นโยบายล็อตใหม่ที่พรรคเพื่อไทยเตรียมคลอดออกมาอยู่บนพื้นฐานที่พรรคเพื่อไทยทำได้และทำสำเร็จมาแล้ว ตั้งแต่ยุคไทยรักไทย พลังประชาชน จนถึงพรรคเพื่อไทย
ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทย เคยเปิดนโยบายใหญ่ๆ มาแล้วในอีเวนต์ใหญ่ “ครอบครัวเพื่อไทย” ที่ จ.เชียงใหม่ ภายใต้ธีม “สะบัดชัย เพื่อไทยมาเหนือ”
นโยบายวันนั้น มี 2 แคมเปญใหญ่ที่ติดหูในเวลาต่อมาคือ “นโยบายเกษตรแบบตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” และ “1 ครอบครัว 1 Soft Power” เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2565
ต่อมา 9 ต.ค. 2565 พรรคเพื่อไทย ได้คลอดนโยบายเศรษฐกิจ เป็นล็อตที่ 2 พร้อมแผนบันไดสี่ขั้น นำไปสู่การแลนด์สไลด์ ภายใต้ ธีม “เพื่อไทย เพื่อรายได้ใหม่ของประชาชน”
บันได 4 ขั้น ประกอบด้วย บันไดขั้นที่ 1.เพื่อศักยภาพใหม่ของประเทศและประชาชนไทย
บันไดขั้นที่ 2 เพื่อรายได้ใหม่ แก้หนี้สินด้วยการเพิ่มพูนรายได้ทวีคูณ ให้เศรษฐกิจประเทศไทย เป็นเศรษฐกิจใหม่ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
บันไดขั้นที่ 3 เพื่อสังคมใหม่ ความมั่นคงคือความปลอดภัยของทุกคนอย่างเท่าเทียม
และบันไดขั้นที่ 4 เพื่อการเมืองใหม่ ที่หลักนิติรัฐ นิติธรรมเข้มแข็ง รัฐธรรมนูญต้องมีที่มาจากประชาชน วุฒิสภาต้องไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี และรัฐของราชการต้องถูกเปลี่ยนเป็นรัฐของประชาชนอย่างแท้จริง
ส่วนนโยบายที่ชูในวันนั้น อาทิ ‘ผ่าตัดเกษตรกรรม’ รดน้ำที่ราก สร้างเงินจากดิน พลิกเปลี่ยนชีวิตเกษตรกรให้หายจนอย่างถาวร ใช้ความรู้สมัยใหม่เพิ่มผลผลิตจากพืชที่ปลูกอยู่แล้ว อาทิ ข้าว และยาง ผลิตพืชอาหารสัตว์ อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง เพื่อทดแทนการนำเข้า และขยายการส่งออก ด้วยโครงการโคขุนเงินล้าน สำหรับการบรรเทาทุกข์ระยะเร่งด่วน นโยบายพักหนี้เกษตรกร
นโยบาย ‘เขตธุรกิจใหม่’ (New Business Zone; NBZ)ที่ว้าวและแตกต่างกับโครงการ EEC ของรัฐบาล กำหนดให้ 4 จังหวัดเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจใหม่ คือ เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น และหาดใหญ่ ปักหมุดให้มีกฎหมายธุรกิจใหม่ ที่จะบังคับใช้ในเขตนั้น เพื่อดึงการลงทุนจากต่างชาติเข้าแก้ปัญหาทั้งด้านใบอนุญาต แรงงาน นำเข้า ส่งออก และการธุรกรรมระหว่างประเทศ ให้สิทธิพิเศษในการลงทุน และจะกลายเป็นสวรรค์ของนักลงทุน
นอกจากนี้จะมีการสร้างสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ระบบการศึกษาและการผลิตคนใหม่ และระบบธนาคารใหม่ เป็นกองหลังเพื่อผลักกองหน้าซึ่งได้แก่ภาคเอกชนให้ขับเคลื่อนได้ โดยกุญแจทั้ง 3 ดอกจะถูกสร้างขึ้นในเขตธุรกิจใหม่ และรายได้ใหม่จะถูกสร้างให้กับประชาชน
อีกทั้งยังมี โครงการ‘เงินโอน คนสร้างตัว’ (Earned Income Tax; EIT) โดยประชาชนที่เข้าโครงการจะได้รับเงินภาษีแทนการจ่ายเงินภาษี จนกระทั่งมีความมั่นคงและสร้างตัวได้ รวมถึงโปรเจกต์ด้านการศึกษา เรียนรู้มีรายได้ เรียนรู้ง่าย ตลอดชีวิต (Lifelong Learning Lifelong Earning)
ต้องไม่ลืมว่าพรรคเพื่อไทย ที่สืบเชื้อสาย ต่อยอดทั้งความคิด และบุคลากรมาจากพรรคไทยรักไทย เป็นพรรคเดียวที่ การันตี “ความสำเร็จ” ของนโยบายที่เคยประกาศไว้กับประชาชน และมาถึงการเลือกตั้งที่จะถึงในปี 2566 นโยบายที่เคยทำมาแล้ว ยังจะทำต่อไป ตั้งเป้าพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม
ย้อนดูชัดๆ กับนโยบายที่เคยทำสำเร็จในอดีต และถูกบรรจุอยู่ในนโยบาย “ผ่าตัดเกษตรกรรม” ของปัจจุบัน คือ
นโยบายยุค 'ไทยรักไทย' นโยบายพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย 3 ปี และการลดภาระหนี้ให้กับกลุ่มรากหญ้า ผ่านทางกลไกของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยให้เกษตรกรสามารถเลือกที่จะพักชำระหนี้ 3 ปี โดยไม่เสียดอกเบี้ย หรือเลือกลดภาระหนี้ โดยรัฐบาลได้เข้าไปช่วยเกษตรกรในการปรับโครงสร้างและฟื้นฟูอาชีพของตนเอง
กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งเป็นนโยบายพรรคไทยรักไทย ยังคงมีจนถึงยุคปัจจุบัน ภายใต้คอนเซปต์เพื่อส่งเสริมกระบวนการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านและชุมชนเมืองในด้านการเรียนรู้ การสร้างและการพัฒนาความคิดริเริ่ม รวมถึงการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม
นโยบายหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์โอทอป (OTOP) ที่รัฐบาลไทยรักไทย นำมาจากต้นแบบ OVOP ของท้องถิ่นญี่ปุ่น ทว่า เมื่อนำมาปรับใช้กับบรบทเมืองไทย สามารถ สร้างงานสำหรับผู้ไม่มีงานทำ – เสริมรายได้ให้กับเกษตรกรที่ไม่ได้อยู่ในช่วงฤดูเพาะปลูก นอกจากนี้ ยังพัฒนาสินค้าสินค้าท้องถิ่น โดยรัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือเรื่อง Know how และหาตลาดให้
ซึ่ง OTOP ในอดีต จะถูกยกระดับให้มาเป็น OFOP หรือ one family one soft power ในภาษาไทย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ที่ถูกผลักดันโดย “แพทองธาร ชินวัตร” ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย
แน่นอนที่สุด นโยบายที่ประสบความสำเร็จที่สุด และเป็น “มรดก” จนถึงทุกวันนี้ไม่มีพรรคการเมืองไหนกล้าทำลาย หรือ เคลมเป็นผลงานของตัวเอง คือ โครงการ “30 บาทรักษาทุกโรค” เป็นนโยบายที่ปฏิวัติระบบสาธารณสุขทั้งระบบ
ที่มีการริเริ่มนำร่อง 6 จังหวัดในวันที่ 1 เม.ย.2544 ครอบคลุมทั่วประเทศภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี และออกเป็นกฎหมายรับรองในวันที่ 19 พ.ย. 2545 จากวันนั้นถึงวันนี้ ก็ผ่านมาร่วม 20 ปีแล้ว
‘ผมพยายามมองให้ประเทศไทยไม่อยู่ในลักษณะที่ต่ำกว่าสาธารณสุขมูลฐาน จึงคิดในหลายๆ จุด ดังนั้นจึงอยากจะให้บริการแก่ประชาชนที่เท่าเทียม และเรื่องนี้เป็นการปฏิวัติระบบสาธารณสุขแห่งชาติครั้งยิ่งใหญ่ และเป็นประวัติศาสตร์ หากทำได้ดีหรือไม่ดี เราทั้งหมดจะอยู่ในประวัติศาสตร์’ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง