นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษวันนี้ (25 ก.ค.2567) ในงานการสัมมนาวิชาการ ทศวรรษที่ก้าวผ่าน ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในหัวข้อ “ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน: ตัวเร่งปฏิกิริยาเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำในประเทศไทย” (Public-Private-People Partnership: Catalysts for a low Carbon Economy in Thailand)
นายกฯเศรษฐา กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า ปัญหาโลกร้อน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ มลพิษสิ่งแวดล้อมข้ามแดน และปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ล้วนเป็นปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกตระหนักและให้ความสำคัญ ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้มักถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในทุกเวทีระดับโลก ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจาก Climate Change ที่จะกำหนดความอยู่รอดของเศรษฐกิจและสังคม โดยมีความท้าทายจากทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ และการเตรียมปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป วิสัยทัศน์ Ignite Thailand ของรัฐบาลจะเป็นเป้าหมายที่สำคัญในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน (Public-Private-People Partnership หรือ PPPP)
นายกฯเศรษฐา กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นเพื่อตั้งรับต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพอากาศที่รุนแรงนี้ ความร่วมมือ PPPP จะเป็นกรอบความร่วมมือที่รวบรวมความแข็งแกร่งของแต่ละภาคส่วน การเสริมสร้างขีดความสามารถ หรือ Capability Building ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในวิธีการเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่เพียงการพัฒนาทักษะ ประสบการณ์ และความรู้ในระดับบุคคลเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงการกำหนดโครงสร้างภายในนโยบาย และขั้นตอนการดำเนินงานในระดับองค์กร นอกจากนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต้องมีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไข นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม การดำเนินงานภายใต้กรอบ PPPP ซึ่งจะครอบคลุม 4 มิติหลักเพื่อเพิ่ม GDP ให้กับประเทศ ดังต่อไปนี้
มิติที่ 1 การพัฒนาอุตสาหกรรมตามวิสัยทัศน์ Ignite Thailand มุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของภูมิภาค มีทั้งอุตสาหกรรมไฮเทคชนิดใหม่ ๆ และต่อยอดกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้วในประเทศ โดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้งาน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้สูงในอนาคต
มิติที่ 2 การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy transition) การเปลี่ยนโครงสร้างพลังงานมาใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมีนัยยะ คุ้มค่าต่อการลงทุน รวมไปถึงการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เช่น สถานีชาร์จ EV การนำเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อลดแรงกดดันทางภาษีจากต่างประเทศสำหรับสินค้าที่ก่อให้เกิดคาร์บอนสูง ทั้งนี้ เรื่องของการแก้กฎหมายเอื้อต่อผู้ประกอบการมากขึ้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญและจะต้องทำ
มิติที่ 3 การจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย (Disaster and risk management) ได้แก่ การเสริมสร้างขีดความสามารถและการเตรียมความพร้อมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือกับสาธารณภัย ทั้งการบริหารจัดการสาธารณภัย และการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย
มิติที่ 4 การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่ห่วงโซ่สีเขียว (SMEs and green supply chain) ธุรกิจ SMEs ถือเป็นธุรกิจที่เป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจในประเทศไทย
นายกฯเศรษฐา ระบุ การเสริมสร้างองค์ความรู้ และการดำเนินธุรกิจที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกลุ่ม SMEs ที่เกิดจากการผลิตตลอดทั้งวงจรผลิตภัณฑ์ (Green supply chain) รวมถึงการบำบัดและการนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน เป็นทางออกหนึ่งในการนำพาประเทศไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้ ภายใต้กรอบ PPPP นี้ รัฐบาลจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการระดมทรัพยากรและกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งเน้นดำเนินการทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กันอย่างสมดุล ตามแนวคิดของการผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือกำไรของธุรกิจ ในขณะที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติด้วยเช่นกัน
นายกฯเศรษฐา กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องของการลดคาร์บอน ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะสำคัญ เราไม่ได้อยู่ที่แค่ประเทศไทยประเทศเดียวหรือเราพึ่งแค่โครงการ PPPP ของพวกเราอย่างเดียว เราอยู่ในโลกที่มีความท้าทาย เราเป็นประเทศเล็ก แต่ว่าในเวทีโลก Geopolitics ที่มีความผันผวนสูงมาก รวมถึงการเปลี่ยนผู้นำต่าง ๆ ในหลาย ๆ ประเทศก็มีส่วนในการกำหนดนโยบายที่อาจจะไม่สอดคล้องหรือไม่เป็นประโยชน์ต่อธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พวกเรา ถึงแม้เป็นประเทศที่เล็ก เราเป็นคนตัวเล็ก แต่ว่าจิตใจเราเข้มแข็งเราต้องมีความมุ่งมั่น แล้วก็พยายามทำอย่างเต็มที่ ถึงแม้บางประเทศเขาจะมีการหวั่นไหวมีการเปลี่ยนนโยบายต่าง ๆ
“ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนจิตใจแข็งแกร่ง ต้องเดินไปข้างหน้าให้ได้ และอย่าหวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบาย เพราะว่าเราทราบดีอยู่แล้วเรื่องการรักษ์โลก การที่เรามานั่งอยู่ที่นี่ พวกท่านทำดีอยู่แล้ว ต้องมี commitment แล้วช่วยกันผลักดันต่อ ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับประเทศเราต่อไป อย่างที่เรียนถึงแม้เราเป็นประเทศที่เล็ก แต่เรื่อง commitment ของเราเรื่องนี้เราเป็นเรื่องที่ใหญ่” นายกฯ ย้ำ