ไม่พบผลการค้นหา
7 จังหวัดในภาคอีสาน ยังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก บางพื้นที่ไม่มีน้ำเพื่อใช้ทำการเกษตร ต้องปล่อยข้าวยืนต้นตาย วัวไม่มีหญ้ากิน และแม่น้ำโขงแห้งขอดจนโขดหินโผล่ให้เห็นในรอบ 10 ปี

สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยยังมีอย่างต่อเนื่อง โดย 7 จังหวัดที่ยังได้รับผลกระทบอยู่ตอนนี้คือ จังหวัดสุรินทร์, เลย, ศรีสะเกษ, สกลนคร, ขอนแก่น, นครพนม, และจังหวัดนครราชสีมา

เริ่มจากที่จังหวัดเลย แม่น้ำโขงที่ไหลผ่านพื้นที่อำเภอเชียงคาน และปากชม มีการแห้งขอดอย่างรวดเร็วกว่าปกติ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดอย่าง แก่งคุดคู้ น้ำโขงที่แห้งอย่างรวดเร็วทำให้มองเห็นเป็นชายหาดและโขดหิน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบ 10 ปี ส่งผลกระทบทำให้ชาวบ้านที่มีอาชีพหาปลา จับปลาได้ยากขึ้น ซึ่งนางจันทนา เรขะวัฒนา หัวหน้าศูนย์อุทกวิทยาเชียงคาน เปิดเผยว่า ระดับแม่น้ำโขงที่เริ่มลดลงอย่างรวดเร็วนี้ เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ระดับน้ำวัดได้ 4.93 เมตร และล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ก.ค. ลดลง 53 เซนติเมตร จนกระทั่งระดับน้ำอยู่ที่ 3.70 เมตร ทั้งนี้สาเหตุอาจมาจากที่เขื่อนไชยุบูลี ใน สปป.ลาว ทดลองผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็วได้เช่นกัน



อ่างเก็บน้ำ.jpg
  • อ่างเก็บน้ำอำปึล จังหวัดสุรินทร์

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งที่จังหวัดสุรินทร์ ขณะนี้อ่างเก็บน้ำอำปึลที่ ตำบลเทนมีย์ อำเภอเมือง ระดับน้ำอยู่ในขั้นวิกฤติ จากความจุของอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 27.68 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันเหลือน้ำเพียง 0.94 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น ขณะที่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนงเหลือน้ำ 1.6 ล้าน ลบ.ม. จากความจุอ่างทั้งหมด 20.8 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่ง เป็นแหล่งน้ำเพื่อใช้ผลิตน้ำประปาให้ชุมชนในเมือง ทำให้คาดว่าจะสามารถใช้น้ำในอ่างผลิตน้ำประปาได้อีกแค่ 1 เดือนเท่านั้น ถือว่าวิกฤติสุดในรอบ 41 ปีที่มีการสร้างและเปิดใช้อ่างเก็บน้ำมา ซึ่งทางผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุรินทร์ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการใช้รถแบ็กโอเป็นร่องน้ำเปิดน้ำตามแอ่งที่เหลืออยู่ในอ่างให้ไหลรวมกันที่บริเวณสถานีสูบน้ำดิบ 

ด้านจังหวัดศรีสะเกษ จากการที่ฝนทิ้งช่วงหลายสัปดาห์ติดต่อกัน ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรเริ่มขาดน้ำ นาข้าวบางแห่งต้นข้าวยืนต้นตายเนื่องจากเกษตรกรไม่มีน้ำเข้านา อีกทั้งฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานศรีสะเกษ เปิดเผยข้อมูลว่า ระดับน้ำของอ่างเก็บน้ำทุกแห่งในจังหวัดมีน้ำสามารถใช้การได้เพียง ร้อยละ 23.77 เท่านั้น โดยมีอ่างเก็บน้ำ 3 แห่งที่น้ำแห้งขอดแล้ว คือ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็ม, อ่างเก็บน้ำห้วยซัน และอ่างเก็บน้ำหนองสิ ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว นายวีระศักดิ์ วิจิต์แสงศรี ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ ได้ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำแล้ว พร้อมทั้งได้เสนอแผนของบประมาณในส่วนของงบกลางเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งแล้ว



ศรีสะเกษ.jpg
  • อ่างเก็บน้ำในจังหวัดศรีสะเกษ

ที่จังหวัดนครราชสีมา นาข้าวของเกษตรกรชาวโคราชใน 5 อำเภอคือ อำเภอพิมาย, ชุมพวง, โนนแดง, โนนสูง และอำเภอประทาย รวมกว่า 2 หมื่นไร่ กำลังยืนต้นตายทั้งหมด หลังประสบภาวะฝนทิ้งช่วงติดต่อกันนานกว่า 3 เดือน และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่เริ่มแห้ง โดยเฉพาะเขื่อนเก็บน้ำอำเภอพิมาย น้ำแห้งหนัก ไม่สามารถเปิดระบายลงคลองน้ำชลประทานได้ ถือเป็นภัยแล้งที่ยาวนานที่สุดในรอบ 50 ปี และคาดว่าจะวิกฤติมากยิ่งขึ้น 

ส่วนที่จังหวัดนครพนม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์แล้ง อาจรุนแรงขึ้น เพราะปริมาณน้ำฝนตกต่ำกว่าปีที่ผ่านมาหลายเท่า จากการตรวจวัดของสถานีอุตุนิยมวิทยา พบว่า ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยแค่ ประมาณ 90 มิลลิเมตร จากปีที่ผ่านมาในช่วงเดียวกันมีประมาณสูงกว่า 300 มิลลิเมตร ประกอบกับฝนทิ้งช่วงทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำสาขาสายหลักในจังหวัดอย่าง ลำน้ำก่ำ ลำน้ำอูน และลำน้ำสงคราม มีปริมาณน้ำน้อย แค่ร้อยละ 20-30 ของความจุเท่านั้น เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยโครงการชลประทานจังหวัดนครพนม ต้องเร่งกักเก็บน้ำตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในพื้นที่ 12 อำเภอ รวม 13 แห่งให้ได้มากที่สุด พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรงดนำการเกษตรนอกเขตชลประทาน ป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดกับผลผลิต



น้ำโขง.jpg
  • แม่น้ำโขง จังหวัดนครพนม

ด้านกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงวัวในจังหวัดขอนแก่น เดินทางเข้าร้องทุกข์ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่น ให้ช่วยเหลือเกษตรกรเลี้ยงวัวจาก 2 อำเภอ คือ อำเภอโนนศิลา กับ อำเภอชนบท เนื่องจากวัวที่พวกตนเลี้ยงไว้ไม่มีอาหารกิน จากปัญหาภัยแล้งที่ขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง แหล่งน้ำตามธรรมชาติตื้นเขินอย่างรวดเร็ว ทำให้เกษตรกรต้องต้อนปศุสัตว์ของตนเองไปเล็มตอซังหญ้าแห้งตามทุ่งนา เพราะไม่มีหญ้าสดให้กิน ส่วนฟางก้อนที่กักตุนไว้ไม่เพียงพอ จึงได้ขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจัดหาหญ้าแห้งและฟางอัดแห้ง และบริการให้กับเกษตรกร พร้อมขอให้จัดหน่วยงานด้านปศุสัตว์ลงพื้นที่ดูแลเรื่องโรคสัตว์และช่วยเหลือแนะนำพันธุ์โคเนื้อเพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้รับการดูแลเลย

ชาวนาในจังหวัดสกลนคร นายสุธี บุระเนตร ยอมควักเงินไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาท จ่ายเป็นค่าสูบน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้เคียงเข้านาของตนเอง โดยนายสุธี กล่าวว่า ปีนี้ฝนไม่ตกเหมือนปีก่อนๆ ทำให้น้ำไม่เพียงพอต่อการทำนา ข้าวในนาที่ปลูกไว้ราว 20 ไร่ ได้รับผลกระทบจากการขาดน้ำแล้วประมาณร้อยละ 80 ต้องไถกลบหน้าดินใหม่เพื่อทำนารอบ 2 จึงหวังว่าจะมีฝนตกลงมา ทั้งนี้หากแล้งต่อไปแบบนี้อาจส่งผลให้ราคาข้าวในปีนี้และปีหน้าปรับตัวสูงขึ้นได้ จึงอยากขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการช่วยเหลือให้เร็วกว่า 

ซึ่งจากสถานการณ์น้ำโขงที่ลดลงแบบผันผวนในจังหวัดภาคอีสานนี้อาจเกิดจากที่ เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานการรณรงค์ประเทศไทย International Rivers โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า ความวุ่นวายทั้งลุ่มน้ำโขงทั้งที่เชียงราย และภาคอีสาน เกิดขึ้นเมื่อเขื่อนในประเทศจีนที่สิบสองปันนา ประกาศลดการระบายน้ำลงเหลือครึ่งเดียว จนทำให้เกิดภาวะแล้งผิดฤดูกาลลามไปถึงภาคอีสาน ซ้ำร้ายกว่านั้นคือแม่น้ำโขงกำลังจะเผชิญภาวะเช่นเดียวกันเมื่อเขื่อนไซยะบุรี ที่เพจลาวแจ้งว่าจะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า จะทำให้ระดับน้ำขึ้นลงผันผวน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :