ไม่พบผลการค้นหา
งานศึกษาใหม่ในสหรัฐฯ ที่ทำกับผู้ใหญ่ 20,000 คนเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพพบว่า การรับประทานอาหารแบบจำกัดเวลา ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการอดอาหารเป็นระยะ อาจเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตได้อย่างมาก

งานวิจัยใหม่ที่นำเสนอต่อสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา (AHA) อ้างว่า การจำกัดเวลาการกินอาหารให้มีชั่วโมงน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจได้ ซึ่งเป็นโอกาสที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 91%

งานศึกษาในครั้งนี้ ทำการประเมินอาหารและผลลัพธ์ด้านสุขภาพของผู้เข้าร่วมการวิจัย ในช่วงระยะเวลาสูงสุด 17 ปี อย่างไรก็ดี งานวิจัยนี้ไม่สามารถระบุสาเหตุการเสียชีวิตเพียงสาเหตุเดียว ซึ่งทำให้ความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากการจำกัดการรับประทานอาหารให้เป็นเวลา 8 ชั่วโมงมีอัตราลดลง

ศาสตราจารย์ วิกเตอร์ เวนเซอ จง ระบุกับ BBC Science Focus ว่า เขารู้สึกประหลาดในกับผลการวิจัยในครั้งนี้ เนื่องจากเขา "คาดหวังว่าการรับประทานอาหารแบบจำกัดเวลา 8 ชั่วโมงในระยะยาว จะสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงของการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ แม้กระทั่งการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ"

จงกล่าวเสริมว่า “แม้ว่าการรับประทานอาหารประเภทนี้จะได้รับความนิยม เนื่องจากอาจมีประโยชน์ในระยะสั้น แต่การวิจัยของเราแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เมื่อเทียบกับช่วงรับประทานอาหารทั่วไปที่ 12–16 ชั่วโมงต่อวัน ระยะเวลารับประทานอาหารที่สั้นกว่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกันกับการมีอายุยืนยาวขึ้น"

แม้จะมีสถิติที่น่าสนใจ แต่นักวิทยาศาสตร์ยังคงไม่มั่นใจว่าเหตุใดการรับประทานอาหารแบบจำกัดเวลา จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ อย่างไรก็ดี จงกล่าวว่าคำอธิบายหนึ่งที่เป็นไปได้สำหรับผลการวิจัยในครั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่าการจำกัดการกินอาหารจะส่งผลให้ร่างกายเกิดการลดมวลกล้ามเนื้อลง

“เราสังเกตเห็นว่าผู้ที่จำกัดการกินเป็นระยะเวลาน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันมีมวลกล้ามเนื้อน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่รับประทานอาหารโดยทั่วไปที่ 12-16 ชั่วโมง การสูญเสียมวลร่างกายไร้ไขมันเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่สูงกว่าของการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ” จงกล่าว

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การรับประทานอาหารแบบจำกัดเวลาได้รับความสนใจ จากประเด็นประโยชน์ต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น โดยงานศึกษาก่อนหน้านี้ได้เสนอแนะว่า การอดอาหารแบบจำกัดเวลาสามารถช่วยลดน้ำหนัก และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและระดับคอเลสเตอรอลลงได้

ปัจจุบันนี้ ผู้คนจำนวนมากที่รับประทานอาหารแบบจำกัดเวลา หรือที่เรียกว่าการรับประทานอาหารแบบ IF "ตารางเวลา 16:8" จะใช้วิธีการรับประทานอาหารเป็นเวลา 8 ชั่วโมง โดยอีก 16 ชั่วโมงที่เหลือจะเป็นช่วงเวลาในการอดอาหาร

มีความเชื่อกันว่ารูปแบบการอดอาหารแบบจำกัดเวลาดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับวงจรการนอนหลับตามธรรมชาติของมนุษย์ หรือจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งส่งเสริมให้การนอนหลับ และระบบเผาผลาญทำงานได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าทฤษฎีนี้จะส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะสั้น แต่ผลการวิจัยในครั้งนี้อาจทำให้เกิดการตั้งข้อสงสัยครั้งใหญ่ เกี่ยวกับประสิทธิภาพของการอดหารแบบจำกัดเวลาในระยะยาวได้

“การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า การรับประทานอาหารแบบจำกัดเวลาอาจให้ประโยชน์ในระยะสั้น แต่ส่งผลเสียในระยะยาว” ดร.คริสโตเฟอร์ การ์ดเนอร์ ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าว

อย่างไรก็ดี การ์ดเนอร์เน้นย้ำว่างานวิจัยนี้ยังไม่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และรายละเอียดว่าผู้เข้าร่วมรับประทานอาหารประเภทใดยังไม่ได้รับการเปิดเผย “หากไม่มีข้อมูลนี้ เราก็ไม่สามารถระบุได้ว่าความหนาแน่นของสารอาหารอาจเป็นคำอธิบายทางเลือก สำหรับข้อค้นพบที่กำลังมุ่งเน้นไปที่กรอบเวลาในการรับประทานอาหาร” การ์ดเนอร์กล่าว

ในบรรดาประชากรที่เข้าร่วมการศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 49 ปี ทีมนักวิจัยได้ทำการบันทึกข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 2,797 ราย โดยผู้เสียชีวิตจำนวน 840 รายในนั้น เสียชีวิตลงจากสาเหตุโรคหัวใจและหลอดเลือด

“เป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคหัวใจหรือมะเร็ง จะต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานอาหารเป็นเวลา 8 ชั่วโมง กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ” จงกล่าว

"จากสิ่งที่เรารู้จนถึงขณะนี้ การฝึกอดอาหารไม่สม่ำเสมอในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น 3 เดือน หรือ 6 เดือน น่าจะมีประโยชน์ในการลดน้ำหนักและปรับปรุงสุขภาพหัวใจและระบบเผาผลาญ อย่างไรก็ดี การฝึกอดอาหารเป็นระยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับประทานอาหารที่จำกัดเวลา 8 ชั่วโมงเป็นเวลานาน อาทิ หลายปี (ผู้ใช้วิธีการดังกล่าว) ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของเรา” จงกล่าวเสริม

จงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการระมัดระวังก่อนตีความผลลัพธ์ของผลการวิจัยนี้ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่การ์ดเนอร์ระบุว่า ในขณะนี้ยังคงเร็วเกินไปที่จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานอาหารแบบจำกัดเวลา โดยอิงจากการศึกษาวิจัยเพียงชิ้นเดียว นอกจากนี้ การค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานอาหารแบบจำกัดเวลากับการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ไม่ได้หมายความว่าการรับประทานอาหารเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต

“จากหลักฐาน ณ ขณะนี้ การมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่ผู้คนกินดูเหมือนจะสำคัญกว่าการมุ่งเน้นไปที่เวลาที่พวกเขากิน” จงกล่าว


ที่มา:

https://www.sciencefocus.com/news/intermittent-fasting-cardiovascular-risk-2

https://newsroom.heart.org/news/8-hour-time-restricted-eating-linked-to-a-91-higher-risk-of-cardiovascular-death?fbclid=IwAR1G43EKnglIpvUKeCClaefmP-H8p3JpSswXnuG_lDqXi8QFXkUUxE51Juc