ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากที่ 4 ผู้บริหาร 'เฟซบุ๊ก-กูเกิล-แอปเปิล-แอมะซอน' ให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการฯ รัฐสภา กรณีถูกกล่าวหาว่า 'ผูกขาดการค้า' ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค-ผู้ค้ารายย่อย สื่อตะวันตกประเมินว่า 4 ยักษ์ใหญ่จะไม่สะเทือนมากนัก

"ตลาดเสรีและเปิดกว้าง คือ พื้นฐานของเศรษฐกิจที่มีพลัง การแข่งขันอย่างดุเดือดระหว่างผู้ค้าในตลาดเปิด คือ โอกาสที่ผู้บริโภค-ทั้งบุคคลและนิติบุคคล-จะได้รับประโยชน์จากราคาที่ต่ำกว่าเดิม สินค้าและบริการคุณภาพสูงขึ้น มีทางเลือกมากขึ้น และมีนวัตกรรมที่ดียิ่งขึ้น"

หลักการและเหตุผลแห่งการปฏิบัติหน้าที่ของ 'คณะกรรมการการค้า' (FTC) แห่งรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา ถูกระบุไว้ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของหน่วยงาน และเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ FTC เริ่มกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณี 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของสหรัฐฯ คือ เฟซบุ๊ก กูเกิล แอปเปิล แอมะซอน ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรม 'ผูกขาดทางการค้า' ไม่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักกฎหมายที่มองว่าการขยับตัวของรัฐบาลสหรัฐฯ นั้น 'ช้าเกินไป' เพราะปล่อยให้ทั้ง 4 บริษัทเติบโตกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลด้านไอทีทั่วโลกนานกว่าทศวรรษถึงเพิ่งจะเริ่มพิจารณาอย่างจริงจังว่าควรต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้บริษัทเหล่านี้ 'ยิ่งใหญ่เกินไป' และ 'มีอำนาจมากเกินไป' ในโลกยุคดิจิทัล

การเรียกตัว CEO บริษัทยักษ์ใหญ่มาให้ปากคำ จึงเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามอง ทั้งยังเป็นการให้ปากคำผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์รักษาระยะห่างช่วงโควิด-19 อีกด้วย


ยักษ์ใหญ่ไล่ยักษ์เล็ก

สื่อด้านไอที The Verge รายงานว่าการสอบสวนของ FTC กินเวลานานราว 13 เดือน และมีเอกสารเกี่ยวข้องราว 1.3 ล้านฉบับ ก่อนส่งไม้ต่อให้คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ด้านการต่อต้านการผูกขาดทางการค้า ให้เรียกผู้บริหารของ 4 บริษัทยักษ์ใหญ่มาให้ปากคำไปเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563

คำถามสำคัญที่คณะกรรมาธิการฯ มีต่อบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีทั้ง 4 แห่ง ถูกเผยแพร่ในสื่อหลายสำนัก มีประเด็นหลักที่แตกต่างกันไป ดังนี้

1.แอมะซอน (Amazon)

AFP-Big 4 Tech Giant สี่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีสหรัฐฯ ให้ปากคำกรณีผูกขาดการค้า เจฟ เบซอส แอมะซอน Amazon.jpg
  • เจฟ เบซอส (จอกลาง) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Amazon

ข้อกล่าวหา

"ใช้สถานะเจ้าของแพลตฟอร์มตลาดสินค้าออนไลน์รายใหญ่ 'เข้าถึงข้อมูลธุรกิจ' ของร้านค้าที่วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในแอมะซอน จากนั้นจึงผลิตสินค้าแบบเดียวกันมาแข่งขัน รวมถึงจงใจขายสินค้าบางประเภทเพื่อตัดราคาคู่แข่งทางธุรกิจ"

เอกสารของ FTC ระบุว่า ร้านค้าที่จะขายของในแอมะซอนต้องกรอกข้อมูลต่างๆ ซึ่งรวมถึงชื่อ-ที่อยู่เจ้าของกิจการ และรายละเอียดผลิตภัณฑ์ที่จะวางจำหน่าย จึงมีกรณีต้องสงสัยว่าแอมะซอนอาจใช้ข้อมูลเหล่านั้นในการผลิตสินค้าที่คล้ายกันขึ้นมา และวางจำหน่ายแข่งกับร้านค้าที่เป็นเจ้าของธุรกิจเดิม ซึ่งกระทบต่อกลไกการแข่งขันเสรี

ส่วนกรณีขายสินค้าตัดราคา มีการอ้างอิงเว็บไซต์ diapers.com แพลตฟอร์มขายและจัดส่งสินค้าเกี่ยวกับเด็กอ่อนที่เคยเป็นดาวรุ่งอยู่พักหนึ่ง แต่แอมะซอนใช้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าตลาดสินค้าออนไลน์ที่มีทุนรองรับในระยะยาว ยอมขาดทุนเพื่อขายของตัดราคาคู่แข่ง เห็นได้จากการที่สินค้าหมวดเด็กอ่อนของแอมะซอนขาดทุนกว่า 200% อยู่หลายไตรมาส แต่ส่งผลให้ diapers.com ไม่อาจเติบโตทางธุรกิจได้

คำตอบจาก 'เจฟ เบซอส' ผู้ก่อตั้งและ CEO ของแอมะซอนต่อกรณีนี้ก็คือ เขายังคงยืนยันหลักการการแข่งขันอย่างเสรี แต่ไม่อาจรับประกันได้ว่าการดำเนินธุรกิจของพนักงานแอมะซอนในสาขาย่อยอื่นๆ จะไม่มีการละเมิดหลักการเหล่านี้ทั้งหมด 100% 

2.แอปเปิล (Apple)

AFP-Big 4 Tech Giant สี่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีสหรัฐฯ ให้ปากคำกรณีผูกขาดการค้า Apple ทิม คุก แอปเปิล.jpg
  • ทิม คุก CEO คนปัจจุบันของแอปเปิล

ข้อกล่าวหา

"แทรกแซงและกีดกันกลไกการแข่งขันทางการค้าในตลาดแอปพลิเคชันบนแพลตฟอร์มที่แอปเปิลเป็นเจ้าของ"

คณะกรรมาธิการฯ ซักถามเกี่ยวกับการบริหารจัดการของแอปเปิลที่มีต่อแอปพลิเคชันที่วางขายหรือเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีใน 'แอปเปิลสโตร์' เนื่องจากเอกสารการสอบสวนของ FTC ชี้ให้เห็นว่าแอปเปิลจะให้ความสำคัญอันดับแรกกับสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายโดยแอปเปิล หรือคู่ค้าทางธุรกิจของแอปเปิล แต่ละเลยหรือกีดกันผลิตภัณฑ์ของผู้ค้ารายอื่นๆ

พฤติกรรมกีดกันหรือสกัดการแข่งขันของคู่แข่งในตลาดแอปพลิเคชัน อ้างอิงจากการใช้อัลกอริทึมที่เอื้อประโยชน์ต่อแอปเปิล ทั้งยังมีการ 'คัดออก' แอปพลิเคชันบางประเภทที่อยู่ในหมวดเดียวกันหรือเป็นคู่แข่งสำคัญต่อผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล

คำตอบของ 'ทิม คุก' CEO คนปัจจุบันของแอปเปิล เป็นการแบ่งรับแบ่งสู้ว่าอาจจะมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจริง แต่ทางบริษัทจะแก้ไขและปรับปรุงให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรมตามกฎหมายของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม The Verge รายงานว่า แอปเปิลได้รับการไต่สวนที่ประนีประนอมที่สุดเมื่อเทียบกับ CEO คนอื่นๆ โดยทิม คุก ถูกถามคำถามเพียง 35 ข้อ ขณะที่ CEO แอมะซอน เจอไป 59 คำถาม ส่วน CEO กูเกิลเจอไป 61 และเฟซบุ๊กเจอไป 62 คำถาม ทั้งยังไม่มีใครถามทิม คุก เลยว่า การใช้ผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนที่ผลิตหรือเกี่ยวข้องกับ 'จีน' มีผลต่อความมั่นคงด้านข้อมูลของสหรัฐฯ ตามที่ผู้เชี่ยวชาญหลายรายกังวลหรือไม่

3.เฟซบุ๊ก (Facebook)

AFP-Big 4 Tech Giant สี่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีสหรัฐฯ ให้ปากคำกรณีผูกขาดการค้า facebook มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก มาร์ค เฟซบุ๊ก.jpg
  • มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร Facebook

ข้อกล่าวหา

"ใช้อำนาจทางการตลาดเข้าควบคุมและจัดการโฆษณาออนไลน์ในเฟซบุ๊ก ส่งผลต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของผู้ใช้เฟซบุ๊ก ทั้งยังใช้วิธีซื้อกิจการหรือขู่ว่าจะลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์เพื่อกำจัดคู่แข่งทางธุรกิจ ส่งผลกระทบการใช้งานของผู้บริโภค"

เอกสารของ FTC ยกตัวอย่างกรณีที่เฟซบุ๊กซื้ออินสตาแกรม (IG) แพลตฟอร์มเผยแพร่ภาพและวิดีโอขนาดสั้นออนไลน์ รวมถึงการซื้อวอตซ์แอป (WhatsApp) โปรแกรมสนทนาบนสมาร์ตโฟน เพื่อศึกษาเทคโนโลยีและกำจัดคู่แข่งทางธุรกิจ ทำให้ผู้บริโภคต้องใช้ผลิตภัณฑ์ซึ่งถูกผูกโยงกับเฟซบุ๊ก ถือว่ามีทางเลือก 'ลดลง' และเป็นการกินรวบส่วนแบ่งทางตลาด

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เฟซบุ๊กใช้ระบบอัลกอริทึมคัดเลือกโฆษณาสินค้าที่จ่ายเงินให้เฟซบุ๊กเป็นอันดับแรก แต่กลับทำให้ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'เข้าไม่ถึง' ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในเฟซบุ๊กที่เป็นข้อมูลจากผู้ใช้งานทั่วไป จึงไม่ถือว่าเป็นการแข่งขันที่เสรี เพราะผู้ใช้เฟซบุ๊กไม่มีโอกาสเห็นข้อมูลอื่นๆ ตามกลไกการเผยแพร่ข้อมูลปกติ

คำตอบของ 'มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก' ที่รายงานโดย TechCrunch ระบุว่า ซักเคอร์เบิร์กยอมรับว่ามีความพยายามลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งทางธุรกิจเพื่อสกัดการเติบโต รวมถึงใช้วิธีซื้อกิจการธุรกิจที่มีแนวโน้มจะเป็นคู่แข่งทางการค้าเกิดขึ้นจริง โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้อ้างถึงอีเมลที่ซักเคอร์เบิร์กส่งถึงผู้บริหารฝ่ายอื่นๆ ของเฟซบุ๊กในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ว่าเป็น 'ประจักษ์พยาน' ของการไต่สวนครั้งนี้

ส่วนกรณี ส.ส.พรรครัฐบาลรีพับลิกัน ต้องการให้ซักเคอร์เบิร์กชี้แจงเรื่องการแปะป้ายเตือนผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีข้อมูลบิดเบือนอยู่ในข้อความที่ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นผู้เผยแพร่ โดยระบุว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและมีอคติต่อรัฐบาล Mashable ระบุว่า ซักเคอร์เบิร์กได้พยายามอธิบายให้ ส.ส.รีพับลิกันเข้าใจว่า เหตุการณ์ที่พูดถึงนั้น เกิดขึ้นใน 'ทวิตเตอร์' ไม่ใช่ 'เฟซบุ๊ก'

4.กูเกิล (Google)

AFP-Big 4 Tech Giant สี่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีสหรัฐฯ ให้ปากคำกรณีผูกขาดการค้า ซุนดาร์ พิชัย กูเกิล google.jpg
  • ซุนดา พิชัย CEO คนปัจจุบันของ Google

ข้อกล่าวหา

"ควบคุมและแทรกแซงการค้นหาข้อมูลในกูเกิล, ควบคุมและแทรกแซงการแสดงโฆษณาออนไลน์ให้แก่ผู้ใช้งานระบบสืบค้นของกูเกิล, นำข้อมูลของผู้ผลิตคอนเทนต์ออนไลน์ไปใช้เพื่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจของตนเอง, ควบคุมและพยายามผูกขาดตลาดแอปพลิเคชัน 'กูเกิลสโตร์' เพื่อกีดกันการเติบโตของคู่แข่งทางธุรกิจ"

ผู้สื่อข่าวของ The Verge มองว่าพฤติกรรมของกูเกิลเป็นภัยร้ายแรงที่สุดด้านการผูกขาด เพราะระบบสืบค้นยอดนิยมที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก คือ กูเกิล และบริษัทแม่ของกูเกิล 'Alphabet' ก็ยังมีธุรกิจอีกมากมายที่สอดคล้องเกี่ยวพันกัน ทำให้การจัดอันดับการสืบค้นข้อมูลของกูเกิล 'เอื้อประโยชน์' ต่อธุรกิจในเครือของตัวเองมากกว่าจะเป็นการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคอย่างตรงไปตรงมา

กรณีตัวอย่าง ได้แก่ yelp.com เว็บไซต์รวมความคิดเห็นหรือรีวิวของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ที่มีต่อธุรกิจต่างๆ เคยร้องเรียนกูเกิลว่าแทรกแซงและควบคุมผลการสืบค้นข้อมูลในกูเกิล โดยมีการแสดงผลการค้นหาของกิจการหรือธุรกิจที่จ่ายเงินค่าโฆษณาให้กูเกิลก่อนข้อมูลที่มาจากการรีวิวของ 'ผู้ใช้งานจริง' ที่อยู่ใน yelp

The New York Times รายงานเมื่อปี 2560 ว่าข้อกล่าวหาของ yelp ที่มีต่อกูเกิลทำให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปดำเนินการไต่สวนพฤติกรรมของกูเกิลในการแทรกแซงการสืบค้นข้อมูลออนไลน์ และมีคำตัดสินให้ปรับเงินกูเกิลไปราว 2,700 ล้านยูโร (ประมาณ 97,200 ล้านบาท) แต่รัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่งเริ่มไต่สวนกูเกิลอย่างจริงจังเมื่อปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ The Verge รายงานว่ากูเกิลมีรายได้ปีละกว่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 4.8 ล้านล้านบาท) จากค่าโฆษณาที่เผยแพร่ผ่านกูเกิลและธุรกิจอื่นๆ ในเครือ ขณะที่ 90% ของการสืบค้นข้อมูลออนไลน์ในสหรัฐฯ ล้วนดำเนินการผ่านกูเกิล

ส่วนคำตอบของ 'ซุนดา พิชัย' CEO คนปัจจุบันของกูเกิล เป็นการแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ที่จริงแล้ว กูเกิลเป็นเพียง 'ทางเลือกหนึ่ง' ของผู้บริโภคและผู้ซื้อโฆษณาออนไลน์ แต่โมเดลธุรกิจของกูเกิลนั้นมอบสิ่งที่สมบูรณ์พร้อมสรรพให้แก่ทั้งธุรกิจและผู้บริโภค ซึ่งความหมายโดยนัยก็คือการปฏิเสธว่ากูเกิลไม่ได้ผูกขาดทางการค้า แต่เป็นที่นิยมมากกว่าเพราะมีบริการที่ครอบคลุมแก่ทุกฝ่ายนั่นเอง


อย่าคิด 'ล้มยักษ์' แต่ขอให้ 'กำกับดูแล'

'แกรี รีแบ็ก' ทนายความชื่อดังซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยื่นฟ้อง 'ไมโครซอฟท์' เมื่อปี 2541 ข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการแข่งขันทางการค้าในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์สหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับ Venture Beat ว่า การปล่อยให้บริษัทที่ใช้วิธี 'ผูกขาดทางการค้า' เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นที่ไม่อาจควบคุมได้ จะยิ่งทำให้รัฐบาลไม่มีหนทางจัดการเหลืออยู่มากนัก

"...การปล่อยให้ปัญหา (ผูกขาด) เกิดขึ้นโดยไม่แก้ไข ทำให้ผู้มีอิทธิพลในตลาดสั่งสมอำนาจของตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ก็คือ ไม่มีบริษัทไหนสามารถแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ได้แล้ว พวกเขาใช้วิธีซื้อกิจการของคู่แข่งเพื่อให้คนเหล่านั้นพ้นไปจากธุรกิจ ซึ่งนี่เป็นปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่งถ้าหากคุณคาดหวังให้กลไกตลาดเสรีแก้ไขสภาพที่เป็นอยู่ในตอนนี้" รีแบ็ก กล่าว

ด้วยเหตุนี้ การให้ปากคำของ 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีจึงอาจจะไม่มีผลกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ภายในองค์กรเหล่านี้มากนัก และกลไกการแข่งขันในตลาดเสรีก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะไม่มีคู่แข่งรายไหนมีศักยภาพพอจะต่อกรกับยักษ์ใหญ่เหล่านี้

สิ่งหนึ่งที่จะช่วยลดทอนอำนาจผูกขาดทางการค้าของยักษ์ใหญ่เหล่านี้ได้ (แต่อาจจะไม่มากนัก) คือ การพิจารณาปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับการผูกขาดทางการค้า (antitrust law) ให้มีความทันสมัย ครอบคลุมความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะกฎหมายที่ใช้อยู่ในสหรัฐฯ ฉบับแก้ไขล่าสุดเกิดขึ้นตั้งแต่หลายสิบปีก่อน ทำให้การนำมาบังคับใช้ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: