เมื่อเวลา 14.00 วันที่ 25 ส.ค. ที่สวนอัญญา ข้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พรรคมอชอก้าวหน้า โดยนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานบรรยายในหัวข้อ "มองการเมืองไทย ในวันพรุ่งนี้" โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ระบุในงานตอนหนึ่งว่า พรรคพลังประชารัฐมีนโยบายตอนหาเสียงเลือกตั้งประกาศว่าจะขึ้นค่าแรง 425 บาท เมื่อนักลงทุนดูค่าจ้างแรงงานวันละ 425 บาท ก็อาจทำให้ตัดสินหันไปลงทุนไปประเทศอื่น แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ระเบิดที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คนทั่วโลกดูข่าวแล้วพบว่าเป็นศูนย์กลางของประเทศ ถ้าเกิดแรงกว่านี้จะเป็นเช่นไร ขณะที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บอกว่าเป็นมาสเตอร์มาย ถ้าทางการไทยสรุปปัญหาระเบิดมาจากทางภาคใต้จริง แสดงว่าปัญหาก่อความไม่สงบภาคใต้ได้มาถึงกรุงเทพฯแล้ว ทำให้นักลงทุนมองว่าจะไหวหรือไม่ ขณะที่กลุ่มบีอาร์เอ็นไม่ได้บอกว่าเป็นผลงานของบีอาร์เอ็น เหตุการณ์ดังกล่าวตนมองว่าเป็นความเสียหายถึงแสนล้านบาท แต่ฝ่ายความมั่นคงกลับบอกว่าเกิดจากนักการเมือง
นายจาตุรนต์ ระบุว่า ประเทศไทยต้องการปรับปรุงระบบสาธารณสุขครั้งใหญ่แต่ไม่ใช่ให้เรื่องกัญชาใหญ่ที่สุด ในมาตรการเศรษฐกิจรัฐบาลแจกเงินคนไปเที่ยวและแจกเงินผ่านบัตรเอทีเอ็มให้คนไปเบิกเงิน โดยขณะนี้น่าจะใช้เงินเหล่านั้นหมดแล้ว เพราะแจกเงินเพียง 500 บาท ซึ่งเหมือนเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ใน 3 มาตรการน่าจะใช้งบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท
ชี้ได้รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำต่อรองแบ่งเค้ก หวั่น พปชร. ดูด ส.ส.เพิ่มเสียง
"ได้รัฐบาลไม่ตอบสนองที่สิ่งที่เคยพูดไว้ไม่แก้ปัญหาประเทศ เป็นรัฐบาลต่อรองตลอดเวลาเนื่องจากเป็นเสียงปริ่มน้ำ พอประชุมไปก็เกิดการต่อรอง ถ้าดูตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาล เขาไม่ได้ต่อรองเรื่องนโยบาย เขาไม่ได้พูดเรื่องนโยบาย เวลาแถลงนโยบายจึงไม่รู้จะเป็น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ แต่ร่วมกันไปได้ด้วยการแบ่งกระทรวง" นายจาตุรนต์ ระบุ
นายจาตุรนต์ ระบุว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป จะยุบพรรคประชาชนปฏิรูปไปรวมกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งอาจทำได้ตามรัฐธรรมนูญ หาก 8 -9 คนไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ จะทำให้พรรคพลังประชารัฐได้เสียงมากขึ้น ทั้งที่คำนวณคะแนนแล้วไม่ได้ ส.ส. 8-9 คนที่จะได้ ทำให้เกิดเล่นกลมาเรื่อย และทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะการอำนวยการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาตั้งแต่การแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว จนได้รัฐบาลไม่อาจแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ทั้งหมดเป็นปัญหาที่มาจากรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เคยพูดก่อนมีการประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้วว่าจะเกิดการสืบทอดอำนาจของ คสช.
นายจาตุรนต์ ระบุว่า การเมืองจากนี้จะเป็นการเมืองที่ไม่มี คสช. เมื่อไม่มี คสช. ควรทำอะไรที่ประชาชนมีเสรีภาพมากขึ้น เมื่อบ้านเมืองเกิดผลจากรัฐประหาร และได้รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยผ่านการลงประชามติ หากจะแก้ปัญหาบ้านเมืองต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และในอนาคตประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยถือว่าเป็นอันดับต้นๆของอาเซียน ทั้งที่ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ซึ่งไม่เหมือนประเทศญี่ปุ่นและประเทศสิงคโปร์ที่คนสูงวัยจำนวนมากแต่ประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ
เตือน รธน.แก้ยากอาจถูกฉีกอีก ซัดงัดข้อหาล้มล้างปกครองขวางแก้ รธน.
แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแก้ยากกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 มีสองทางเท่านั้น คืออยู่ไปเรื่อยๆ จนอาจเกิดปัญหาความไม่พอใจในหมู่ผู้มีอำนาจแล้วฉีกรัฐธรรมนูญ เมื่ออยู่ไปเห็นปัญหามาก ประชาชนก็พร้อมใจแก้ไข ลำพัง ส.ส.จะแก้ไขไม่ได้ แต่มี ส.ว.ไม่กี่คนไม่เห็นด้วยก็ไม่ให้แก้ไขแล้ว ซึ่งเป็นการเขียนไว้ไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนอีกกี่ปีประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตย ซึ่งตนตอบมาหลายรอบแล้ว ทำให้ต้องตอบว่า 10 -15ปี แต่การรัฐประหารครั้งล่าสุดทำให้ถอยหลังไปยิ่งปี 2529 ที่ตนเข้ามาเล่นการเมืองครั้งแรกอีก ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยถือว่าล้าหลังกว่าปี 2522 และถอยหลังมาก แต่จะหมดหวังและแยกย้ายกันไม่ได้อีก
"ประเทศไทยมีกฎหมายล้มล้างการปกครองไว้เล่นงานสมาชิกรัฐสภาที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ลงโทษหรือห้ามใครที่ถือปืนมายึดอำนาจ เพราะถือเป็นผู้ชนะ" นายจาตุรนต์ ระบุ
เผยอดีต ทษช.บางส่วนเล็งหาพรรคสังกัดพร้อมต่อสู้ในระบบรัฐสภา
นายจาตุรนต์ ตอบคำถามถึงการตั้งพรรคการเมืองขึ้นเองโดยรวมรวมสมาชิก ทษช. ที่ไม่ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ได้หรือไม่ ว่า อดีตผู้สม���ครของ ทษช.ที่ไม่ได้ถูกตัดสิทธิหลายคนที่ลงแบบเขตเลือกตั้งได้กลับไปอยู่พรรคเพื่อไทยในช่วงไม่กี่วันหลังเลือกตั้ง เพราะยังไม่ทราบว่าใครจะตั้งรัฐบาลได้ ทำให้ผู้สมัครหลายคนจึงไปสมัครพรรคเพื่อไทยเพื่อให้มีคุณสมบัติครบ แต่ก็มีบางส่วนยังไม่สังกัดพรรค แต่อยู่ระหว่างคิดกันว่าจะทำอะไรต่อไป ส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ไปอยู่พรรคไหนก็คิดว่าจะทำการเมืองระบบรัฐสภา ยังไม่คิดเปลี่ยนตัวเองเป็นเอ็นจีโอ หรือนักร้อง ดังนั้น ต่อไปต้องสังกัดพรรคการเมือง ส่วนจะสังกัดพรรคการเมืองใดต้องดูสถานการณ์ก่อนว่าจะพัฒนาอย่างไร เพราะพรรคการเมืองต่างๆยังไม่นิ่ง พรรคการเมืองต่างๆต้องปรับตัว และอาจถูกยุบพรรคหรือถูกทำลายในกระบวนการต่างๆ
นายจาตุรนต์ ระบุด้วยว่า ขณะนี้กระบวนการยุบพรรคการเมืองบางพรรคก็เริ่มแล้วเพราะศาลรัฐธรรมนูญได้ลงมติรับเรื่องไปแล้ว ดังนั้นในฐานะนักการเมือง ที่ตนต้องเข้าไปสังกัดพรรค ทษช. มันเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดอย่างนั้น แล้วทำให้นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยต้องหาทางออกและแก้ปัญหา และจะเป็นตัวชี้ขาดอนาคตฝ่ายประชาธิปไตย เมื่อถูกยุบพรรคทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงไม่เกินครึ่ง
ชี้หวนกลับ พท.ไม่ได้ ยิ่งผนึกยิ่งไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
"พรรคเพื่อไทยไม่มีปาร์ตี้ลิสต์ ถ้าผนึกกำลังกันมากขึ้นจะได้ปาร์ตี้ลิสต์ ยิ่งผนึกยิ่งไม่ได้"
"สมมติมีพรรคฝ่ายประชาธิปไตยทำตกลงกันสัญญากับพรรคบางพรรคจะยุบพรคแล้วจะไปอยู่พรรคเพื่อไทย รับรอง กกต.จะบอกว่าอันนี้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนญที่ห้ามควบรวมพรรคการเมืองหลังเลือกต้ัง ถ้าหากมีสัญญาจะให้ตำแหน่งให้เป็นประธาน กมธ. ก็อาจเป็นการกระทำการให้ได้อำนาจไม่เป็นไปตามวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การยุบพรรค ที่พูดเป็นไปได้ทั้งนั้นไม่ได้เสียดสี" นายจาตุรนต์ ระบุ
นายจาตุรนต์ ระบุด้วยว่า วิธีการทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยน้อยลงคือการย้ายข้างมาร่วมรัฐบาล ส่วนตัวมองว่าขณะนี้ยังไม่เห็นยุบสภาเลือกตั้งเร็วๆนี้ เพราะยังไม่ได้ถอนทุน ในส่วนพรรคภูมิใจไทยดูแลกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม หากมองถึงการะยุบสภาเลือกตั้งใหม่นั้น เมื่อดูแบบนี้ทำให้ต้องวิเคราะห์กันใหม่ ถ้ามองแง่พรรคร่วมรัฐบาลแล้วยังไม่มีแรงจูงใจที่จะถอนตัวรัฐบาล แนวโน้มจะยังอยู่ยาว แต่ยาวหรือไม่ยาวขึ้นอยู่ปัจจัยอื่น ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจด้วยกันจะขัดแย้งไหม ประชาชนจะว่ายังไง ถ้าประชาชนพอทนได้ รัฐบาลก็อยู่ยาว
"แก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้ที่มาของรัฐบาล องค์กรอิสระอย่างไร แต่องค์กรอิสระปัจจุบันหลายองค์กรมีที่จาก คสช. ไม่ใช่มาจากรัฐธรรมนูญ ประธาน ป.ป.ช. เคยเป็นรองเลขาธิการ ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาก่อน แก้ไขรัฐธรรมนูญต้องให้องค์กรอิสระเชื่อมโยงกับประชาชน ส่วนศาลรัฐธรรมนูญก็ควรแก้ไข เพราะมีสถานะเป็นศาล และมีกฎหมายห้ามละเมิดอำนาจ" นายจาตุรนต์ ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง