ไม่พบผลการค้นหา
ศ.ดร.กิตติ ลิ่มสกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ไซทะมะ แนะรัฐบาลไทยลดท่าทีตอบโต้สหรัฐฯ มาเน้นเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ ลองใช้วิธีแลกเปลี่ยนเปิดทางให้สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าไอที-ทรัพย์สินปัญญา เชื่อฝีมือ ‘จุรินทร์’ มาจากประชาชนจะแก้ปัญหาได้ ซัด ‘ดอน’ เป็น รมว.ต่างประเทศมา 5 ปีไม่จริงจังแก้ปัญหาแรงงาน หวั่นตัดสิทธิจีเอสพีไทยทำกระทบตลาดส่งออกตลาดกุ้งกว่า 5 แสนล้านบาท ลามถึงระดับอุตสาหกรรมตลาดกุ้ง เตือนสหรัฐฯ พร้อมทุบไทยด้วยกำแพงภาษีเหตุเสียดุลการค้ามาตลอด

ศ.ดร.กิตติ ลิ่มสกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยไซทะมะ ประเทศ ญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์ ‘วอยซ์ ออนไลน์’ ถึงการที่สหรัฐอเมริกา จะประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) กับสินค้าจากประเทศไทย ว่าการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ มีมติให้ตั้งคณะกรรมการ 3 กระทรวงหลักเพื่อหาทางช่องให้สหรัฐฯ ทบทวนการตัดสิทธิจีเอสพีถือว่าถูกต้องแล้ว เพียงแต่การที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์และ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงานบอกว่ากรณีสหรัฐฯ จะตัดสิทธิจีเอสพี เพราะแรงงานต่างด้าวจะมาตั้งสหภาพในประเทศไทยนั้นไม่น่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะขณะนี้ยังสามารถเปิดเจรจากับสหรัฐฯ ได้ เพียงแต่ไทยต้องเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ ได้ส่งออกสินค้ามาไทยได้ เพราะตอนนี้สหรัฐฯ เก่งเรื่องไอทีและทรัพย์สินทางปัญญา หากเปิดทางให้สหรัฐฯ ได้ก็จะเป็นการช่วยตลาดส่งออกอาหารทะเลของไทยได้ 

ส่วนตัวเห็นว่าควรให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ รับผิดชอบกรณีสหรัฐฯ จะตัดสิทธิจีเอสพี เพียงแต่ตอนนี้มีปัญหาเรื่องแรงงานเข้ามา ส่วนตัวเห็นว่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงานไม่ควรไปด่าสหรัฐฯ แต่ตอนนี้ไทยควรเจรจาและเปิดให้สหรัฐฯ ได้ส่งออกสินค้ามายังไทยได้ด้วย

“ผมเชื่อ แต่ต้องเป็นคุณจุรินทร์ที่มาจากผู้แทนราษฎร ผมไม่เชื่อในขี้หน้าของคุณดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ผมว่าเขาไม่มีความสามารถในด้านนี้ อาจจะมีความสามารถในด้านอื่น แล้วก็อยู่นานเกินไป รวมทั้งรัฐมนตรีหลายท่าน ครึ่ง ครม. ควรจะผ่อนถ่ายให้กับคนที่มาจากประชาชน เพราะเขาเดือดร้อนเสมอ สมมติตลาดกุ้งกำลังจะตาย ไปหาคุณจุรินทร์ เขาดิ้นรนแน่นอน แต่ไปหาคุณดอน คุณดอนก็เฉยๆ ใน 5 ปี ที่ผ่านมา เฉยมาตลอด” 

ศ.ดร.กิตติ ระบุว่า ปัญหาเรื่องการตัดสิทธิจีเอสพีนั้น การที่รัฐมนตรีของไทยบอกว่าจะให้คนต่างประเทศที่เป็นแรงงานโดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวรวมตัวเพื่อเป็นสหภาพแรงงานไม่ได้ ก็ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะหากดูในข้อกำหนดของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) เขาพูดแบบรวมๆ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเมียนมา แต่หมายถึงแรงงานไทยด้วย อีกทั้งตอนนี้ไทยส่งออกเกินดุลสหรัฐฯ กว่า 5 แสนล้านบาท ดังนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาของอาหารทะเลไทยที่มีอยู่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท จริงอยู่มันไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของส่งออกบ้านเรา หรือประมาณ 6 ล้านล้านบาท แต่ถ้าเข้าไปดู ในรายละเอียดของที่จะถูกตัดสิทธิครั้งนี้ มีประมาณ 4 หมื่นล้านบาทจากทั้งหมด ถ้าตัดตรงนี้ออก ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องประมง 

“ถ้ามองภาพรวมมันเหมือนที่รัฐบาลพูด มันเหมือนไม่เป็นอะไร แต่ว่าปัญหา ถ้ามองลึกลงไปในอุตสาหกรรมกุ้ง 5 หมื่นล้านบาท ปลาทูน่า 6 หมื่นล้านบาท แล้วมันจะมีตัวเลขอื่นที่รวมไปด้วย เพราะฉะนั้นถ้าถามว่ามันเล็กไหม ถ้าลงไปในระดับพื้นราบของการผลิต ในสาขาแล้ว พวกกุ้ง พวกนี้น่าจะยาก กับพวกทูน่า ลำบากมานานแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าถามว่ารัฐบาลมีความผิดพลาดไหม ก็ไม่อยากให้รัฐบาลแก้ตัว คนที่หนึ่ง ก็คือ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศที่รู้ปัญหามานานกว่า 5 ปี แล้วที่ยูเอสทีอาร์เขียน คือเขาฟ้องมา 5 ปี แล้วแต่ไม่ทำอะไรเลย ก็คือมีการส่งคนไปเจรจา แบบที่มันคงไม่ได้เรื่องอ่ะ แล้วทางสหรัฐฯ เขาก็คิดว่า คุณไม่จริงจัง ก็บอกมาหลายครั้ง ก็ไม่ทำอะไร”

“คนที่สอง คือ ท่านชายเต่า (ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน) ก็ไปพูดไว้ว่า ผมคิดว่าไม่ควรจะพูด เพราะว่าอีกสักพักเดี๋ยวเขาต้องมีการเจรจากัน จะเอาหน้าที่ไหนไปคุยกับเขา ก็ไปด่าเขาแล้ว คนที่สาม คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ท่านบอกว่า ประเทศไทยรายได้ต่อหัวสูงก็เลยต้องถูกตัดจีเอสพี อันนี้มันหัวชนกำแพงนะ ท่านนายกฯ จริงๆ แล้ว อินเดียก็โดน อินเดียก็จนกว่าเราเยอะนะ รวมทั้งหลายประเทศ หลายประเทศก็จะมีการเจรจา เขาก็จะมีการรีวิว คือไม่ใช่ว่า ทำแล้วทำเลย เพราะว่าสหรัฐฯ ขาดดุลทั่วโลกมหาศาล ขาดดุลจริงประมาณ 8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพราะฉะนั้นเขาจึงต้องออกแรงเยอะหน่อย” ศ.ดร.กิตติ ระบุ

กิตติ 277-4A15-915B-08A310A0A138.jpeg

ศ.ดร.กิตติ ระบุว่า ของประเทศไทยก็เพียงตลาดขนาดเล็กสำหรับสหรัฐฯ การตัดสิทธิจีเอสพีจึงไม่ใช่เรื่องที่สหรัฐฯ จะต้องแคร์ประเทศไทย และสหรัฐฯ ก็พร้อมจะทุบประเทศไทยด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่เกี่ยวกับการซื้อขายอาวุธ เพราะเป็นคนละอุตสาหกรรม หากถามว่าการตัดสิทธิจะกระทบเศรษฐกิจโดยรวมหรือไม่นั้น เบื้องต้นไม่มาก แต่อย่าลืมว่า ตลาดกุ้งที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มีจำนวนกว่า 5 หมื่นล้านบาท หากถูกตัดสิทธิจะลามไปถึงอาหารกุ้งและลามไปส่วนอื่นๆ ด้วย

ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ จะตัดสิทธิจีเอสพีเพราะไทยไม่ยอมให้นำเข้าเนื้อสุกรแดงนั้น ทางสหรัฐฯ ไม่ได้เล่นงานไทยในประเด็นนี้ แต่จะเล่นงานไทยในเรื่องแรงงาน ส่วนตัวเห็นว่านายกฯ ควรมีที่ปรึกษาและต้องจำกัดคำพูด และมอบหมายให้นายจุรินทร์ตั้งทีมงานแล้วก็รับฟังเสียงจากสภาผู้แทนราษฎรด้วย

ศ.ดร.กิตติ ระบุว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย แล้วต้องตำหนินายกฯ ถ้าเกิดในอีก 6 เดือนไทยต้องถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิจีเอสพีขึ้นมาจะไม่กระทบต่อดุลการค้าของสหรัฐฯ เพราะว่าการส่งออกขึ้นอยู่กับ 2 เรื่องคือ ความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ซึ่งตอนนี้เราอ่อนเปลี้ยเสียขา เพราะค่าเงินไทยแข็ง ถ้าไม่แข็งจะดีกว่านี้เยอะ สอง คือ ความต้องการสินค้าสหรัฐฯ และจีน ตอนนี้สหรัฐฯ และจีนทะเลาะกันอยู่ เพราะฉะนั้นต้องไปดูว่าสหรัฐฯ เขาต้องการอะไรจากเรา ขณะเดียวกันเมื่อสหรัฐฯ ตีกับจีนอยู่นั้น ไทยเปิดรับอะไรให้สหรัฐฯ ได้บ้าง 

เมื่อถามถึงปัญหาระยะยาวถ้าไทยต้องเผชิญกับกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ ในการส่งออก จะกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในขณะนั้นอย่างไร ศ.ดร.กิตติ มองว่า ตัวเศรษฐกิจไม่เท่าไหร่ แต่มันทำให้คนที่อยู่ในธุรกิจอุตสาหกรรม หมดกำลังใจ แล้วมันจะเกิดโดมิโนไป แล้วมันจะเกิดหนี้ขึ้น ก็ไปกู้ธนาคาร เมื่อธนาคารมีจุดยืนไม่ให้กู้ จะเอาเงินจากไหนไปหมุน ประชาชนเป็นหนี้เป็นสิน รากหญ้าก็เป็นหนี้ ชั้นกลางก็แย่ แล้วจะเอาเงินจากไหนไปจับจ่ายใช้สอยได้

ส่วนตัวขอให้รัฐบาลตระหนักว่าตอนนี้กำลังจะเกิดสึนามิขนาดใหญ่ทางเศรษฐกิจ จากจีนและสหรัฐฯรบทางการค้ากัน แล้วเราก็แย่ด้วย เพราะฉะนั้นขอร้องเลย ชิมช้อปใช้ไม่ได้เกิดอะไร แต่ควรทำโครงการใหญ่ๆ แล้วก็ลงลึกถึงรากหญ้า ลงลึกถึงชนชั้นกลางและเอสเอ็มอีแทน