ไม่พบผลการค้นหา
19 ก.ค.2565 วันแรกของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นับเป็นรัฐมนตรีที่ฮอตที่สุด เพราะมี ส.ส.อภิปรายหลายราย รวมแล้วใช้เวลากว่า 4 ชม. ในขณะที่รัฐมนตรีคนอื่นไม่เยอะและยาวนานเท่านี้ อย่างไรก็ดี ระว่างการอภิปราย มีการประท้วงอยู่เป็นระยะ ที่ยกมือบ่อยที่สุดเห็นจะเป็น ‘คารม พลพรกลาง’ ส.ส.ที่แนะนำตัวแปลกว่าส.ส.คนอื่นว่าเป็น “ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร้อยเอ็ด” โดยไม่มีชื่อพรรค

กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ + ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล + พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาติ คือ 3 คนหลักที่น่าสนใจทั้งประเด็นที่ดินเขากระโดง - โอนหุ้นให้นอมินี – เอางบถนนลงบุรีรัมย์เยอะพิเศษ  

‘เขากระโดง’ อยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์เป็นที่ดินของการรถไฟ สืบเนื่องมาตั้งแต่ปี ปี 2462-2464 ซึ่งมีการสร้างทางรถไฟจากนครราชสีมาผ่านบุรีรัมย์ ไปสุรินทร์ ,ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี แต่เนื่องจากต้องหาแหล่งหินเพื่อนำมาสร้างทางจึงทำการจัดซื้อที่ดินแถวนั้น

พื้นที่เขากระโดงที่การรถไฟอ้างถึงมีทั้งหมด 5,083 ไร่ ต่อมามีผู้บุกรุกไปอยู่อาศัยกันจำนวนมาก และทยอยถูกฟ้องเพิกถอนสิทธิ์ โดยคณะกรรมการกฤษฎีเคยชี้ว่าที่ดินเป็นของการรถไฟตั้งแต่ปี 2541 ป.ป.ช.ก็เคยวินิจฉัยเช่นนั้น กระทั่งอัยการสูงสุดก็มีคำสั่งฟ้องหลายกรณี แต่ปรากฏกว่ามีที่ดิน 2 แปลงคือ 3466 กับ 8546 ของ ‘ตระกูลชิดชอบ’ กลับไม่ถูกฟ้องเพิกถอน และถูกพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง นำมาอภิปรายเมื่อปลายปี 2564

กรณีที่ดินเขากระโดงของตระกูลชิดชอบที่เป็นมหากาพย์ยาวนาน ถูกเอามาเทียบกับกรณี ‘แม่ธนาธร’ ที่กรมที่ดินเพิกถอนกรรมสิทธิ์อย่างรวดเร็วใช้เวลาราว 2 ปี ประเด็นนี้ขยี้โดย มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.พรรคไทยศิวิไลซ์

#กมลศักดิ์ ส.ส.พรรคประชาชาติระบุว่า หลังการอภิปรายได้ติดตามว่ามีดำเนินการอย่างไรหรือไม่ พบว่า มีการซื้อเวลาต่อไปอีก โดยระบุว่า แม้กรมที่ดินเตรียมจะเพิกถอนสิทธิ แต่ก็ได้แจ้งการรถไฟว่า ต้องมีภาพระวางแผนที่ประกอบ การรถไฟส่งภาพให้ 2 ครั้ง แต่ปรากฏว่าไม่ครบถ้วน แถมของปี 2531 กับปี 2539 ก็ไม่ตรงกัน กรมที่ดินเลยช่วยหาทางออกว่าถ้าอย่างนั้นจะตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดเพื่อรังวัดที่ดินและอำนวยการเพื่อเตรียมยื่นเพิกถอนสิทธิ์ แต่การรถไฟต้องส่งตัวแทนร่วมด้วยเพื่อความสมบูรณ์ ปรากฏว่าการรถไฟไม่ส่งตัวแทน

กมลศักดิ์ตั้งคำถามว่า การส่งเอกสารไม่ครบ การไม่ส่งตัวแทนร่วมคณะทำงาน เป็นการถ่วงเวลาหรือไม่ นอกจากไม่ให้ความร่วมมือแล้ว การรถไฟยังกลับไปฟ้องกรมที่ดินที่ศาลปกครองเมื่อเดือน ธ.ค.2564 ทั้งที่การเรียกร้องสิทธิของที่ดินการรถไฟให้คืนมามีหลายแนวทางที่ทำให้หน่วยงานไม่ต้องทะเลาะกัน และใช้เวลารวดเร็วกว่า

ในการฟ้องศาลปกครอง การรถไฟฟ้องให้กรมที่ดินชดใช้เงิน 700 ล้าน เพราะอ้างว่า ถ้าการรถไฟเอาที่ดินนี้ไปพัฒนาให้เช่าจะมีรายได้ 3,000 ล้าน กมลศักดิ์กล่าวว่า ฟังแล้วยิ่งเจ็บใจเพราะปัจจุบันก็ยังไม่มีการเพิกถอนที่ดินรัฐมนตรี ขณะที่แปลงที่เป็นของประชาชนนั้นมีการฟ้องร้องและบางส่วนถึงที่สุดแล้วด้วย

กมลศักดิ์ขยายความว่า ที่ดินสองแปลงนั้นเป็นที่ตั้งของที่พักศักดิ์สยาม และยังเป็นที่บริษัทและหจก.อีกหลายแห่ง โดยเฉพาะบริษัท ศ.และ หจก. บ. ซึ่งบริจาคให้พรรคภูมิใจไทย 4.7 ล้านบาทและ 4 ล้านบาทตามลำดับ  นี่คือความเชื่อมโยงระหว่างรมต.กับพวกพ้อง นี่หรือเปล่าที่ไม่ดำเนินการ

 อย่างไรก็ดี กมลศักดิ์ยังขยายความอีกว่ากรณีที่ดินเขากระโดง ศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดแล้ว 3 คดี หนึ่งในนั้นเป็นที่ดินของนาย เอ คนสนิทของศักดิ์สยาม ซึ่งเป็นรายเดียวที่กระบวนการบังคับคดีไม่ขยับเขยื้อนตั้งแต่ปี 2561

กมลศักดิ์ขยายความว่า ‘นายเอ’ นั้นสนิทกับรัฐมนตรีมาก โดยได้รับโอนหุ้นทั้งหมดของ หจก. บ. ของศักดิ์สยามตั้งแต่ปี 2561 มูลค่า 119 ล้าน และตัวนายเอเอง ก็บริจาคให้พรรคภูมิใจไทย 2.7 ล้านบาท

และเมื่อดูงบดุลของบริษัท ศ. ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิที่ดินเขากระโดง โดยมีกรรมการผู้จัดการเป็นในตระกูลชิดชอบ จะพบว่า  บริษัท ศ.ได้ยืมเงินจาก ‘นาย เอ’ ตั้งแต่ปี 2560-2564 รวมแล้ว 250 ล้านบาทเศษ โดยไม่คิดดอกเบี้ย

“ถามว่า นายเอ รวยมาจากไหน ก่อนรัฐมนตรีศักดิ์สยามจะออกจาก หจก.บ. นายเอคนนี้มีหลักฐานเพียงว่าเป็นพนักงานของ บริษัท ศ. เงินเดือน 9,000 บาท มีบัตรประกันสังคม ผมไม่ทราบว่ามีร่ำรวยมาจากไหน”

#ปกรณ์วุฒิ ส.ส. พรรคก้าวไกล อภิปรายขยายความต่อว่าด้วยเรื่อง นายเอ- หจก.บุรีเจริญ-บริษัทศิลาชัย ซึ่งอยู่ในที่ดินเขากระโดงในอาณาจักรชิดชอบทั้งสิ้น โดนจั่วหัวอุ่นเครื่องก่อนว่า  ปี 2560 บริษัทศิลาชัย เอาเงินไปซื้อเครื่องบินส่วนบุคคล 12 ล้าน รุ่นเดียวกับที่นายอนุทินใช้ อ้างอิงเอกสารผู้สอบบัญชีบอกว่า ไม่รู้เครื่องบินอยู่ไหน และไม่มีเอกสารทางการรับรอง ปี 2561 บริษัทศิลาชัย กู้เงิน ‘นายเอ’ มา และเอาให้ศักดิ์สยามกู้ 88.5 ล้านระยะสั้นไม่คิดดอกเบี้ย

ปกรณ์วุฒิตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับการโอนหุ้น หจก.บุรีเจริญ มูลค่า 119 ล้านบาทเศษ ของศักดิ์สยามไปสู่ ‘นายเอ’ คนสนิทไว้ 3 แบบ

1.ให้เปล่า = ราคา 0 บาท หากเป็นเช่นนี้ต้องยื่นส่วนที่ต่ำกว่าทุน 120 ล้านสำแดงเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี แต่ฐานข้อมูลของสรรพากรของนายเอ พบแต่เงินเดือนจากบริษัทศิลาชัย หากการโอนครั้งนี้เป็นการให้ฟรี ก็ชัดเจนว่า นายเอ เป็นนอมินี เป็นเจ้าของทางเอกสารเท่านั้น

2.ขายเกินราคาทุน เช่น ขาย 130 ล้าน เกินทุนมา 10 ล้านเศษ รัฐมนตรีศักดิ์สยามก็ต้องยื่นส่วน 10 ล้านบาทเพื่อเสียภาษีบุคคล แต่จาการชี้แจงบัญชีทรัพย์สินกับ ป.ป.ช.ก็ไม่พบว่ายื่นรายได้ส่วนนี้ การสำแดงเท็จ-หลบเลี่ยงภาษี ไม่น่าเป็นไปได้

3. น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ ทำในราคาทุน 120 ล้านบาท ทำให้ผู้ซื้อ-ผู้ขายไม่ต้องเสียภาษีใดๆ  แต่ถามว่าราคานี้มันสมเหตุสมผลไหม หากดูงบการเงิน 2560 ของหจก.จะพบว่า มีสินทรัพย์ 205 ล้านบาท รายได้รวมเกือบ 600 ล้าน ห้างหุ้นส่วนนี้ได้งานของกระทรวงคมนาคมในยุค คสช. เกือบ 400 ล้าน การจ่ายเงินซื้อกิจการ 120 ล้าน ได้รธุรกิจขนาดนี้ ราคานี้ต้องบอกว่าระดับ ‘ซูเปอร์ดีล’

“ในปี 2562 ท่านยื่นทรัพย์สินในการเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. ว่ามีทรัพย์สินอยู่ที่ 115 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน มีเงินสดบวกเงินฝากอยู่ประมาณ 76 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่นๆ เกือบทั้งหมดระบุว่าได้มาก่อนปี 2561 แทบทั้งสิ้น คำถามคือ เงิน 120 ล้านบาทก้อนนี้หายไปไหนครับ” ปกรณ์วุฒิ ถาม

ปกรณ์วุฒิกล่าวอีกว่า นอกจากจะซุกหุ้นแล้ว ศักดิ์สยาม ยังนำ หจก. บุรีเจริญ มาเป็นคู่สัญญากับรัฐ รับงานในกระทรวงคมนาคมที่ตัวเองเป็นรัฐมนตรี เป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท โดยหลายงานก็มีความผิดปกติ คือ ราคาที่ชนะประมูลต่ำกว่าราคากลางเฉลี่ยไม่ถึง 0.3% และมีคู่เทียบเพียงรายเดียว ซึ่งเป็นบริษัทที่บริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทย 5 ล้านบาทในปี 2562

“แบบนี้เอาไปให้ใครดูเขาก็ว่าฮั้วครับ ชัดขนาดนี้ครับ เอาธุรกิจตัวเองเข้ามารับงานกระทรวงที่ตัวเองเป็นรัฐมนตรีก็ว่าผิดแล้ว ยังมีพฤติกรรมที่เป็นการฮั้วประมูลอย่างชัดเจน” ปกรณ์วุฒิ กล่าว

#พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จากพรรคเพื่อชาติ ขยายความว่าก่อนที่นายศักดิ์สยามจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี บริษัทก็มักจะได้รับสัมปทาน และงานของกระทรวงคมนาคม เมื่อมาดำรงตำแหน่ง​ รมว.คมนาคมปี 2562 -2565 พบว่า บริษัทของนายศักดิ์สยามได้งานประมูลต่อเนื่องเป็นมูลค่า 2,218.80 ล้านบาท และเชื่อว่ามีการฮั้วประมูล นอกจากนี้งบประมาณกระทรวงคมนาคมที่ทำโครงการใน จ.บุรีรัมย์​ก็สูงขึ้น​ โดยเฉพาะในปี 2566 ที่ตั้งงบประมาณสูงถึง 5,973 ล้านบาท

#พัฒนา สัพโส ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า นายศักดิ์สยามจัดงบกรมทางหลวงกับกรมทางหลวงชนบท งบปี 2566 เอื้อประโยชน์เฉพาะ จ.บุรีรัมย์รวม 5,406 ล้านบาท คิดเป็น 4-5% ของงบกระทรวงคมนาคม แบ่งงบกรมทางหลวง 2,985 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท 2,421 ล้านบาท เทียบกับ จ.อุบลราชธานีเก็บภาษีได้มากกว่า แต่ได้งบทางหลวงน้อยกว่า ที่สำคัญโครงการอำนวยความปลอดภัยสนับสนุนด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จ.บุรีรัมย์ได้ไป 61 โครงการ วงเงิน 1,160 ล้านบาท จากงบทั่วประเทศรวมกัน 3,300 ล้านบาท ตั้งแต่นายศักดิ์สยามเป็น รมว.คมนาคม เชื่อว่าบุรีรัมย์ได้งบ 2 กรมนี้ไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯคงไม่กล้าปลด

#ศักดิ์สยาม เจ้ากระทรวงนิ่งมาทั้งวันแล้วตอบในวันรุ่งขึ้นยาวๆ โดยสรุปให้ได้วยว่าอภิปรายกัน 4 ประเด็น 1.ที่ดินเขากระโดง 2.การขายหุ้น หจก.ว่าเป็นนิติกรรมอำพราง 3.จัดงบประมาณกรมทางหลวง ทางหลวงชนบท ไปบุรีรัมย์มากผิดปกติ 4.การวางแผน MR Map ว่าลงทุนโครงการซ้ำซ้อน

#ที่ดินเขากระโดง

เป็นประเด็นที่เคยอภิปรายหลายครั้งแล้ว ปัญหาที่ดินเขากระโดงเกิดขึ้นมายาวนาน พิพาทกับประชาชนมาตั้งแต่ 2502 อยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิ์ที่ต้องตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง ขอยืนยันว่า ไม่เคยแทรกแซงการทำงานของหน่วงานภายใต้สังกัดคมนาคม และยังสั่งการให้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ยึดหลักธรรมาภิบาลเคร่งครัด

ศักดิ์สยามบอกว่า การที่การรถไฟต้องดำเนินการตามาตรฐานคือ ต้องพิสูจน์สิทธิ์ก่อน ขณะนี้การรถไฟฯ เชื่อว่าการออกเอกสารสิทธิ์ของกรมที่ดินมีความคลาดเคลื่อน จึงขอให้พิจารณาเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ขณะนี้การรถไฟได้มีคำร้องไปที่ศาลปกครอง เพื่อให้มีกระบวนการวินิจฉัยเรื่องนี้ ถามว่าทำไมต้องฟ้องศาลปกครอง ทำไมไม่ฟ้องศาลฎีกา การรถไฟได้รายงานว่า การฟ้องศาลปคกรองกลางนั้น เพราะสามารถมีคำสั่งเพิกถอนที่ดินทั้งแปลงตาม ม.61 ได้ ทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว รัดกุม ไม่ตกหล่น กระบวนการพิจารณามีเพียง 2 ศาล คือ ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด

“ทางศาลได้รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว เมื่อเข้าสู่กระบวนการศาลแล้ว ศาลวินิจฉัยอย่างไรก็ปฏิบัติไปตามนั้น จึงอยากให้พึงระวังในการวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจก้าวล่วงการพิจารณาของศาล สุ่มเสี่ยงละเมิดอำนาจศาล” ศักดิ์สยามขู่

กรณีที่มีการกล่าวหาว่าไปสั่งการหน่วงเวลา ไม่ให้บังคับคดีของนายเอ ขอชี้แจงว่าการรถไฟดำเนินการตามกระบวนการสืบทรัพย์สิน ขณะนี้อยู่ในกระบวนการของกรมบังคับคดี ไม่มีการละเว้นหรือเลือกปฏิบัติต่อใคร

#การขายหุ้น หจก.บุรีเจริญเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่

ศักดิ์สยามเท้าความว่าส.ส.ฝ่ายค้านคิดว่าเป็นการซื้อขายปลอม ไม่มีหลักฐานการชำระเงินจริง แต่อำพรางเพื่อให้ รมว.คมนาคมได้ประโยชน์ในการรับเหมากับกระทรวงคมนาคม เขายืนยันว่า เรื่องนี้มีการซื้อขายกันจริงกับ ‘นายศุภวัฒน์’ หรือ นายเอ ตามที่ฝ่ายค้านเรียก ซึ่งเป็นเพื่อนของรัฐมนตรีศักดิ์สยาม โดยมีหลักฐานการโอนเงิน 3 ครั้งมายังธนาคารธนชาติ สาขาบุรีรัมย์ ครั้งแรก 2 ส.ค.2560 จำนวน 35 ล้าน, 5 ก.ย.2560 จำนวน 35 ล้านบาท, 5 ม.ค.2561 จำนวน 49.5 ล้านบาท โดยโอนจากบัญชีของนายศุภวัฒน์ ธนาคารธนชาติ สาขาบางบัวทอง รวมทั้งสิ้น 119.5 ล้านบาท และมีการจดเปลี่ยนหนังสือรับรองกับกรมธุรกิจการค้า

“เป็นเครื่องยืนยันว่า ผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับ หจก.แล้ว การที่ผู้ถือหุ้นไปดำเนินธุรกิจ ธุรกรรมเป็นเรื่องของเขา ถ้าสงสัยอะไรก็ต้องไปสอบถามกับ หจก.บุรีเจริญ ส่วนเงินที่ได้รับจากการขายหุ้นเป็นเรื่องส่วนตัวของผมว่านำไปใช้อะไร คิดว่าไม่ต้องรายงานกับสมาชิก” รัฐมนตรีกล่าว  

ส่วนข้อซักถามว่า ทำไมการจดซื้อขายหุ้นครั้งนี้จึงไม่ยื่นหลักฐานไปที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วย ศักดิ์สยามระบุว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ปกติ กรณีที่ต้องยื่นมีเรื่องเดียวคือ เพิ่มเงินลงทุน หรือจดใหม่

ข้อซักถามทำไมไม่มีการรายงานเป็นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ศักดิ์สยามกล่าวว่า กิจกรรมทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง หรือก่อนวันที่ 5 พ.ค.2562 ตามกฎหมายกำหนดต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ณ ขณะนั้น ซึ่งได้แจ้งไปเรียบร้อย เรื่องที่เกิดขึ้นก่อนไม่ได้อยู่ในข้อบังคับให้ต้องชี้แจง

เรื่องเรื่องฮั้วประมูล รมว.คมนาคมระบุว่า ไม่มีโอกาสเป็นอย่างนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เป็นไปไม่ได้ ตั้งแต่รับตำแหน่งได้ให้นโยบายกับข้าราชการคมนาคม 4 ข้อคือ 1.ปฏิบัติงานตามระเบียบกฎหมาย 2.ปฏิบัติงานตามมติ ครม. 3.ปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาล 4. ต้องรับฟังความเห็นประชาชน และกระทรวงคมนาคมดำเนินการโดยใช้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ใช้วิธีอีบิดดิ้ง ดำเนินการโดยกรมบัญชีกลาง

ข้อกล่าวหาว่าจัดงบกรมทางหลวง-ทางหลวงชนบทไปบุรีรัมย์มากผิดปกติ ชี้แจงว่า การตั้งงบประมาณ คมนาคมมักได้รับจัดสรรราว 1 ใน 3 ของโครงการที่ขอทั้งหมด การตั้งงบของ 2 กรมดังกล่าวเริ่มจากหน่วยงานผ่านคณะทำงานกลั่นกรองก่อนถึงรัฐมนตรี ไม่สามารถไปสั่งได้ว่าต้องลงตรงนั้นลงตรงนี้ ส่วนที่ช่วงท้ายตั้งงบเยอะเพราะที่ผ่านมาบุรีรัมย์มักได้รับงบไม่มาก เปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ