ไม่พบผลการค้นหา
เอกชน-รัฐบาล ร่วมมือ วิจัยพัฒนายานยนต์ไทย หวังนำเทคโนโลยีเข้ามาผลักดันความสามารถในการแข่งขันของ 'อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย'

ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งประเทศไทยเคยได้รับการขนานนามว่าเป็น 'เสือตัวที่ 5' แห่งเอเชีย ในเวลานั้นวงการอุตสาหกรรมของประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบเติบโตจากทั้งการขายรถยนต์ในประเทศ รวมทั้งการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังตลาดต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2560 เป็นต้นมา ยอดการส่งออกรถยนต์ของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขการส่งออกรถยนต์ในปี 2560 ของไทยอยู่ที่ 1,139,696 คัน ขณะที่ตัวเลขการส่งออกในปี 2561 อยู่ที่ 1,100,000 คัน ลดลงร้อยละ 3.48 และแม้ว่าในมิติด้านชิ้นส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์จะยังเติบโตได้ค่อนข้างดี โดยมีมูลค่าการส่งออกในปี 2560 อยู่ที่ 9,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3.1 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่า 9,032.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 2.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.61

รถยนต์

แต่ก็เริ่มมีสัญญาณเตือนถึงการชะลอตัวเช่นกัน โดยมูลค่าการส่งออกของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ในไตรมาสที่ 1/2562 มีมูลค่า 2,393.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสที่ 4/2561 ร้อยละ 3.17 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.66

ขณะที่ ไทยยังต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งคนสำคัญอย่างเวียดนามและอินโดนีเซียที่มีค่าแรงต่ำกว่ามาก ขณะที่มาเลเซียก็มีข้อได้เปรียบเรื่องการวิจัยและพัฒนาที่ดีกว่าไทย

อยากอยู่รอดต้องพัฒนาก้าวสู่อุตสาหกรรมใหม่

ตามเอกสารกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) ชีี้ว่า หากพิจารณาผลการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3 ต่อปี ส่วนการลงทุนเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2 ต่อปี ขณะที่ มูลค่าการส่งออกภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.4 ต่อปี และผลิตภาพรวมภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.7 ต่อปี

ตัวเลขดังกล่าวเป็นการสะท้อนขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยที่กำลังมีปัญหาและเป็นสัญญาณเตือนว่าการดำเนินนโยบายรูปแบบเดิมไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการปรับรูปแบบการดำเนินนโยบายเพื่อผลักดันเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมของไทย

ดังนั้น ในยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) ที่มุ่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยปัญญาและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก จึงบัญญัติ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve)

นิสสัน-นิสสัน ลีฟ-เครื่องชาร์จ-รถยนต์ไฟฟ้า-รถยนต์-คาร์บอน-EV

หนึ่งในนั้นคือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) ได้แก่ การผลิตเครื่องยนต์และชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ผลิตชิ้นส่วนความปลอดภัยและประหยัดพลังงาน ผลิตอุปกรณ์สำหรับรถยนต์ไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้า ผลิตยางล้อ ผลิตชิ้นส่วนระบบเชื้อเพลิง ผลิตชิ้นส่วนระบบส่งกำลัง ผลิตรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมของไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ในเชิงคุณภาพ เนื่องจากไทยไม่สามารถย้อนกลับไปแข่งกับประเทศเพื่อนบ้านในมิติของสินค้าราคาถูกได้อีกต่อไป เพราะนั่นจะเป็นการทำให้ไทยยิ่งติดอยู่กับกับดักรายได้ปานกลาง

เอกชนทำอะไรอยู่

หนึ่งการเคลื่อนไหวล่าสุดที่ดูจะสร้างความหวังให้วงการอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของไทยได้ คือการร่วมมือระหว่าง บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT, บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อดำเนินการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรม ประกอบกับยังมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการออกแบบ วิจัย พัฒนา และผลิตเป็นยานพาหนะสมัยใหม่ (Modern Transportation) เช่น เรืออลูมิเนียม รถโดยสารอลูมิเนียม และยานยนต์ประเภทอื่นที่มีการใช้เทคโนโลยีอย่างครบวงจร

เรือ

ความร่วมมือระหว่างเอกชนและภาครัฐในครั้งนี้ ถือเป็นแนวโน้มที่ดีในการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะนำมาปรับใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย โดย 'วีรพลน์ เตชะผาสุขสันติ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ไทยไม่เคยมีรถในแบรนด์ของตัวเองไม่ใช่ปัญหาเรื่องเงินทุน ที่ใช้งบประมาณ 15,000 ล้านบาท ในการสร้างรถยนต์หนึ่งคัน แบ่งเป็น 2,500 ล้านบาทเพื่อการวิจัยและพัฒนา 2,500 ล้านบาทเพื่อการตกแต่งภายใน และอีก 10,000 ล้านบาท ในการสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ แต่สิ่งที่วงการอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยขาดมาตลอดคือ ข้อจำกัดทางเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การออกแบบตัวรถยนต์ การทำแม่พิมพ์ชั้นสูง

นายวีรพลน์ เตชะผาสุขสันติ
  • วีรพลน์ เตชะผาสุขสันติ ซีอีโอ บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด

เขาย้ำว่า กลุ่มบริษัทของตนมีการพัฒนาเทคโนโลยีและความรู้การขึ้นรูปโลหะชั้นสูง จนเป็นที่ยอมรับจากหลายค่ายรถชั้นนำ รวมถึงผันตัวเองมาพัฒนาการออกแบบกระบวนการผลิต จนสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนสูงได้ด้วยตัวเองทั้งหมด เช่น เรือ และ รถโดยสาร ที่สามารถวางขายในเชิงพาณิชย์ภายใต้แบรนด์ไทยได้ 

อย่างไรก็ตาม ก็ยังเห็นช่องว่างด้านองค์ความรู้และมองถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยหลักของประเทศ อย่าง สวทช. เพื่ออาศัยผู้ชำนาญการสร้างระบบจัดองค์ความรู้ระดับสูงที่ได้พัฒนาขึ้นมา ให้อยู่ในรูปแบที่เป็นสากล สามารถถ่ายทอดและพัฒนาต่อเนื่องอย่างเป็นรูปแบบได้ อีกทั้งยังสามารถนำเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาโดยคนไทยและนักวิจัยเข้ามาใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกด้วย 

"พอทำรถยนต์ได้ การทำเรือหรือรถไฟต่อ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก" วีรพลน์ กล่าว

ด้าน 'ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล' ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช. เป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างคุณค่าของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี แต่งานวิจัยอย่างเดียวไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ทางเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจได้ การร่วมมือกับภาคเอกชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล
  • ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช.

สำหรับการร่วมมือกันครั้งนี้ สวทช. จะถือหุ้นราวร้อยละ 10 ซึ่งจะทำให้มีความสามารถในการกำหนดนโยบายของบริษัทในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ พร้อมชี้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่ใช่อุตสาหกรรมแรกที่ สวทช. เข้าไปมีบทบาทในฐานะผู้ถือหุ้น และจะไม่ใช่อุตสาหกรรมสุดท้ายที่ได้รับการช่วยเหลือด้านองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การร่วมมือกันระหว่างองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านงานวิจัยและพัฒนากับภาคเอกชนที่มีงบประมาณและประสบการณ์ในการทำธุรกิจ อาจทำให้เสือตัวที่ 5 ของเอเชียที่ตายไปแล้วฟื้นคืนชีพกลับมาได้ไม่ยาก ในเงื่อนไขที่รัฐบาลมองเห็นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นเรื่องสำคัญอันดับที่หนึ่งมากกว่าตัวเลขงบประมาณ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :