที่พบเบื้องต้นคือสามารถชะลออาการอัลไซเมอร์ได้ราว 25% แต่สำหรับความสามารถของยาที่จะกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วยนั้นยังต้องถกเถียงกันต่อไป 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัย Alzheimer's Research UK จากอังกฤษได้กล่าวยกย่องผลสำเร็จในครั้งนี้ว่า "เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มาก" ขณะที่ ศ.จอห์น ฮาร์ดี ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแนวคิดทั้งหมดในการจัดการกับแอมีลอยด์ตลอด 30 ปีที่ผ่านมากล่าวว่านี่คือ "ความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์" พร้อมชี้ด้วยว่า "เรากำลังได้เห็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนของการบำบัดโรคอัลไซเมอร์ที่แท้จริง" 

ด้าน ศ.ทารา สไปร์ส-โจนส์ จากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระกล่าวว่าผลงานวิจัยนี้ "เป็นสิ่งสำคัญที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะเราอยู่กับความล้มเหลวแบบ 100% มายาวนานมาก"