ไม่พบผลการค้นหา
รมว.สาธารณสุข เผยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 อนุญาตนำกัญชาไปใช้เฉพาะประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น ยินดีร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ วิจัยกัญชา

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกของอาเซียน ที่ออกกฎหมายนำกัญชาไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งในกัญชามีสาระสำคัญอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกเรียกว่า THC (Tetrahydrocannabinol) พอเสพแล้วจะเสพติดทำให้มีอาการมึนงง จัดเป็นสารเสพติด ชนิดที่สองเรียกว่า CBD (Cannabidiol) เป็นสารสกัดที่ออกมาแล้วเกิดประโยชน์ทางการแพทย์ สามารถนำมารักษาโรคสมอง โรคชัก หรือโรคอื่นๆ ซึ่งในต่างประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาได้นั้น เป็นการอนุญาตให้ใช้เฉพาะสาร CBD ที่มีประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า กัญชามีทั้งข้อดีข้อเสียดังนั้นต้องใช้อย่างระมัดระวัง สำหรับกัญชาที่ปลูกกันในประเทศไทย พบว่า มีสาร THC ค่อนข้างสูงการใช้ต่อเนื่องมีผลกระทบต่อสุขภาพได้ ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกยังประกาศให้กัญชาเป็นยาเสพติด แต่ประเทศไทยได้แก้ไขกฎหมายที่เอื้อให้สามารถพัฒนานำสารสกัดจากกัญชาไปใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์ ยังไม่ได้อนุญาตให้นำไปใช้ด้านอื่นๆ อาทิ ใช้ในเรื่องสันทนาการ ต้องระมัดระวังเพราะในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา รัฐโคโลลาโด ได้รับรายงานมาว่า หลังเปิดเสรีในเรื่องกัญชา พบว่าเกิดอุบัติเหตุการจราจรสูงขึ้น จากการเมาเหล้า และอีกส่วนหนึ่งก็คือเมากัญชาด้วย

สำหรับในเรื่องความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในเรื่องกัญชานั้น หากเป็นด้านการวิจัย เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ แต่ถ้าหากขอผลิตเป็นยา หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต้องเป็นไปตามที่กฎหมาย โดยต้องร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพราะกฎหมายของประเทศไทยเอื้อต่อการนำมาใช้ประโยชน์มากกว่ากฎหมายประเทศอื่นๆ และถูกต้องตามกฎขององค์การสหประชาชาติด้วย

“ผมเชื่อมั่นว่าคนไทยมีวิจารณญาณในการนำกัญชาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ในระยะแรก ขอให้ประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่หวังจะนำกัญชามาใช้ประโยชน์ ขอให้ใช้ประโยชน์ด้านการดูแลรักษาในเรื่องโรคและสุขภาพเต็มที่ก่อน อย่าเพิ่งนำไปใช้ด้านอื่น ๆ เพราะกัญชายังมีสารเสพติด และสารเสพติดนั้นมีผลเสียต่อสุขภาพด้วย ต้องระวังให้ดี” นพ.ปิยะสกล กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :