กอร์บาชอฟขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี 2528 ก่อนที่เขาจะใช้นโยบายการเปิดสหภาพโซเวียตออกสู่ประชาคมโลก และนำเสนอนโยบายการปฏิรูปภายในประเทศ อย่างไรก็ดี ความพยายามในการปรับเปลี่ยนของกอร์บาชอฟกลับสายเกินไป เนื่องจากระบอบของสหภาพโซเวียตได้ล่มสลายลงในท้ายที่สุด นำมาสู่การเกิดขึ้นของรัสเซียสมัยใหม่ ก่อนยุคการขึ้นมามีอำนาจของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียคนปัจจุบัน
ผู้นำทั่วโลกต่างออกมาไว้อาลัยต่อการสูญเสียในครั้งนี้ โดย อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ออกมากล่าวถึงการเสียชีวิตของกอร์บาชอฟว่าเป็น “จุดเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์” พร้อมยกย่องว่า “มิคาอิล กอร์บาชอฟ เป็นรัฐบุรุษที่หายากผู้หนึ่ง” และ “โลกได้สูญเสียผู้นำโลกที่เกรียงไกร ผู้วางใจในระบบพหุภาคี และผู้สนับสนุนสันติภาพอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย”
โรงพยาบาลที่ทำการรักษาสุขภาพของกอร์บาชอฟกล่าวว่า ด้วยวัย 91 ปี อดีตผู้นำสหภาพโซเวียตป่วยด้วยโรคที่รุนแรงมาอย่างยาวนาน โดยเมื่อไม่กี่ปีมานี้ สุขภาพของกอร์บาชอฟถดถอยลงไปมาก ก่อนที่เขาจะเดินทางเข้าและออกโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้ เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานว่ากอร์บาชอฟเข้ารับการรักษาโรคไต โดยในตอนนี้ยังไม่มีการแถลงถึงสาเหตุการเสียชีวิตของกอร์บาชอฟแต่อย่างใด
ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกสำนักประธานาธิบดีรัสเซีย ระบุต่อสำนักข่าวรัสเซียอย่าง Interfax ว่า ปูตินในฐานะประธานาธิบดีรัสเซีย ได้แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของกอร์บาชอฟ
อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ออกมายกย่องกอร์บาชอฟว่าเป็น “ผู้นำที่ได้รับการไว้วางใจและความนับถือ” ผู้ซึ่ง “เปิดทางเพื่อยุโรปที่เป็นเสรี” ทั้งนี้ ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ย้ำว่า “มรดกของเขาจะเป็นสิ่งหนึ่งที่เราไม่มีวันลืม” นอกจากนี้ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ยังได้กล่าวยกย่องความกล้าหาญและความซื่อสัตย์ของกอร์บาชอฟ พร้อมระบุว่า “ในเวลาที่การรุกรานของปูตินในยูเครน การผูกพันเพื่อการเปิดประตูโซเวียตสู่ประชาคมอย่างไม่มีวันเหนื่อยล้า ยังคงเป็นตัวอย่างให้กับพวกเราทุกคน”
กอร์บาชอฟกลายมาเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต และผู้นำโดยพฤตินัยของประเทศตัั้งแต่อายุ 54 ปี โดยตั้งแต่เวลานั้น เขาเป็นผู้นำที่มีอายุน้อยที่สุดในสภาบริหาร และกลายมาเป็นภาพแทนของคนรุ่นใหม่ หลังจากอดีตผู้นำสหภาพโซเวียตในแต่ละยุคที่มีอายุค่อนข้างมาก โดยกอร์บาชอฟขึ้นสู่อำนาจหลังจากที่ คอนสตันติน เชียร์เนนโค ในวัย 73 ปี เสียชีวิตลง ขณะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำได้แค่ปีเดียว
กอร์บาชอฟใช้นโยบายการเปิดกว้างอย่างกลาสโนสต์ เพื่อให้ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสหภาพโซเวียตได้ นับเป็นความก้าวหน้าที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในประเทศคอมมิวนิสต์ยักษ์ใหญ่ อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวของกอร์บาชอฟนำมาสู่การเฟื่องฟูของกลุ่มชาตินิยมในพื้นที่ต่างๆ ของโซเวียต กลายมาเป็นต้นเหตุสำคัญของการล่มสลายลงของสหภาพ
ในด้านกิจการระหว่างประเทศ กอร์บาชอฟยื่นมือมาผสานเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับทางสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ โรนัลด์ เรแกน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยุคปลายสงครามเย็น นอกจากนี้ กอร์บาชอฟยังปฏิเสธที่จะเข้าไปแทรกแซงกิจการของประเทศในยุโรปตะวันออก ที่ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์
กอร์บาชอฟถูกโลกตะวันตกมองว่าเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบการปฏิรูปสหภาพโซเวียต ผู้สร้างให้เกิดเงื่อนไขของการจบลงของสงครามเย็นในปี 2534 ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่ตึงเครียดที่สุด ของความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตกับชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร
ทั้งนี้ กอร์บาชอฟได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2533 “จากบทบาทนำที่เขามีในการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว ของความสัมพันธ์ระหว่างตะวันออกและตะวันตก” โดยนับตั้งแต่ชาติเกิดใหม่อย่างรัสเซียปรากฏขึ้นมาบนแผนที่โลกเมื่อปี 2534 กอร์บาชอฟปรับบทบาทของตนเองออกไปยังรอบนอกของพื้นที่ทางการเมือง และเน้นการทำงานของตนไปที่โครงการด้านการศึกษาและด้านมนุษยธรรม
กอร์บาชอฟพยายามกลับเข้าสู่การเมืองรัสเซียอีกครั้งในปี 2539 ด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซีย อย่างไรก็ดี เขาได้รับคะแนนเสียงเพียงแค่ 0.5% เท่านั้น ทั้งนี้ มรดกหลังการลงจากอำนาจของกอร์บาชอฟ นำมาสู่ความขัดแย้งกันในรัสเซียเอง เพราะมีบางฝ่ายมองว่านโยบายของกอร์บาชอฟเป็นที่มาของการล่มสลายลงของสหภาพโซเวียต ผู้ให้การสนับสนุนการรุกรานยูเครนของรัสเซียบางรายเรียกกอร์บาชอฟว่าเป็น “กบฏ”
จากรายงานระบุว่า ร่างของกอร์บาชอฟจะถูกฝังในสุสานโนโวเดวิชี สถานที่ฝังร่างผู้นำคนสำคัญของรัสเซียหลายคน โดยร่างของกอร์บาชอฟจะถูกฝังข้างๆ กันกับ ไรซา ภรรยาของเขาที่เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวไปก่อนหน้านี้เมื่อปี 2542
ที่มา: