ไม่พบผลการค้นหา
สมาชิกวุฒิสภา ชี้รัฐบาลจะล้มหรือไม่ ขึ้นกับเหตุ 3 ประการ ทะเลาะพรรคร่วม - ทุจริต - คนหมดศรัทธา ยันเสียงของ ส.ว.ไม่มีหน้าที่ปกป้องใคร

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) วิเคราะห์สถานการณ์การเมือง หัวข้อ "ส.ว.กับการชี้ขาดทางการเมือง" ระบุ การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ออกแบบให้ ส.ว.มาช่วยถ่วงดุล ประคับประคองในระยะเปลี่ยนผ่าน ไม่ได้มีหน้าที่ช่วยเหลือปกป้องรัฐบาล และหากรัฐบาลจะล้มก็เพราะทำตัวเอง  

เนื้อหาทั้งหมดระบุผ่านเฟซบุ๊กดังนี้ 

"ส.ว.กับการชี้ขาดทางการเมือง"

เสียงปริ่มน้ำได้ออกฤทธิ์ออกเดชในการประชุมสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงขั้นแพ้มติและสภาล่มถึงสองครั้งสองครา ก็อย่างที่ว่านั่นแหละ การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอยากมีอยากเป็นหรือการรักษาอำนาจก็จะเป็นการเล่นเกมชิงไหวชิงพริบกันทางการเมือง เสียงปริ่มน้ำก็จะเกิดอาการอย่างที่เห็น ทั้งการต่อรองและการเล่นเกมทางการเมือง ทำให้ประชาชนรู้สึกเอือมระอากับการเมืองถึงขนาดโจมตีด่าทอกันสารพัด ทั้งเชียร์และแช่งตามอารมณ์ของความชอบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือประชาชนรู้สึกหวั่นไหวว่ารัฐบาลจะไปรอดหรือไม่

นายวันชัยโพสต์ต่อว่า มาดูคณิตศาสตร์ทางการเมืองกันสักหน่อยดีไหม ใครจะเป็นรัฐบาลต้องมีเสียงจากรัฐสภา 376 เสียง แต่การดำรงอยู่ของรัฐบาลต้องใช้เสียงของสภาผู้แทนราษฎร 251 เสียงขึ้นไปมันถ่วงดุลกันอยู่อย่างนี้ จะตั้งรัฐบาลต้องใช้ทั้งสองสภา จะล้มรัฐบาลใช้สภาเดียว 251 เสียงขึ้นไป ดูแล้วถ้าจะล้มรัฐบาลในขณะที่เสียงปริ่มน้ำนั้นง่ายมาก ห่างกันอยู่ไม่กี่เสียง ดูทีท่าว่าจะล้มเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ปัญหามีอยู่ว่าล้มแล้วจะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ 

สมมติว่าพรรคพลังประชารัฐรวมกับพรรคของคุณสุเทพและพรรคประชาธิปัตย์รวมกันได้ 170 เสียง ให้พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่และพรรคอื่นๆ รวมกันได้ 330 เสียง ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้อยู่ดี จะหมุนซ้ายหมุนขวาหมุนหน้าหมุนหลังก็ไม่ได้ 376 เสียง ก็รัฐธรรมนูญเขาออกแบบมารู้ว่าการเมืองมันก็เป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์แล้วก็ต่อรองกัน บ้านเมืองก็มีปัญหา ประชาชนก็แย่ เขาจึงเอา ส.ว.มาช่วยถ่วงดุล ประคับประคองให้ บ้านเมืองมันเดินไปในระยะเปลี่ยนผ่าน ไม่ให้มาเล่นเกม มาต่อรองมาชิงไหวชิงพริบทางการเมืองอย่างที่เป็น จึงให้ทุกฝ่ายหันมาทำหน้าที่กันมากกว่าที่จะมาแย่งอำนาจแย่งผลประโยชน์ ส.ว.จึงมีส่วนสำคัญในการปกป้องพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่าอำนาจของใครคนใดคนหนึ่ง

รัฐบาลจะล้มหรือดำรงอยู่ได้หรือไม่นั้นก็มาจากเหตุ 3 ประการคือ 

1. พรรคร่วมรัฐบาลทะเลาะกันแล้วก็แตกกัน

2. ทุจริตโกงกินคอร์รัปชัน  

3. ไม่มีผลงาน คนเบื่อ หมดหวังหมดศรัทธา 

นั่นก็หมายความว่าไม่ว่าจะในสภาหรือนอกสภาที่คนมาเดินตามท้องถนน จะล้มหรือไม่ล้มก็มาจาก 3 ปัจจัยนี้ เกิดจากทำตัวเองทั้งนั้น

ส.ว.ก็เช่นกัน เขาให้มาทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน ไม่ได้ให้มาปกป้องรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง รัฐบาลใดดีมีผลงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนก็ต้องสนับสนุน แต่ถ้ารัฐบาลใดอยู่ในปัจจัย 3 ประการ ประชาชนก็ไม่เอา หมดหวังหมดศรัทธา เชียร์ไปก็น่าจะเสียผู้เสียคน

ดังนั้น รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ได้ ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่หรือเสียงของ ส.ว. แต่อยู่ที่การทำตัวของตัวเอง และอยู่ที่ว่าไปนั่งอยู่ในใจของประชาชนได้หรือเปล่าต่างหากเล่า