ณ วันที่บริษัทซึ่งเติบโตมาจากการรับจ้างจัดปาร์ตี้วันเกิดด้วยทุนเริ่มต้น 50,000 บาท ก่อนผันมาเป็นผู้นำเข้าอีเวนต์เทศกาลดนตรีอีดีเอ็มรายแรกของไทย ทั้ง S20 และ Waterzonic จนมีรายรับเกือบ 500 ล้านบาท ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาดที่พุ่งเป้ากระทบสายอาชีพที่ทำเงินจากการใกล้ชิดของผู้คนเป็นอันดับแรก บาส - เทพวรรณ คณินวรพันธุ์ ซีอีโอ ของ ZAAP PARTY ถึงกับยอมรับว่า "ไปต่อกันแทบไม่เป็น"
รายได้ของ ZAAP ทั้งในฐานะ 'ออแกไนเซอร์' และ 'โปรโมเตอร์' ในไตรมาส 1-2 หายไปเกือบ 80% เมื่อเทียบกับรายรับของปี 2562 สืบเนื่องจากผลพวงของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด
ระหว่างช่วงสุญญากาศ 'บาส' ยอมรับว่าเป็นช่วงที่ต้องมีการปรับตัว แม้จะไม่ใช่บริษัทขนาดใหญ่ แต่การบอกลาก็เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยปัจจุบันเหลือทีมงานอยู่ราว 50 คน โดยเฉพาะฝั่งครีเอทีพที่ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง
ซีอีโอหนุ่มกล่าวว่า หน้าที่ของทุกคนคือการคิดงานภายใต้กรอบ 'Social Distancing' หรือ การเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่ว่า ณ จุดนั้นบริษัทจะขายงานได้หรือไม่ ทีมครีเอทีพก็ยังคงคิดธีมงานที่ยืนอยู่บนฐานความปลอดภัยเพื่อหวังว่าวันหนึ่งที่มีผู้สนับสนุนเข้ามา บริษัทจะมีไอเดียไว้พร้อมให้ "ชอปปิง"
หลังผ่านพ้นช่วงหยุดชะงัก ZAAP เริ่มกลับมาทำงานในมิติของออแกไนเซอร์อีกครั้งกับโปรเจกต์ 'Amazing Thailand TUK TUK Festival by Chang Music Connection' เมื่อต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา บนลานกว้างของศูนย์การค้าเอเชียทีคเดอะริเวอร์ฟร้อนท์
เทพวรรณ ชี้ว่า แนวคิดในการจัดงานที่ต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคมแต่ยังคงมอบความสุขของการมาชมคอนเสิร์ตในครั้งนี้โดยหยิบรถตุ๊กตุ๊กมาเป็นธีมหลัก ได้ไอเดียจากกระแส Drive-in Theater และ Drive-in Music Festival ในต่างประเทศซึ่งกำลังเป็นที่นิยมและคนไทยเริ่มหันมาให้ความสนใจ
บาส บอกว่าแม้จะเป็นการนำไอเดียจากต่างประเทศมาใช้ แต่ก็ต้องมีการใส่ความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหาที่เหมาะกับประเทศไทยเข้าไป
นอกจากนี้ อีกหนึ่งอีเวนต์ที่เพิ่งจบไปก็คือ โปรเจกต์ 'Social This Camping' ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ผู้สนใจไปตั้งแคมป์ ณ จังหวังเชียงราย พร้อมกับรับชมคอนเสิร์ตในที่เดียว
"ทำไมเพื่อนเขาไปตั้งแคมป์กันหมดเลย เกิดอะไรขึ้น ทำไมคนไปซื้อของตั้งแคมป์กัน งานบ้านและสวนโซนตั้งแคมป์คนต่อแถวกันเยอะมาก มันเกิดอะไรขึ้น แสดงว่าเทรนด์เหล่านี้มันมา เราก็แค่ไปอยู่ในจุดที่มันมาตอนนั้นและเราก็สร้างอีเวนต์ให้มันเหมาะ เช่น Social This Camping ก็มาจาก Social Distancing แล้วก็เปลี่ยนเป็น Camping" ซีอีโอหนุ่มเล่าถึงแนวคิดและความนิยมของคนในปัจจุบัน
เขาอธิบายว่ากลยุทธ์สำหรับธุรกิจอีเวนท์ตอนนี้ไม่ใช่การพยายามเป็นผู้นำเทรนด์อีกต่อไป เพราะเงื่อนไขความปลอดภัยที่ไม่เอื้อให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ บริษัทต้องปรับตัวมาเป็นผู้ตามเทรนด์ โดยจับให้ได้ว่าเทรนด์อยู่ตรงไหนแล้วจึงไปสร้างงานที่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้บริโภค
"นำเทรนด์ ต้องนำคนหมู่มาก แต่วันนี้เราต้องเลือกตาม"
มุมมองการทำเงินของบริษัทต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมเช่นเดียวกัน เทพวรรณ ชี้ว่า ปกติเงินส่วนหลักจะมาจากการขายบัตรเข้าชมงาน แต่เพราะเงื่อนไขปัจจุบัน ทำให้ตัวเลขผู้เข้าชมถูกจำกัดจากกฎความปลอดภัย บริษัทจึงต้องปรับไปที่การทำงานร่วมกับสปอนเซอร์ เพื่อให้อีเวนต์เข้าไปตอบโจทย์สินค้าของสปอนเซอร์และให้สปอนเซอร์ยอมที่จะจ่ายเงินมากขึ้นแทน
ดังนั้นบางงาน จึงไม่มีการเก็บค่าบัตรเข้าชมเพราะ "เก็บแต่ค่าบัตรเหมือนเดิม ถ้าคนซื้อน้อยลง เราก็เจ๊งอยู่ดี"
ผู้ก่อตั้ง ZAAP ย้ำว่า ที่ผ่านมาบริษัทเป็นเพียงเอกชนรายเล็กที่ไม่เคยเข้าถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐ มีเพียงแค่ในช่วงโรคระบาดที่ได้เข้ามาทำงานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยการช่วยเหลือจากผู้อื่นอีกที
เทพวรรณ เชื่อในศักยภาพของคนรุ่นใหม่ในบริษัทออแกไนเซอร์รายเล็กต่างๆ ว่าสามารถช่วยยกระดับเศรษฐกิจได้จริง ทั้งกรณีงาน Social This Camping ที่จะกระตุ้นให้คนเดินทางไปจังหวังเชียงราย มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ หรือแม้แต่งาน TUK TUK Fest ที่ช่วยให้ผู้ขับรถตุ๊กตุ๊กซึ่งประสบปัญหาอย่างหนักมีรายได้เพิ่มขึ้นมา
"เราต้องขอความร่วมมือจากทางภาครัฐมากขึ้น เมื่อก่อนเราเองไม่ค่อยมีโอกาสได้ตรงนี้ เราต้องการมากๆ ที่จะให้ทางภาครัฐมาสนับสนุน ไม่ต้องถึงกับครอบคลุม นั่นเป็นหน้าที่เอกชนที่ต้องเดินหาสปอนเซอร์มาช่วยอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยสักส่วนหนึ่งก็ยังดี"
เทพวรรณ ทิ้งท้ายว่า เชื่อมั่นในพลังของวัยรุ่น และเชื่อว่าบริษัทออแกไนเซอร์รายเล็กจะสามารถช่วยกันกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านงานที่ตนเองถนัดได้ คือการสร้างอีเวนต์ที่ดึงดูดคนในวัยเดียวกันให้ออกไปใช้เงินพร้อมได้รับความคุ้มค่าตอบแทนกลับมาได้อย่างแน่นอน เพียงแต่สิ่งเหล่านี้ทุกฝ่ายต้องเข้ามาช่วยกัน โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาล