ไม่พบผลการค้นหา
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศ ขณะการเดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในวันนี้ (23 พ.ค.) ถึงแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับชาติเอเชียที่มีขนาดใหญ่กว่า 13 ชาติ หลังสหรัฐฯ พยายามหาข้อตกลงทางเศรษฐกิจร่างใหม่มาอย่างยาวนานกับเอเชีย

ข้อตกลงได้ “ลงนามเพื่อการทำงานร่วมมือในการมุ่งไปสู่วิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจ ที่จะส่งมอบให้กับทุกคนบนโลก” ไบเดนย้ำถึงแผนเศรษฐกิจใหม่ของสหรัฐฯ กับ 12 ชาติเอเชีย เพื่อคานอำนาจกับจีนที่กำลังดำเนินนโยบายก้าวร้าวกับประเทศเพื่อนบ้าน

กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก เป็นความพยายามของไบเดนในการเข้ามามีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียที่เพิ่มมากขึ้น ภายใต้อิทธิพลของจีนที่กำลังแผ่ขยายออกไป ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เลือกที่จะประกาศแผนดังกล่าวในการเดินทางเยือนเอเชียรอบที่สอง ซึ่งการประกาศในครั้งนี้เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการเยือนเอเชียของของไบเดน ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในเกาหลีใต้มาจนถึงญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้

“เรามาถึงวันนี้ด้วยจุดประสงค์ง่ายๆ อย่างหนึ่ง นั่นคือ อนาคตทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 ที่จะถูกเขียนขึ้นเป็นส่วนใหญ่ในอินโด-แปซิฟิก ภูมิภาคของเรา” ไบเดนกล่าวขณะการเปิดแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กับเอเชีย “กรอบดังกล่าวจะขับเคลื่อนการแข่งขันไปสู่จุดสูงสุด” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ย้ำ หลังจากจีนเข้ามามีอิทธิพลเหนือเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย และได้ดุลการค้าในประเทศต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่าตน ซึ่งสหรัฐฯ กล่าวหาว่าเป็นการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

การเปิดกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ดำเนินไปด้วยความระมัดระวังและละเอียดละออ เนื่องจากหลายประเทศในเอเชียพยายามหาหนทาง ในการสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อลดการพึ่งพาจีน ในขณะที่สหรัฐฯ เองกำลังเผชิญหน้าอยู่กับปัญหาการกีดกันทางการค้าในประเทศของตนเอง ยังผลให้เกิดปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ท่ามกลางการเลือกตั้งกลางสมัยของสหรัฐฯ ที่กำลังจะมาถึงในช่วงเดือน พ.ย.นี้

ไบเดนยอมรับว่า ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดและสงครามที่เกิดขึ้น ก่อนยอมรับอีกว่าความเป็นปวดที่เกิดขึ้นในทางเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง “มันแย่” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอีกระยะยาวที่จะมาถึง “การดำเนินการนี้จะต้องใช้เวลานาน มันจะต้องใช้เวลา” ไบเดนย้ำ ก่อนโต้เถียงว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจอาจเลวร้ายลง หากสหรัฐฯ ไม่เดินหน้าพูดคุยเปิดกรอบเศรษฐกิจกับชาติเอเชีย เพื่อให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติในระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ

แผนกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกที่ไบเดนเพิ่งประกาศไป จะไม่ใช่ข้อตกลงทางการค้าในความหมายเดิม ซึ่งหมายถึง “เสาหลัก” เดียวที่เกี่ยวข้องกับการค้า แต่ยังหมายรวมถึงเสาอื่นๆ เช่น การทำให้เกิดความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน การส่งเสริมพลังงานสะอาด ตลอดจนการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งนี้ ชาติเอเชียที่จะเข้ามาร่วมกับกรอบเศรษฐกิจในครั้งนี้กับสหรัฐฯ ประกอบไปด้วย ออสเตรเลีย บรูไน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

กรอบเศรษฐกิจใหม่นี้ค่อนข้างมีสมาชิกที่กว้าง ตั้งแต่พันธมิตรเอเชียที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ อย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ไปจนถึงประเทศที่ไม่ผูกมัดตัวเองเข้ากับสหรัฐฯ ตลอดจนประเทศที่มีแนวนโยบายการทูตโน้มเอียงไปทางจีนอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ กรอบดังกล่าวไม่มีการรวมไต้หวันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งด้วย นำมาซึ่งคำถามต่อไบเดนในการเข้ามาคานอำนาจกับจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ว่าสหรัฐฯ จะทำได้มากเพียงใด ภายใต้ความก้าวร้าวของจีนที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ ในการเยือนญี่ปุ่นของไบเดน ประธานาธิบดีได้ย้ำว่าสหรัฐฯ จะยังคงปกป้องไต้หวันจากการรุกรานของจีน ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะยึดถือนโยบาย “จีนเดียว” ของปักกิ่ง อีกทั้งยืนยันว่าสหรัฐฯ จะสนับสนุนให้ญี่ปุ่นเข้ามาเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในการปฏิรูปโครงสร้างสหประชาชาติ พร้อมกับมอบความมั่นใจให้กับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น จากความก้าวร้าวของเกาหลีเหนือและจีนด้วยเช่นกัน ไบเดนยังได้เข้าหารือกับผู้นำของญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย หรือ “Quad” กลุ่มที่ตั้งขึ้นเพื่อคานอำนาจกับจีนในภูมิภาคอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ในยุคสมัยของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐฯ ได้ประกาศถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งเป็นข้อตกลงทางการค้าขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ กับชาติในภูมิภาคมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งริเริ่มในยุคสมัยของอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา ทั้งนี้ ไบเดนยังไม่แสดงท่าทีใดๆ ว่าสหรัฐฯ สนใจที่จะขอกลับเข้ามาร่วม TPP อีกครั้ง

ในทางตรงกันข้าม หลังสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ไป จีนเดินหน้าโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าและการลงทุน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานกับประเทศเพื่อนบ้านของตนอย่างเต็มกำลัง ส่งผลให้จีนสามารถขยายอิทธิพลของตัวเองในภูมิภาคเอเชีย ท่ามกลางบทบาทของสหรัฐฯ ที่ถดถอยลง กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกของไบเดนจึงเป็นความพยายามในการนำสหรัฐฯ กลับมายังเอเชียอีกครั้งของไบเดน หลังจากความสัมพันธ์ที่ห่างเหินในยุคของทรัมป์


ที่มา:

https://edition.cnn.com/2022/05/22/politics/joe-biden-japan-monday/index.html?fbclid=IwAR2D9nBHPB978rYz28tzqBLqmlR5LguxmrT5-yJTUHnsuYrGD148ELRmW2k