ไม่พบผลการค้นหา
ชะตากรรมของ 'ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์' ในการทวงความยุติธรรมให้ 'สุรชัย แซ่ด่าน' หลังถูกบังคับสูญหาย และภาระหนี้สิน 500,000 บาท จากค่าปรับนายประกัน คดีล้มประชุมอาเซียนพัทยา

เป็นเวลาเกือบ 5 ปีแล้ว ที่ ‘ป้าน้อย’ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของ ‘สุรชัย แซ่ด่าน’  ต้องจ่ายเงิน 3,000 บาททุกเดือน เพื่อเป็นค่าปรับนายประกัน กรณีสุรชัยไม่มาตามหมายเรียกของศาล คดี ‘ล้มประชุมสุดยอดอาเซียนพัทยา’ ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2552 สาเหตุเพราะเขาได้กลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในประเทศลาว กระทั่งสูญหายไปเมื่อปลายปี 2561

เธอต้องจ่ายเงินค่าปรับเช่นนี้เป็นเวลา 150 เดือน จากยอดค่าปรับทั้งหมด 500,000 บาท (ศาลยึดเงินสดไปแล้ว 50,000 บาท เหลือเงินที่ต้องผ่อนชำระ 450,000 บาท)

251,000 บาท คือจำนวนเงินที่ปราณีจ่ายค่าปรับไปแล้ว ตลอดเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา เหลือที่ต้องชำระอีก  199,000 บาท 

ปราณีไม่มีรายได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เธออาศัยเงินผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท และเงินขายของเล็กน้อยสำหรับประทังชีวิตและทวงถามความยุติธรรมให้สามีที่ถูกบังคับให้สูญหาย 

“มันกระทบชีวิตป้ามาก เพราะป้าไม่มีรายได้ เมื่อก่อนป้าเคยเป็นครู พอมาอยู่กับคุณสุรชัยตั้งแต่ปี 2541 ป้าก็ไม่ได้ทำงาน ตอนนั้นคุณสุรชัยก็ได้เงินจากการขายเสื้อ ขายหมวก ขายหนังสือ และเป็นวิทยากรที่ต่างๆ แล้วแต่ว่าใครจะชวนไป แต่ตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ ป้าก็ขายอะไรแทบไม่ได้เลย แทบไม่มีเงินมาจ่ายค่าปรับ 

“บางทีป้าก็เลยโพสต์เฟซบุ๊กขอให้มาช่วยซื้อของหน่อย แต่ช่วงหลังนี้ขายไม่ได้เลย มวลชนก็ตกงานกันเยอะ มันเดือดร้อน แบ่งบ้านให้เขาเช่า แรกๆ ก็ได้เงินบ้าง ไม่ได้เงินบ้าง เขาเบี้ยวจ่ายบ้าง ป้าก็ได้แค่เบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาท แล้วก็ค่าเช่าที่ดินที่ติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์นิดหน่อย มันก็ยากลำบาก เพราะรายได้หลักอยู่ที่คุณสุรชัย” 

ปราณีในวัย 64 ปี ยังคงตามหาสามีที่สูญหาย พร้อมๆ กับตามติดคดีความที่เงียบเชียบ เธอแบกภาระหนี้สินมหาศาลจากคำสั่งศาล ไร้การเยียวยาเหลียวแลจากหน่วยงานรัฐ จากวันนั้นถึงวันนี้ 

นางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของนายสุรชัย แซ่ด่าน  นำชุดและหมวกดาวแดงรวมถึงผ้าขาวม้าที่นายสุรชัยชอบใช้เป็นประจำมาจัดแสดงในนิทรรศการพร้อมทั้งกล่าวความรู้สีกถึงนายสุรชัย.jpg
สามี นักสู้ และผู้สูญหาย

ปี 2516 สุรชัย เป็นที่รู้จักในวงนักต่อสู้ทางการเมือง ในฐานะผู้ร่วมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย จากจอมพลถนอม กิตติขจร และเป็นนักกิจกรรมที่เข้าไปเคลื่อนไหวกับชาวบ้านที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในหลากหลายพื้นที่ 

ที่สุดแล้ว สุรชัย ต้องหลบหนีเข้าป่าไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นเวลาถึง 5 ปี และเมื่อออกจากป่า สุรชัย ต้องคดีความอีกหลายกระทง อาทิ เผาจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ปล้นรถไฟ และฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยข้อหาที่กล่าวมานั้น สุรชัยพยายามสู้คดีว่าตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ทว่าในท้ายที่สุด เขาก็ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต (ติดจริง 16 ปีตั้งแต่ปี 2524-2539 จากการได้รับอภัยโทษหลายครั้ง) 

ปี 2552 รัฐบาลไทยซึ่งมี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่โรงแรมรอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท ณ เมืองพัทยา (วันที่ 9-12 เม.ย. 2552) เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะตึงเครียดทางการเมือง จากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้อภิสิทธิ์ลาออกจากการเป็นนายกฯ หรือยุบสภาฯ เพื่อให้มีการจัดเลือกตั้ง สส.ใหม่ โดยให้เหตุผลว่าอภิสิทธิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและระบอบประชาธิปไตย 

หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญคือ วันที่ 10 เม.ย. 2552 อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำน ปช. นำขบวนคนเสื้อแดง ได้มุ่งหน้าไปยังโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท   โดยอริสมันต์กับพวกสลับขึ้นปราศรัยโจมตีรัฐบาลบริเวณหน้าโรงแรม และเข้ายื่นหนังสือคัดค้านการประชุมเนื่องจากอภิสิทธิ์ ไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นตัวแทนประเทศไทยในการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน พร้อมกับขอเข้าไปแถลงข่าวที่อาคารศูนย์ประชุมพีชของโรงแรม

จากนั้นขบวนได้เคลื่อนกลับไปยังลานประชาธิปไตย (หลังห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาพัทยาเหนือ) ระหว่างทางมีการปะทะกับกลุ่มคน ‘เสื้อน้ำเงิน’ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

ในวันต่อมา 11 เม.ย. 2552 มีกลุ่มคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งเดินทางกลับไปประท้วงยังโรงแรมรอยัล คลิฟ บีชฯ อีกครั้งนำโดยอริสมันต์ ระหว่างทางมีการปะทะกับกลุ่มคน ‘เสื้อน้ำเงิน’ อีกครั้งหนึ่งและมีผู้ไดัรับบาดเจ็บ เมื่อไปถึงโรงแรมอริสมันต์กับพวกเข้าไปแถลงข่าวในอาคารศูนย์ประชุมว่า กลุ่มคนเสื้อแดงถูกกลุ่มคนเสื้อน้ำเงินทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ พร้อมก้บเรียกร้องให้รัฐบาลติดตามจับคนร้ายให้ได้ภายใน 1 ชั่วโมง ต่อมากลุ่มคนเสื้อแดงได้กรูกันเข้าไปในอาคารศูนย์ประชุมเพื่อค้นหาตัวอภิสิทธิ์ ด้านรัฐบาลได้เลื่อนการประชุมและนำพาผู้นำประเทศต่างๆ หลบหนีกลุ่มคนเสื้อแดงออกจากโรงแรมไปทางทะเลและทางอากาศยาน อีกทั้งได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในเขตเมืองพัทยา 

"คุณสุรชัยได้ตามไปวันที่ 11 เม.ย. 2552 โดยไปกับกลุ่มเสื้อแดง กลุ่มแท็กซี่ ประมาณ 50 คน ตอนนั้นไปกันหลายกลุ่ม แต่กลุ่มของคุณสุรชัยไม่ได้เคลื่อนไปตรงบริเวณโรงแรม แต่อยู่แถวตีนเขา (โรงแรมตั้งอยู่บนเขา) และในวันนั้นคุณสุรชัยโดน คฝ. ควบคุมตัว จะถอยก็ไม่ได้"

"มีตำรวจนายหนึ่งเข้าแจ้งความเท็จ โดยเอาคุณสุรชัยและเพื่อน 2 คน (พันตำรวจเอกสมพล รัตธการ อดีตผู้กำกับการ สภ.ไชยา สุราษฎร์ธานี และ พันตำรวจโทเสงี่ยม สำราญรัตน์ แกนนำ นปช.​)  โดยทั้งสามคนไม่ได้เข้าไปในโรงแรมแต่อย่างใด แต่ตำรวจนายนั้นก็เอาชื่อทั้งสามคนเข้าไปอยู่ในกลุ่มของคุณอริสมันต์ รวมแล้วได้มีการยื่นฟ้องอริสมันต์และพวกรวม 18 คนโดยมีคุณสุรชัยรวมอยู่ในนั้นด้วย” ปราณีเล่า 

เหตุการณ์ล้มประชุมอาเซียนในปี 2552 กลายเป็นคดีติดตัวที่สุรชัยต้องต่อสู้ ในขณะที่ในปี 2554 สุรชัยถูกตัดสินจำคุก 12 ปี 6 เดือน ด้วยคดีมาตรา 112 จำนวน 5 คดี   (แต่ได้ขออภัยโทษพิเศษรายบุคคล ทำให้ได้ลดโทษลงมาเหลือ 2 ปี 7 เดือน และได้รับอิสรภาพเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2556) 

ระหว่างถูกจำคุกด้วยคดี 112 สุรชัยก็ยังต้องต่อสู้กับคดี ‘ล้มประชุมอาเซียนพัทยา’ ไปด้วย ปราณีเล่าว่า ในคดีพัทยาสามีของตนตั้งใจสู้คดีและฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ตำรวจข้อหาแจ้งความเท็จด้วย

"คุณสุรชัยบอกว่า นี่คือการแจ้งความเท็จ และมีการนำพยานเท็จเข้ามา คุณสุรชัยซึ่งตอนนั้นถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คดี ม. 112 แล้วก็ถูกแจ้งข้อหาคดีล้มประชุมอาเซียนที่พัทยาด้วย สุดท้ายก็ต้องมีการขอประกันตัวในคดีที่พัทยา"

"คุณสุรชัยได้ขอให้คุณดุสิต แซ่ด่าน เป็นนายประกันให้ จำนวน 500,000 บาท แต่ด้วยตำแหน่งของคุณดุสิตที่รับราชการอยู่สามารถวางประกันได้แค่ 450,000 บาท ป้าก็เลยต้องไปหาเงินอีก 50,000 บาทมาโปะ ระหว่างคุณสุรชัยยังอยู่ในเรือนจำคดี 112 ศาลพัทยาก็เรียกตัวคุณสุรชัยไปสอบ 2 ครั้ง ป้าก็ตามไปดูแลคุณสุรชัย หลังจากนั้น คุณสุรชัยได้รับอภัยโทษพิเศษคดี ม. 112 ในวันที่ 4 ตุลาคม 2556" 

หลังพ้นโทษคดี 112 จากการขออภัยโทษพิเศษรายบุคคลในเดือนตุลาคม 2556 ปราณีเล่าว่า สุรชัยตั้งใจสู้คดีพัทยาและฟ้องกลับสำนักงานตำรวจแแห่งชาติ (สตช.) เพื่อเป็นคดีตัวอย่างในการใช้กฎหมายกลั่นแกล้งทางการเมือง เขาพยายามรวบรวมพยานหลักฐานที่พิสูจน์ว่า ตนไม่ได้ขึ้นไปบุกโรงแรมในช่วงที่มีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนแต่อย่างใด กระบวนการทางคดีดำเนินไปอย่างช้าๆ 

ทว่า 20 พ.ค. 2557  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ประกาศกฏอัยการศึกเวลา 03.00 น. สุรชัยได้ตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปยัง สปป.ลาว และอีก 2 วันถัดมา ประยุทธ์ก็ได้ทำรัฐประหาร ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในที่สุด 

“หลังลี้ภัย ศาลที่ทำคดีล้มประชุมอาเซียนก็ยังไม่ตัดสินคดีคุณสุรชัย เพียงแต่จําหน่ายคดีชั่วคราว ส่วนจำเลยคนอื่นๆ ก็มีติดคุกหลายคน คุณสุรชัยไม่ได้ไปขึ้นศาล ตอนศาลเรียกตัวคุณสรุชัยเขาก็ลี้ภัยอยู่”

“จนธันวาคม 2561 ศาลได้สั่งปรับนายประกัน 500,000 บาท โดยยึดเงินสดไป 50,000 บาท เหลือที่ต้องจ่ายให้ศาล 450,000 บาท เพราะคุณสุรชัยไม่มาขึ้นศาลตามคำสั่ง ตอนนั้นเรายังติดต่อคุณสุรชัยได้ เขาก็รับทราบเรื่องนี้ และได้บอกกับนายประกันว่าจะรับผิดชอบเองแต่ขอผ่อนชำระกับศาลให้น้อยที่สุด เพราะหวังว่าจะมีนิรโทษกรรมแล้วคุณสุรชัยจะกลับมาฟ้องคดีกลับ ตอนนั้นเขายังเข้าใจว่าอาจมีการนิรโทษกรรมคดีการเมืองอยู่” 

"ทีแรกศาลจะให้ผ่อนเดือนละ 10,000-20,000 นู่นเลยนะ แต่เราไม่มี สุดท้ายศาลก็เมตตาให้จ่ายเดือนละ 3,000 บาท โดยต้องจ่ายภายในวันที่ 28 ของทุกเดือน ห้ามขาดแม้แต่เดือนเดียว ไม่เช่นนั้นนายประกันจะมีความผิด ป้าเริ่มจ่ายวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นเดือนแรก คุณสุรชัยก็รับทราบ โดยคนที่ต้องรับผิดชอบจ่ายเงินเหล่านี้คือครอบครัว เพราะนายประกัน (ดุสิต แซ่ด่าน) ไม่ได้เป็นญาติจริงๆ แล้วเขาก็คงไม่คิดว่าจะมีเหตุให้ต้องลี้ภัย สุดท้ายป้าก็ต้องรับผิดชอบ" 

“สิ้นปีนี้ ครบ 5 ปีที่คุณสุรชัยหายสาบสูญ ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็มาพบป้าเพื่อปรึกษาว่า จะทำเรื่องขอคำสั่งศาลเพื่อระบุว่าคุณสุรชัยเป็นผู้สาบสูญจะได้ไม่ต้องผ่อนชำระต่อ ทนายบอกป้าว่า กระบวนการนี้ใช้เวลา 1-6 เดือนกว่าจะได้เอกสาร จากนั้นเอาเอกสารไปยื่นที่ศาลพัทยา การพิจารณาน่าจะใช้เวลาอีก 1-6 เดือน แปลว่าป้าก็ยังต้องจ่ายเงินอยู่เรื่อยๆ อย่างน้อยอีก 1 ปี หรือถ้าศาลพัทยามีคำสั่งให้จ่ายเงินค่าปรับต่อไป ป้าก็ยังต้องจ่ายจนครบ”

“แปลว่าป้าจะหยุดจ่ายไม่ได้ จนกว่าจะมีคำสั่งศาลว่าคุณสุรชัยเป็นผู้หายสาบสูญ และต้องรอคำสั่งศาลพัทยาให้หยุดจ่ายได้เท่านั้น” ปราณี เล่า

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 61 ระบุว่า ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้ 

เมื่อตกเป็นบุคคลสาบสูญแล้วสถานะทางกฎหมายเท่ากับ ‘เสียชีวิต’

แต่เนื่องจากกรณีการหายไปของสุรชัย ไม่มีการพบศพที่สามารถยืนยันการเสียชีวิต อีกทั้งปราณีเคยไปร้องทุกข์ที่ สตช. แต่ตำรวจได้ปฎิเสธว่าศพที่พบที่แม่น้ำโขงนั้นไม่ใช่สุรชัย อีกทั้งยังเชื่อว่า สุรชัยยังมีชีวิตอยู่และยังเคลื่อนไหวอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันสถานะของการหายไปจึงไม่คืบหน้า การเยียวยาใดๆ ก็ไร้วี่แวว รวมถึงความยุติธรรมที่ยังไม่ปรากฏแก่ครอบครัว

สุรชัย แซ่ด่าน กาสะลอง สหาย รำลึก 44d1c042e30b936d47328c.jpg


ความยุติธรรมที่ไร้ ‘ร่าง’ รอย

9 ธันวาคม 2561 คือวันสุดท้ายที่ปราณีได้ติดต่อกับสามี  หลังจากนั้น มีรายงานข่าวพบ 2 ศพถูกมัดใส่กระสอบลอยมาริมตลิ่งแม่น้ำโขง จังหวัดนครพนม และต่อมาพบศพที่ 3 ในจุดไม่ไกลกัน แต่ศพได้สูญหายไป หลังการตรวจสอบ DNA ของ 2 ศพพบว่า คือร่างของภูชนะและกาสะลอง คนสนิทของสุรชัยที่ลี้ภัยไปอยู่ลาวด้วยกัน 

ปี 2562 ปราณีจึงเดินทางไปร้องทุกข์ยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม เพื่อขอความอนุเคราะห์จากกองทุนยุติธรรมในการผ่อนจ่ายค่าปรับนายประกันของศาลพัทยา แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ เหตุเพราะกรณีนี้เป็นการเสียค่าปรับ ไม่ใช่วางเงินค่าประกันตัวตามหลักเกณฑ์กองทุนยุติธรรม

 นอกจากนี้ทั้ง ปราณี และ กัญญา ธีรวุฒิ มารดาของ ‘สยาม ธีรวุฒิ’ ผู้ต้องหาคดี 112 จากการแสดงละครเวทีเรื่อง ‘เจ้าสาวหมาป่า’ และผู้ถูกบังคับสูญหายไปในปี 2562  ได้เข้าเข้ายื่นเรื่องเพื่อขอรับการเยียวยาในฐานะที่เป็นผู้เสียหายในคดีอาญา ตามพ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ในระหว่างที่ตามหาสุรชัยและสยามที่เชื่อว่าถูกบังคับให้สูญหายในเวลาใกล้ๆ กัน

“ป้ายื่นขอเยียวยาไปทั้งหมด 2 ครั้ง ในชั้นต้นเขาก็ปฏิเสธการจ่าย เพราะไม่เข้ามาตรา 3 ที่ว่า ไม่มีความชัดเจนว่าคุณสุรชัยยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว แล้วเขาก็บอกว่า ถ้าไม่พอใจคำตัดสิน ก็ให้ป้าไปยื่นอุทธรณ์พร้อมกับกรณีของแม่น้องสยาม (สยาม ธีรวุฒิ)” ปราณีกล่าว

ต่อมา 23 มี.ค. 2566 ปราณีและกัญญาได้ยื่นอุทธรณ์คำนิวิจฉัยต่อคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ ผลปรากกฏว่า 27 ก.ค.2566 คณะกรรมการฯ ให้ยกอุทธรณ์​ เนื่องจากเห็นว่ายังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงแน่ชัดว่าสุรชัย แซ่ด่าน ได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต  ร่างกาย หรือจิตใจ จึงไม่เข้าข่าย 'ผู้เสียหาย' ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัตินี้ 

“ป้าเลยยื่นอุทธรรณ์ไปอีกครั้งเมื่อสองเดือนก่อน แล้วเขาก็ตอบเอกสารกลับมาวันที่ 10 ส.ค. 2566  แล้วก็เพิ่งมาถึงป้าประมาณวันที่ 23 ส.ค.บอกว่าถ้าไม่พอใจคำวินิจฉัย ให้ไปยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับเอกสาร” 

(มาตรา 3 ในพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ได้นิยาม 'ผู้เสียหาย' ไว้ว่า หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต หรือร่างกาย หรือจิตใจเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น)

“ป้ามองว่า คณะกรรมการของกรมคุ้มครองสิทธิเขายึดตามกฎหมาย ว่าการหายไปของคุณสุรชัยไม่เข้านิยามผู้เสียหายของมาตรา 3 ประมาณว่าการเสียชีวิต ก็ต้องมีหลักฐานการเสียชีวิต ต้องเจอศพเหมือนคุณภูชนะ คุณกาสะลองที่พบร่างและตรวจ DNA พบ แล้วออกใบมรณบัตรเพื่อเอาหลักฐานไปยื่นขอรับการเยียวยา"”

126782.jpg

(คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญากรณีของสุรชัย)

สิ้นปี 2566 นี้ ก็จะครบ 5 ปีที่สุรชัยหายไป ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 61 ระบุว่า หากหายไปครบ 5 ปีสามารถร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญได้ และเมื่อตกเป็นบุคคลสาบสูญ สถานะทางกฎหมายเท่ากับ ‘เสียชีวิต’

“สิ้นปีนี้ เราถึงจะมีสิทธิ์ไปยื่นต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ว่าคุณสุรชัยหายไปครบ 5 ปีแล้ว ขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวออกเอกสารมาว่า คุณสุรชัยเป็นผู้หายสาบสูญ คาดว่าใช้เวลา 1-6 เดือนแล้วแต่ว่าศาลมีงานมากงานน้อย ซึ่งสำหรับเรามันนานมาก”

ปราณีหวังว่า รัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสิน จะผลักดัน พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ‘พ.ร.บ. อุ้มหาย’ และปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเยียวยา เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ และคืนความเป็นธรรมแก่ครอบครัวที่กำลังต่อสู้อยู่ตอนนี้ 

“เราอยากให้รัฐบาลมีความจริงใจ กระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือครอบครัวของผู้ที่สูญหาย ให้เขาได้รับความเป็นธรรม” ปราณีทิ้งท้าย