ไม่พบผลการค้นหา
'จากเทียร์ 2' สู่ 'เทียร์ 2 เฝ้าระวัง' สหรัฐฯ ลดอันดับการค้ามนุษย์ในไทย อยู่ในระดับเดียวกับกัมพูชา-เวียดนาม เหตุไม่คืบหน้าปราบปรามค้ามนุษย์

1 กรกฏาคม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เผยรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ประจำปี 2564 หรือ Trafficking in Persons Report โดยในปีนี้สหรัฐฯ ได้ลดอันดับให้ไทยอยู่ในระดับที่เทียร์ 2 ประเทศที่ต้องจับตา ซึ่งเป็นระดับเดียวกับ กัมพูชา และเวียดนาม จากก่อนหน้านี้ไทยเคยถูกจัดอันดับอยู่ในระดับเทียร์ 2 (Tier 2)

รายงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า สาเหตุที่ไทยถูกลดอันดับนั้น เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการกำจัดการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่ แม้ว่ารัฐไทยจะมีความพยายามดำเนินการปรับปรุงและประสานงานกับภาคประชาสังคมในการสืบสวนการค้ามนุษย์และคุ้มครองเหยื่อผู้เสียหายก็ตาม ทั้งยังมีการจัดฝึกอบรมและประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับอัยการและผู้พิพากษาที่เกี่ยวกับข้องกับการพิจารณาคดีค้ามนุษย์ รวมถึงเริ่มดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คนที่ถูกกล่าวหาในการค้ามนุษย์ก็ตาม 

อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยยังไม่ได้แสดงความพยายามมากพอ หากเทียบกับรายงานของปีก่อนหน้า แม้แต่การจะพิจรณาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการค้ามนุษย์เช่นกัน

สหรัฐฯ พบว่ารัฐบาลไทยเปิดการสอบสวนการค้ามนุษย์ที่ลดน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งยังดำเนินคดีและตัดสินโทษต่อผู้ต้องหาในการค้ามนุษย์ที่ลดลดอย่างมีนัยยะสำคัญเช่นกัน นับตั้งแต่ปี 2562 แม้จะมีรายงานอย่างกว้างขวางว่าการบังคับใช้แรงงานเป็นที่แพร่หลายในหมู่แรงงานข้ามชาติในหลายอุตสาหกรรมของไทย แต่รัฐบาลกลับระบุเหยื่อการค้ามนุษย์นั้นมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับขอบเขตของปัญหา อีกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐขาดความเข้าใจเรื่องการค้ามนุษย์ และรัฐบาลยังขาดขั้นตอนมาตรฐานสำหรับผู้ตรวจแรงงานในการส่งต่อคดีไปยังหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย

ทางการไทยยังไม่เคยรายงานการระบุตัวเหยื่อการบังคับใช้แรงงานในภาคประมงที่ท่าเรือ การให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อยังไม่เพียงพอ เหยื่อบางรายที่อาศัยอยู่ในที่พักพิงของรัฐยังขาดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวการทุจริตและการสมรู้ร่วมคิดที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้สหรัฐฯ จัดอันดับให้ไทยอยู่ในระดับเทียร์ 2 ประเทศที่ต้องเฝ้าจับตา

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า สถานการณ์ระบาดของ โควิด-19 ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อหนุนให้ปัญหาการค้ามนุษย์มีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีการโยกย้ายทรัพยากรบุคคล และอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ไปสนับสนุนการทำงานด้านสาธารณสุขและสังคมเพื่อต่อสู้กับการระบาด กลายเป็นช่องว่างให้ขบวนการค้ามนุษย์ใช้ประโยชน์จากคนที่อ่อนแอได้โดยง่าย 

ขณะเดียวกันในรายงานดังกล่าวยังมี 6 ประเทศที่ถูกลดระดับจากเทียร์ 1 มาอยู่ที่เทียร์ 2 คือ อิสราเอล นิวซีแลนด์ ไซปรัส นอร์เวย์ โปรตุเกส และสวิตเซอร์แลนด์ ขณะที่ประเทศในกลุ่มเทียร์ 3 อันได้แก่ เกาหลีเหนือ อัฟกานิสถาน เมียนมา จีน คิวบา เอริเทรีย อิหร่าน รัสเซีย ซูดานใต้ ซีเรีย และเติร์กเมนิสถาน