ไม่พบผลการค้นหา
สนทนากับ ‘เบนซ์-สัมฤทธิ์ สิทธิวรานุวงศ์’ นักธุรกิจหนุ่มวัย 35 ผู้อยากเห็นความก้าวหน้าของการกระจายอำนาจด้านพลังงาน การแข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ผูกขาดอยู่กับรัฐ หรือเฉพาะหน่วยงานหนึ่ง

ณ ปัจจุบัน เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าด้วย ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ หรือ ‘โซลาร์เซลล์’ กำลังกลายเป็นประเด็นน่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากพอเอ่ยถึงพลังงานแสงอาทิตย์เมื่อไหร่ หลายคนมักจะจินตนาการถึง ‘สีเขียว’ หรือแนวคิดการอยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ที่มีผลต่อการเปลี่ยงแปลงโลกในอนาคต

ทว่าชายหนุ่มวัย 35 นามว่า ‘เบนซ์-สัมฤทธิ์ สิทธิวรานุวงศ์’ ไม่ได้มองพลังงานแสงอาทิตย์แค่ความเป็นสีเขียวเท่านั้น เนื่องด้วยพื้นฐานการศึกษาด้านวิศวกรรมเครื่องกล รวมถึงความสนใจในเศรษฐศาสตร์การเมือง สายตาของเขาจึงโฟกัสพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านมิติด้านงบประมาณ นโยบายภาครัฐ เนื่องจากต้องการเห็นพลังงานธรรมชาติกระจายตัวสู่ทุกครัวเรือนอย่างเท่าเทียม นั่นเลยกลายเป็นที่มาของ ‘Solar D’ (โซลาร์ ดี) แบรนด์นวัตกรรมพลังงานสะอาด บริการโซลูชันระบบผลิตไฟฟ้าบนหลังคาแบบครบวงจร ซึ่งตัวเบนซ์เองดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัท โซลาร์ ดี คอร์ปอเรชั่น จำกัด

เบนซ์.jpg
  • สัมฤทธิ์ สิทธิวรานุวงศ์ กรรมการบริษัท โซลาร์ ดี คอร์ปอเรชั่น จำกัด

เบนซ์ก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นรายใหม่ในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์เมื่อ 6 ปีก่อน แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า เขาเป็นนักธุรกิจ ไม่ใช่นักการเมือง และไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่สำหรับความหมายของตัวอักษร D ในชื่อแบรนด์เขากลับเลือกย่อมันมาจาก ‘Decentralize’ (การกระจายอำนาจ) ‘Democracy’ (ประชาธิปไตย) และ ‘Design’ (การออกแบบ)

“พอมาทำงานฝั่งวิศวกรก็เห็นว่า ถ้าพูดถึงการใช้ไฟฟ้าตรงๆ เลย หลายคนจะนึกถึงรัฐ เพราะรู้สึกมันเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งต้องอาศัยคนกลางมาแจกจ่ายให้ แล้วประชาชนเป็นผู้ใช้ แต่พลังงานแสงอาทิตย์มันมีลักษณะกระจายตัวสูงมาก เปิดโอกาสกับประชาชนทุกคน แล้วสามารถแก้ปัญหาทางสังคม โดยเฉพาะการกระจายรายได้ ซึ่งประเทศไทยยังติดอันดับต้นๆ เรื่องการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม ผมเลยมองพลังงานแสงอาทิตย์เป็นเครื่องมือสำคัญ และช่องทางการแก้ปัญหาดังกล่าว นั่นเป็นแรงบันดาลใจให้อยากมาทำธุรกิจ”

ทั้งนี้ ปัญหาอุปสรรคของผู้ประกอบการพลังงานแสงอาทิตย์ ดูเหมือนจะอยู่ระนาบเดียวกันกับสตาร์ทอัพนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างแกร็บ (Grab) แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) หรือแม้กระทั่งบิทคอยน์ (Bitcoin) เพราะในอดีตธุรกิจดังกล่าวมักครอบงำด้วยรัฐ และบริการจัดการด้วยองค์กรใหญ่ๆ เพียงน้อยราย หรือพูดง่ายๆ คือรวมศูนย์มาก จึงมีลักษณะขาดการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

“คนรุ่นใหม่เริ่มอยากลงมาจัดการปัญหาตามแนวทางของตัวเอง แล้วเทคโนโลยีก็เข้ามาซับพอร์ตพวกเขา สำหรับผมถ้าทำโซลาร์สำเร็จก็เป็นการเอ็มพาวเวอร์ตัวเองด้านพลังงาน แต่แน่นอนยังต้องเจอชาเลนจ์แบบเดียวกันกับหลายๆราย ทั้งประเด็นกับรัฐ ประเด็นกับผู้เล่นรายเดิม แล้วต่อสู้กันจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่จบ โซลาร์ก็เป็นเช่นกัน ไม่ได้มีอะไรต่างกันเลย” เบนซ์กล่าว

Untitled-2.jpg
  • ตัวอย่างการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในประเทศเกาหลีใต้

แม้เจ้าของธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปจะยอมรับว่า ธุรกิจของเขาเต็มไปด้วยความเสี่ยง และความท้าทาย แต่ส่วนตัวเขายังคงสนุกกับการพัฒนามันต่อด้วยความหวังว่า พรรคการเมืองที่กำลังเข้ามาเป็นรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับพลังงานแสงอาทิตย์ โดยส่งเสริมทั้งผู้ประกอบการ และประชาชนตัวเล็กๆ อย่างเสมอภาค เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้นให้กับทุกคน

“ผมแปลกใจทำไมพรรคการเมืองไม่ค่อยพูดถึงเรื่องพลังงาน ส่วนใหญ่จะพูดอย่างระวัง พูดกว้างๆ หรือเลี่ยงการพูดแต่นอนแน่พอมองภาพใหญ่ของประเทศไทยมันยังมีเรื่องใหญ่ๆ ให้ตระหนักมากกว่าเยอะ ฉะนั้นอาจจะต้องจัดปัญหาพลังงานเข้าไปเป็นส่วนของปัญหาใหญ่ๆ เพราะโครงสร้างของปัญหามันมีลักษณะที่ล้อกับโครงสร้างปัญหาใหญ่อยู่แล้ว มันชัดมาก

“มีตัวอย่างของหลายประเทศ ประเทศไหนที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงๆ คนก็มีส่วนร่วมด้านพลังงานเยอะ ส่วนประเทศไหนที่อยู่ในระบบค่อนข้างรวมศูนย์ทางอำนาจทางการเมือง พลังงานก็จะรวมศูนย์ทางอำนาจเหมือนกัน

“อย่างน้อยๆ ภาพใหญ่น่าจะเป็นการเปิดให้คนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง หรือในทางจัดการทรัพยากรมากขึ้น พูดง่ายๆ คือเอาตัวคนเล็กๆ น้อยๆ เข้าไปอยู่ในกระบวนการมากขึ้น แค่เอาคอนเซ็ปต์เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงาน หรือธุรกิจอื่น มันก็จะไปทางเดียวกัน แต่ถ้าดีกว่านั้น ถ้าจะพูดให้ลึกลงกว่านั้น ผมคิดว่าถ้าพรรคต่างๆ ศึกษามากพอ ก็ควรนำเสนอนโยบายที่ก้าวหน้าด้านพลังงาน หรืออย่างน้อยที่สุดทำให้ระบบสายส่งเอื้อให้คนเข้าไปมีส่วนร่วมได้มากขึ้น”

เบนซ์ยังแชร์ประสบการณ์ช่วงระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ว่าสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนคือ ราคาของระบบติดตั้งลดลงเกินครึ่งหนึ่ง ซึ่งนับเป็นการช่วยเปิดตลาด ส่วนด้านการรับรู้ของประชาชน หรือผู้ประกอบธุรกิจก็ดีขึ้นด้วยเช่นกัน แต่นั่นกลับยังไม่ใช่เป้าหมายหลักของเบนซ์เสียทีเดียว เพราะสำหรับเขาการเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และการผลิตไฟฟ้า โดยปลายทางการเผาไหม้ต้องลดลง ถือเป็นสิ่งสำคัญสุด

“โซลาร์ต้องไม่ใช่แค่เรื่องเท่ๆ หรือแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม สุดท้ายมันต้องกลายเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปของประชาชน แต่ต้องอาศัยการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจะยาวนานเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ประกอบการด้วย ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำมากๆ คือการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน”

ที่ผ่านมา หลายคนไม่กล้าเสี่ยงกับพลังงานแสดงอาทิตย์ เนื่องจากปัญหาใหญ่ๆ ที่มีอยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ ผลิตไฟฟ้าได้น้อยมาก ต้นทุนสูง และเอาแน่เอานอนไม่ได้ ทว่าปัจจุบันพลังงานแสงอาทิตย์สามารถจ่ายไฟได้ทั้งบ้าน ทั้งโรงงาน เพราะประเด็นเรื่องพาวเวอร์ถูกพัฒนาประมาณหนึ่งแล้ว ทำให้แผงเท่าเดิมผลิตไฟได้มากขึ้น 2-3 เท่า

ส่วนเรื่องความเอาแน่เอานอนไม่ได้เบนซ์เผยว่า สาเหตุมาจากแสงอาทิตย์ออกตอนเช้าหมดตอนเย็น และครัวเรือนต้องการใช้ไฟตอนกลางคืน ตอนกลางวันทุกคนออกมาทำงาน ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งอุปสรรค เพราะโซลาร์เซลล์ทำหน้าที่เพียงผลิตพลังงาน แต่ไม่ได้เก็บ ถ้าเก็บต้องอาศัยแบตเตอรี ทำให้ต้นทุนสูง

“มันกลายเป็นประเด็นความไม่สัมพันธ์กันของการผลิตกับการใช้งาน ซึ่งต่างประเทศจัดการด้วยระบบเน็ตมิเตอร์ริง (Net Metering) สายส่งพร้อมรับไฟฟ้าส่วนเกินเวลากลางวัน ส่วนเวลาขาดสายส่งพร้อมจะจ่ายเข้ามาแทน ซึ่งด้วยระบบลักษณะนี้ ช่วยให้โซลาร์ในต่างประเทศเติบโตค่อนข้างเร็ว ถึงสิ้นเดือนตอนจ่ายค่าไฟ ไฟฟ้าที่จ่ายออกจะถูกนำมาหักลบ แล้วผู้ใช้ก็แค่จ่ายค่าไฟส่วนต่าง

“ทางรัฐก็มีความพยายามออกโปรแกรมในลักษณะใกล้เคียงกันออกมา ทำให้หลายปีที่ผ่านมา พอประเทศไทยไม่มีระบบเน็ตมิเตอร์ริงมาช่วยจัดการเรื่องนี้ เลยทำให้การเติบโตของกลุ่มบ้านเป็นไปอย่างลำบาก เพราะก่อนคุณจะติดคุณต้องคิดก่อนว่า ตอนกลางวันต้องการใช้ไฟหรือเปล่า มันก็เป็นอุปสรรคหลักอันหนึ่ง”

On Being
198Article
0Video
0Blog