ไม่พบผลการค้นหา
เวทีเสวนาคุกไทย - สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่ควรจะเป็น อดีต รมว.ไอซีที สะท้อนปัญหาภายในคุก ระบบราชทัณฑ์ของไทยล้าหลัง เชื่อการจับขังไว้ก่อน แม้ศาลจะยังไม่ตัดสินคดีถึงที่สุด เป็นเหตุให้คนล้นคุก ขณะที่ จินตนา แก้วขาว นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เผยคุณภาพชีวิตในคุกต้องตบตี เหตุลักขโมยผ้าอนามัย ผู้คุมเรือนจำปล่อยนักโทษทะเลาะกัน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาในหัวข้อ ‘นานาทัศนะต่อคุกไทย-สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่ควรจะเป็น’ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่อิมแพ็ค ฟอรัม เมืองทองธานี เพื่อสื่อสารปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในระบบเรือนจำของไทยอีกครั้ง จากคำบอกเล่าจากวิทยากร 4 คน ผู้เคยมีประสบการณ์ตรงกับเรือนจำโดยต่างกรรมต่างวาระ

โดย ‘หมอเลี๊ยบ’ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้เคยอยู่ในเรือนจำ 10 เดือนในคดีการเมือง สะท้อนปัญหาภายในเรือนจำว่า “หลายคนบอกว่า น่าจะเข้าไปดูว่าปัญหาข้างในเป็นอย่างไร แต่ผมเรียนว่าไม่มีทางได้เห็นของจริง ทุกอย่างจะถูกจัดฉากหมด ใครจะเข้าไปทีหนึ่งต้องมีการล้างเรือนจำกันขนานใหญ่และตัวผู้คุมจะกำหนดควบคุมพื้นที่นักโทษให้อยู่ในที่ที่เขาเตรียมไว้”

คำพูดที่ชวนขนลุกนี้ เป็นเหมือนการจูนคลื่นให้ผู้ร่วมเสวนาเข้าใจตรงกันว่า ตราบที่เรายังไม่เคยเข้าไปอยู่ในนั้น เรือนจำที่เป็นจริง จะไม่มีทางเหมือนเรือนจำที่เรารับรู้ ทั้งยังเป็นการย้ำว่าไม่ว่���เรื่องราวต่อจากนี้จะดูเกินจริงหรือเป็นไปตามคาด มันก็คือเรื่องราวที่กรมราชทัณฑ์คงไม่อยากให้คนนอกเรือนจำรับรู้ 

เสวนา คุก 103517030_1043959094840393728_n.jpg

(จินตนา แก้วขาว)

คุณภาพปัจจัย 4 ในเรือนจำ

‘จินตนา แก้วขาว’ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำร่วม 2 เดือนจากการเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน บ่อนอก-หินกรูด สะท้อนปัญหาคุณภาพชีวิตในเรือนจำในช่วงที่ตนถูกคุมขังใน ‘แดนหญิง’ เรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 

เธอเล่าถึงอาหารการกินที่ซ้ำซากและดูเหมือนคุณภาพต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้ผู้ต้องขังต้องซื้ออาหารจากฝ่ายราชทัณฑ์หรือแม่ค้าที่นำอาหารเข้ามาขาย

“เป็นวิธีรอดเดียวที่จะสามารถกระเดือกอาหารเข้าไปได้ ในหลายครั้งที่กินของเรือนจำไม่ลง” จินตนา กล่าว

เรื่องการอยู่อาศัยและเครื่องนุ่งห่ม เธอเล่าว่าคนที่เข้าไปใหม่จะถูกจัดแจงให้นอนข้างส้วมคล้ายกับเป็นการกดดันโดยให้นอนดมกลิ่นของเสีย ในขณะที่ห้องส้วมจำนวน 9 ห้องต่อผู้ต้องขัง 300 คน มีลักษณะเป็นคอกอิฐสูงจากพื้นเพียงราว 1 เมตร ไม่มีหลังคา และสุขภัณฑ์ฝังอยู่ระดับเดียวกับพื้นซึ่งมักชื้นแฉะไปด้วยน้ำขัง 

เมื่อพ้นจากสภาพนั้นจะได้นอนในพื้นที่ที่กว้างเพียงราว 60 เซนติเมตรต่อคน ซึ่งแออัดและยากลำบากสำหรับคนตัวใหญ่ และแน่นอนว่าใครที่ลุกไปเข้าส้วมย่อมเสียที่นอน อีกทั้งทางกรมราชทัณฑ์มีชุดสำหรับนักโทษหญิงเพียง 2 ชุดต่อคน ซึ่งในวันฝนตกชุดที่ซักมักจะแห้งไม่ทันใช้ นอกจากนี้ยังมีการแจกผ้าอนามัยเพียงห่อเดียวในรอบ 2-3 เดือน ซึ่งสร้างปัญหาการทะเลาเบาะแว้งในกลุ่มผู้ถูกคุมขังตามมา และเมื่อเธอกดกริ่งแจ้งเหตุ ผู้คุมกลับทำเพียงชะโงกมองและไม่ไขประตูเข้ามาห้ามเหตุ โดยอ้างว่ากุญแจห้องขังแดนหญิง จะไปอยู่ที่แดนชาย หลัง 18.00 น.

“หลายครั้งเราเห็นการตบตีกันตอนกลางคืนเพราะเรื่องลักขโมยชุดชั้นในหรือขโมยผ้าอนามัย ถามว่าทำไมต้องขโมย ก็เพราะเขาเป็นคนจังหวัดอื่นแต่ไปต้องโทษที่นั่น ไม่มีญาติหรือบางคนญาติอยู่ไกลไม่มีเงินมาเยี่ยมหรือส่งให้ซื้อผ้าอนามัยในเรือนจำ” นางจินตนากล่าวกับวอยซ์ ออนไลน์

สุดท้ายเรื่องยารักษาโรค ไม่มีผู้ต้องขังคนไหนสามารถพกยาใดๆ ได้ ใครป่วยต้องไปเบิกยาด้วยตัวเอง ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าป่วยจริง บางคนป่วยหนักไปไม่ไหวก็ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ ด้วยจำนวนแพทย์เรือนจำที่มีเพียง 1 คน เรือนจำแก้ปัญหาด้วยการจัดอบรมให้ผู้ต้องขังปฐมพยาบาลกันเอง 

แต่นางจินตนา เล่าว่า ไม่ค่อยเป็นผล เนื่องจากผู้ต้องขังมีปัญหาขัดแย้งผิดใจกันอยู่เป็นประจำ จึงไม่ค่อยให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี 305609_2277095319033743_1682525761438744576_n.jpg

(นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรมว.ไอซีที)

ทั้งหมดมาจากความล้าสมัย

ด้าน ‘หมอเลี๊ยบ’ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้เคยถูกคุมขัง 10 เดือนในคดีการเมือง เสนอว่าปัญหาโดยรวมทางกายภาพของระบบราชทัณฑ์มาจากความ ‘ล้าสมัย’ โดยสรุปคือ กรมราชทัณฑ์เชื่อในระบบการ ‘จับขังไว้ก่อน’ แม้ในชั้นศาลจะยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา และไม่ว่าผู้ต้องขังจะมีความผิดจริงหรือไม่ แตกต่างจากหลายประเทศที่พยายามไม่คุมขังหากคดียังไม่ถึงที่สุด และแม้จะถูกตัดสินว่ามีความผิดแล้วในบางคดีก็ไม่มีความจำเป็นต้องคุมขังอีกด้วย 

ซึ่งหมอเลี๊ยบ ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อกรมราชทัณฑ์ยังไม่ปรับระบบไปใช้เทคโนโลยีการควบคุมตัว เช่น การติดตามข้อมูลผู้ต้องหาด้วยกำไลข้อเท้า GPS และแอปพลิเคชัน ประกอบกับกระบวนการยุติธรรม ได้ส่งผลให้ ‘คนล้นคุก’ และนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและงบประมาณพัฒนาคุณภาพเรือนจำ

“คนเข้ามากกว่าคนออก วันนี้อัตราส่วนผู้ต้องขังต่อผู้คุมในประเทศไทยสูงที่สุดในโลก งบประมาณปีละ 1 หมื่นล้านถือว่ามากกว่าหลายหน่วยงานแต่ก็ไม่พอสำหรับการจัดการให้ดี”

หมอเลี๊ยบ เสริมว่า ในขณะที่ถูกคุมขัง พบว่าผู้ต้องขังจำนวนมากยังไม่ได้ถูกตัดสินว่ามีความผิด ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงของการกวาดล้างแรงงานเพื่อนบ้านก็จะยิ่งมีผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นไปอีก บางคนถูกคุมขัง เพราะไม่มีเงินประกันตัวหรือค่าใช้จ่ายในการสู้คดี ในขณะที่บางคนอยู่ในเรือนจำมาแล้วถึง 18 เดือนโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว อีกทั้งยังไม่เคยขึ้นสืบพยานแม้แต่ครั้งเดียวในศาลชั้นต้น ดังนั้นในขณะที่คดียังไม่สิ้นสุดก็จะไม่ได้สิทธิรับการพิจารณาว่าผู้ต้องขังเป็นนักโทษชั้นใด จึงไม่มีสิทธิได้รับการพักโทษหรืออภัยโทษ ดังนั้นระบบการประกันตัวควรเป็นเรื่องที่กระบวนการยุติธรรมควรทบทวนอย่างจริงจัง

นอกจากนี้การรวมศูนย์อำนาจของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมยังส่งผลต่อเสรีภาพของผู้ต้องขังด้วย หมอเลี๊ยบอธิบายว่า ในกระบวนการพิจารณาพักโทษเคยเป็นหน้าที่ของเรือนจำ แต่ภายหลังเป็นการพิจารณาโดยกระทรวงยุติธรรม ทำให้ระยะเวลาพิจารณาล่าช้าขึ้นจาก 1 เดือน กลายเป็น 4-6 เดือน ซึ่งเท่ากับว่าผู้ต้องขังจะต้องอยู่ในเรือนจำนานขึ้นโดยไม่จำเป็น อีกทั้งคำสั่งบางอย่างของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็ไม่มีการเปิดเผยให้สาธารณชนตรวจสอบ

สุภิญญา 64224967_2389990711233367_1861743970627878912_n.jpg

(สุภิญญา กลางณรงค์ นักกิจกรรมสังคมด้านสื่อ - อดีต กสทช.)

ไม่มีบรรยากาศแห่งความไว้วางใจ

ขณะที่ ‘สุภิญญา กลางณรงค์’ - นักกิจกรรมสังคมด้านสื่อผู้ที่ไปเยี่ยมเพื่อนที่ถูกคุมขังตลอด 8 เดือน มุ่งประเด็นไปที่รายละเอียดในเรือนจำที่เธอกล่าวว่าถูกออกแบบมาบนพื้นฐานของความไม่ไว้วางใจ ซึ่งมาจากคำบอกเล่าของเพื่อนที่ถูกคุมขังอีกที อย่างห้องขังที่ต้องเปิดไฟไว้แม้เวลานอน หรือโทรทัศน์ที่เป็นเทปบันทึกไม่ใช่การออกอากาศตามเวลาจริง กลายเป็นว่าความบันเทิงหลักของผู้ต้องขังคือการดูละครดังจากปีที่แล้ว รวมไปถึงการจำกัดสิทธิการเข้าถึงเครื่องมือทางออนไลน์ด้วย

“คิดว่าการจำกัดไม่ให้สัมผัสสื่อสารสนเทศ ไม่มีโอกาสเรียนรู้การใช้สื่อออนไลน์เป็นการจำกัดสิทธิที่จะเตรียมตัวไปรับมือกับโลกภายนอก ไม่ว่าจะเรื่องข่าวสารหรือช่องทางการทำมาหากิน คนข้างในควรได้มีโอกาสเรียนรู้”

นอกจากนี้ สุภิญญา ยังเสนอว่า หากเรือนจำสามารถสร้างบรรยากาศที่สะอาดและสงบ แทนที่จะเป็นบรรยากาศของการกดขี่ควบคุม ก็น่าจะช่วยสร้างกระบวนการตระหนักแก่ผู้ต้องขัง และอาจเกิดความเข้าอกเข้าใจตัวเองและผู้อื่นมากขึ้นด้วยเมื่อพวกเขาต้องออกจากเรือนจำ

เสวนา คุก 2653188_2390375247686415_8436500613382012928_n.jpg

(รศ.ดร. นภาภรณ์ หะวานนท์ )

วิธีคิดเกี่ยวกับ ‘การลงโทษ’ ควรถูกตั้งคำถาม

รศ.ดร. นภาภรณ์ หะวานนท์ - นักวิจัยด้านเรือนจำสุขภาวะมากว่า 10 ปี เน้นย้ำว่าทัศนคติที่มีต่อความผิดนำไปสู่วิธีคิดเกี่ยวกับการลงโทษ โดยยกตัวอย่างกรณีคดียาเสพติดที่หลายครั้งผู้ที่เกี่ยวข้องทางอ้อม หรือไม่เกี่ยวข้องเลยกับความผิดนั้นมักจะถูกลงโทษไปด้วย เพียงเพราะว่าปัญหายาเสพติดถูกทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าเป็นปัญหาร้ายแรงของสังคมและต้องปราบปรามอย่างหนัก สังคมจึงมองผู้ที่เกี่ยวข้องต่อยาเสพติดทั้งหมดในด้านลบ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งในกระบวนการจับกุมและกระบวนการยุติธรรมก็สามารถสร้างผลงาน (คำพูดจากเจ้าตัว)จากการปราบปรามกวาดล้างได้โดยง่าย ทำให้กระบวนการพิจารณาโทษอาจหละหลวม เนื่องจากการตัดสินว่าผิดนั้น ‘ง่ายกว่า’

ดร.นภาภรณ์ เสริมว่า สาเหตุทั้งหมดมีผลให้เรือนจำมีอำนาจเป็นสถาบันเบ็ดเสร็จ จนทำให้เกิดระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่าง “ผู้รับโทษ” กับ “ผู้ลงโทษ”(ผู้คุมหรืออาจหมายถึงคนทั้งสังคมด้วย) ซึ่งสร้างวิธีคิดเกี่ยวกับการลงโทษชุดเดียวกันในตัวผู้ต้องขังอีกด้วย

“พอผู้ต้องขังอยู่กับระบบนี้ไปนานๆ เชื่อไหมว่าเขาจะพึงพอใจต่อสิ่งนี้ การที่เขาสยบยอมต่ออำนาจมันทำให้เขาได้รับความเมตตา รู้สึกโอเค ปลอดภัย”

ท้ายสุด ดร. นภาภรณ์ กล่าวว่า กฎหมายทุกอย่างเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน แต่การจะแก้กฎหมายเป็นเรื่องยากนอกจากว่าคนในสังคมจะเปลี่ยนวิธีคิดก่อนแล้วจึงผลักดันให้กฎหมายถูกปรับอย่างเหมาะสม เพราะการออกกฎหมายหลายฉบับในประเทศไทยไม่ได้มีการทำประชาพิจารณ์