ไม่พบผลการค้นหา
ป.ป.ช. จัดงานเสวนากำหนดตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานภาครัฐให้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นประธานจัดงานเสวนารับฟังความคิดเห็นและให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาหลักเกณฑ์ความเหมาะสม ในการกำหนดตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานภาครัฐให้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. โดยมีเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานเข้าร่วมรับฟังกันอย่างพร้อมเพียง

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวตอนหนึ่งว่า ข้อแตกต่างของการกำหนดตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐให้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินระหว่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 คือ พ.ศ.2542 กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ประกอบด้วย มาตรา 32 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ สมาชิกวุฒิสภาฯ

มาตรา 39 ผู้ดำรงตำแหน่ง ได้แก่ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด และ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงฯ มีหน้าที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามกฎหมายทันทีโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ต้องประกาศกำหนดตำแหน่ง

ส่วน พ.ศ.2561 มาตรา 102 ตำแหน่งที่กฎหมายบังคับให้คณะกรรมการ ปปช. ต้องประกาศให้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และ ผู้บริหารท้องถิ่นฯ

มาตรา 103 คณะกรรมการ ปปช. จะประกาศให้เจ้าพนักงานของรัฐตำแหน่งใด ได้ให้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยคณะกรรมการ ปปช. จะต้องประกาศให้ผู้ดำรงตำแหน่งข้างต้นมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินก่อน ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจึงจะมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ปปช.

ขณะที่มาตรา 130 ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 42 มาตรา 103 และ มาตรา 158 ให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ หน่วยงานของรัฐที่ตนเองสังกัดหรือปฏิบัติงานอยู่ตามที่กำหนดให้พระราชกฤษฎีกา มาตรา 200 เพื่อไม่ให้เกิดภาระเกินสมควรในการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 130 จะกำหนดการเริ่มบังคับใช้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละระดับหรือแต่ละประเภทแตกต่างกันตามที่เห็นสมควร