แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (AI) องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน จัดเวทีพูดคุย ‘โลกสวยด้วยมือเรา : แรงบันดาลใจด้านสิทธิมนุษยชนจากคน 3 รุ่น’ เป็นส่วนหนึ่งของอีเวนต์ ‘ตามสบาย BE MY GUEST’ นิทรรศการ ศิลปะ เสวนา ดนตรี เวิร์กชอป และแรงบันดาลใจจากสิทธิมนุษยชน
วงพูดคุยของนักสิทธิมนุษยชนจากสามช่วงวัยนี้ มี รศ.ดร. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และ สิรินทร์ มุ่งเจริญ รองประธานสภานิสิตจุฬาฯ สมาชิกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและแรงบันดาลใจผ่านบทบาทในช่วงวัยที่แตกต่างแต่มีจุดหมายร่วมกัน
ในฐานะผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนผ่าน iLaw ด้วยการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปกฎหมาย รวมถึงติดตามและบันทึกข้อมูลคดีที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะสิ่งที่รัฐบาล คสช. ทำในช่วง 5 ปีมานี้ 'ยิ่งชีพ อัชฌานนท์' กล่าวว่าตัวเองไม่เคยเคลมว่างานที่ทำอยู่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้
“ตอนนั้นก็มีความฝันว่าถ้าเกิดคนได้รับทราบข้อมูลว่ารัฐบาลยุครัฐประหารไม่ดียังไงบ้าง คนก็จะเปลี่ยนความคิดได้แล้วก็อยากมีสังคมที่ดีกว่านี้ แล้วสังคมก็จะเปลี่ยนถ้าคนเปลี่ยน แต่มาถึงวันนี้เราก็น่าจะรู้ว่ามันก็ยังไม่เปลี่ยน คนที่ยังชอบรัฐประหารก็มี คนที่สนับสนุนการอยู่ต่อของเขาก็ยังมีอยู่ แต่ว่าเราก็เชื่อว่าคนที่ไม่ชอบก็มีเยอะขึ้น หรืออาจจะมีเท่าเดิมแต่มีความรู้มากขึ้น มีเครื่องมือมากขึ้น” ยิ่งชีพกล่าว
ยิ่งชีพ มองว่างานสิทธิมนุษยชนต้องหวังความเปลี่ยนแปลงทีละก้าว ไม่ใช่การเปลี่ยนจากดำเป็นขาวในทันที และไม่มีอะไรที่ลงมือทำเพียงนิดเดียวแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงเลย
“บางคนถามว่า 'เราจะทำอะไรได้ไหม' หวังว่าจะเดินออกไปร่วมงานนี้ปุ๊บแล้วสังคมจะเปลี่ยน มันไม่มีอยู่”
ยิ่งชีพเล่าและกล่าวต่อว่าคนธรรมดามีสิ่งที่สามารถทำได้มากมาย เขาได้ยกตัวอย่างสิ่งที่เคยทำคือการตรวจสอบการทำงานของ กกต. ก็สามารถพรินต์ผลการเลือกตั้งแต่ละเขตออกมาตรวจสอบว่าเขตไหนผิดปกติ ใช้เวลากว่าสามวัน แต่ก็สามารถทำได้
“เราต้องเตรียมตัวรับงานหนัก ถ้าอยากจะทำอะไรให้เกิดผลอะไร ต้องเตรียมตัวทำเยอะ ต้องหวังผลน้อย แล้วลงมือทำเลย หาความรู้ หาข้อเท็จจริง สื่อสาร มันเป็นสิ่งที่ทำได้ทั้งนั้น มีผลทั้งนั้น แต่มันไม่ใช่ทำน้อยๆ มันต้องทำเยอะๆ หน่อย”
การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ยังเรียนมหาวิทยาลัย ทำให้ในหลายๆ ครั้ง นักเรียน นักศึกษาถูกครหาว่าเป็นพวกหัวรุนแรง ทว่า 'สิรินทร์ มุ่งเจริญ' มองว่าเป็นเพราะคนในสังคมยังคงเคยชินกับการที่นักเรียนนักศึกษาจะต้องเรียนเพียงอย่างเดียว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทั้งที่สิ่งที่เธอและคนอื่นๆ ทำก็เป็นเพียงการเรียกร้องความเป็นธรรมด้วยสิทธิที่พึงมีเท่านั้น
“ถ้าเราหลุดไปจากบรรทัดฐานนั้น เรามีสิทธิที่เราอยากพูด และเราต้องการเปลี่ยนแปลง คนก็มองว่าเราเป็นคนหัวรุนแรงแล้ว ทั้งที่เราก็แค่ใช้สิทธิของตัวเองในการแสดงความคิดเห็นของเราเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมเท่านั้นเอง” สิรินทร์ กล่าว
ทางด้าน รศ.ดร. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ในวัย 71 ปี ได้ผ่านการสอนนิสิตนักศึกษามาหลายยุคสมัย นับตั้งแต่ปี 2515 กลับมองว่าเด็กสมัยนี้ไม่ได้หัวรุนแรงดังที่มักถูกกล่าวหา
รศ.ดร. โกวิท มองว่าความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยเกิดขึ้นจากอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้อาจารย์ สถาบันการศึกษา หรือสื่อในการควบคุมของรัฐบาลอย่างวิทยุและโทรทัศน์ไม่ได้เป็นผู้ผูกขาดความรู้และข่าวมูลข่าวสารอีกต่อไป พร้อมชี้ว่าจากประสบการณ์การสอน นักศึกษาในสมัยก่อนจะมีอินเทอร์เน็ต หากเป็นนักกิจกรรมก็จะชอบถกเถียงและค่อนข้างก้าวร้าว
“ผมก็เคยโดนบอกว่า ‘อาจารย์ไม่ใช่ประชาชน ประชาชนที่แท้จริงจะต้องเป็นชนชั้นกรรมาชีพ’ ทั้งที่ผมก็รับจ้างสอนหนังสือ ก็สนุกดี รู้สึกว่าเขาก้าวร้าวแต่ก็ไม่ได้ถือสาอะไร” กลับกัน ในยุคหลังอินเทอร์เน็ต รศ.ดร. โกวิท กลับมีความรู้สึกว่านักศึกษาสมัยนี้ตั้งแต่ช่วงหลังปี 2540 มา “เรียบร้อยจัง” ไม่ค่อยถกเถียงกระทั่ง “เรียบร้อยจนน่าเกลียด”
ทางด้านสิรินทร์ ก็เห็นด้วยเช่นกันว่า คนรุ่นใหม่หลายคนค่อนข้างเงียบในชีวิตจริง มีเพียงกลุ่มน้อยที่ออกมาพูด หรือออกมาประท้วงในชีวิตจริง
ถึงกระนั้น รศ.ดร. โกวิท ก็มองว่าหากจะเกิดการเปลี่ยนแปลง คนในยุคสมัยนี้น่าฝากความหวังไว้มากที่สุด เนื่องจากคนรุ่นตัวเองนั้นอาจมีความไม่ประสีประสา (ignorant) จากการที่ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายพอมาคิดวิเคราะห์ได้ แม้กระทั่งตัวเองก็เคยหลงเชื่อกับข้ออ้างต่างๆ ในการยึดอำนาจ จนกระทั่งเริ่มมีอินเทอร์เน็ตจึงเห็นความเปลี่ยนแปลง
“คนรุ่นผมเนี่ยก็เต็มทีแล้วครับ พอคอมพิวเตอร์มา อินเทอร์เน็ตมา ผมมีปัญหามาก ถึงขนาดว่าต้องขออนุญาตไปเรียนวิธีการใช้ตอนอายุ 52 เพราะผมรู้สึกว่าถ้าผมไม่ใช้ ผมทำไม่เป็น ผมสอนหนังสือไม่ได้ ความรู้ต่างๆ ก็คงไม่มี ก็ต้องขอความเห็นใจให้กับผู้ที่เล่นไลน์กลุ่ม พวกที่ส่งสวัสดีวันจันทร์ หรือพระคุ้มครอง เขาก็ส่งมาให้ผมทุกวัน ผมก็เฉยๆ บางทีผมก็ขอบคุณไป ก็ขอความเห็นใจหน่อย เพราะพวกเขาทำอะไรไม่เป็นจริงๆ แล้วข่าวสารบ้านเมืองก็ไม่ค่อยได้อัป” รศ.ดร. โกวิท ชี้ถึงช่องว่างของความรู้ที่เกิดจากเทคโนโลยี
หนึ่งในคำครหาของผู้แสวงหาความเปลี่ยนแปลงคือการถูกตีตราว่า ‘โลกสวย’ เพราะไม่ยอมอยู่กับความเป็นจริง สำหรับสิรินทร์เองก็เล่าว่านี่เป็นคำที่ได้ยินบ่อยมาก ทั้งโดนตำหนิเอง และเห็นแอมเนสตี้โดนตำหนิ
“อย่างช่วยผู้ลี้ภัยคนก็มองว่า ไปช่วยทำไม เราช่วยทุกคนไม่ได้ นักสิทธิไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ทั้งๆ ที่จริงๆ นักสิทธิหรือแอมเนสตี้เองไม่ได้ลืมว่าโลกมีคนไม่ดี แต่เรามองเห็นถึงโครงสร้างของสังคมที่มันโหดร้าย ก็เลยต้องช่วยให้มนุษย์ทุกคนได้รับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยไม่ได้มองว่าต้องมีเงื่อนไขอะไร เช่น นักโทษที่ทำผิดจริงก็ไม่มีสิทธิที่จะซ้อมทรมานเขา” สิรินทร์กล่าว
สำหรับยิ่งชีพ กลับมองว่า การถูกด่าว่าโลกสวยนั้นมีแง่ดีอยู่ เพราะนั่นหมายความว่าคนที่ด่าเห็นด้วยกับเป้าหมายปลายทางของเราแล้ว เพียงแต่ไม่ยอมรับวิธีการระหว่างทาง เพราะอาจไม่ดีต่อสถานะปัจจุบัน อาจสร้างความรู้สึกไม่มั่นคงให้กับเขา สิ่งที่ต้องทำสำหรับคนกลุ่มนี้คือเลิกขายอุดมคติ แต่กลับมาคุยว่าจะต้องเริ่มทำอย่างไรเพื่อไปสู่ปลายทางนั้น
อีกด้านหนึ่ง รศ.ดร. โกวิท กลับมองว่านักสิทธิมนุษยชนอย่างสิรินทร์และยิ่งชีพไม่ใช่คนที่โลกสวย คนที่ควรจะถูกมองว่าโลกสวย คือคนที่ไร้เดียงสา และเป็นคนที่ข้อเท็จจริงกับความจริงไปด้วยกันไม่ได้ เช่น การคิดว่า ส.ว. 250 คน ที่ถูกแต่งตั้ง ย่อมมีสามัญสำนึกคิดเองได้ โดยความขัดแย้งระหว่างข้อเท็จจริงที่รู้กับความเป็นจริงที่ขัดแย้งกับหลักการก็เป็นที่มาของแรงบันดาลใจของตัวเองเช่นกัน
“สำหรับผม เป็นเรื่องส่วนตัวโดยเฉพาะเลย แรงบันดาลใจผมเกิดจากความอายน่ะครับ เรียนมา รู้มาอย่างหนึ่ง แล้วต้องมาสอนด้วย แต่พอเห็นแล้วก็ได้ยินเรื่องที่มันตรงกันข้าม มันก็ทนไม่ไหว ถึงออกมาวิจารณ์อะไรต่างๆ เป็นประจำเท่านั้นเองครับ”
ดังที่ยิ่งชีพได้กล่าวไว้แล้วว่าการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นงานหนัก ซึ่งทำมาก แต่ได้ผลน้อย การยืนระยะรักษาความมุ่งมั่น หรือ passion ของตัวเองไว้จึงเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยสำหรับคนที่ทำงานรณรงค์ด้านนี้
ยิ่งชีพกล่าวว่า "ความท้อเป็นเรื่องธรรมดา" แม้แต่นักกิจกรรมที่เห็นมีการเคลื่อนไหวตลอดนั้นก็ย่อมมีช่วงที่ท้อและอยากจะพัก พร้อมให้คำแนะนำกับคนที่ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนว่าอย่าตั้งเป้าสูง หากคิดว่าจะมีประชาธิปไตยในวันนี้ หรือคิดว่าทำงานประท้วงสองปีแล้วจะได้ประชาธิปไตยก็ย่อมหมดแพสชัน เพราะทำไม่สำเร็จ สิ่งสำคัญคือการตั้งเป้าหมายเล็กๆ และพักได้แต่ไม่หยุด
“พอเราท้อเราก็ทำความเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา กลับมาก็ทำ อยากพักก็พัก แต่อย่าหยุดเท่านั้นเอง (…) มันมีทาง 100 ก้าวข้างหน้า ทำจนแก่ ทำจนเหนื่อย ทำจนอยากเลิกก็อาจจะไปได้สัก 15 ก้าว 18 ก้าว ก็ให้คนรุ่นใหม่มาเดินก้าวต่อไป ก็ได้ ก็ดีกว่าไม่ทำอะไร คิดแบบนี้ดีกว่า คิดให้มันสบายๆ แล้วก็ลงมือทำ” ยิ่งชีพย้ำ
ทางด้านสิรินทร์ ก็เคยมีช่วงที่หมดแพสชันเช่นกัน โดยเกิดคำถามว่าหลายๆ คนในช่วงวัยเดียวกับตัวเองก็ไม่ได้สนใจเรื่องเหล่านี้ ควรไปใช้ชีวิตสนุกสนานในมหาวิทยาลัยเหมือนคนอื่นไหม ก็จำเป็นต้องคอยเตือนตัวเองว่ามีคนในวัยเดียวกัน ออกมาแสดงความคิดเห็น หรือทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น พร้อมส่งเสริมให้ทุกคนเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองทำได้ เช่น อาจจะแค่แสดงความเห็นกับเพื่อนที่ไม่เคยคุยมาก่อน ก็อาจเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้คนกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นได้ ดังที่เธอเคยได้รับแรงบันดาลใจจากคนรอบตัว
“เราต้องเชื่อก่อนว่าการเปลี่ยนแปลงมันมาจากคนธรรมดา คนตัวเล็กๆ แบบเรา ถ้าเราเชื่อแบบนั้นแล้วเราพยายามทำการเปลี่ยนแปลงให้ได้ด้วยตัวเราเอง เราช่วยกัน เราก็เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้” สิรินทร์กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง