วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า เราไม่สามารถจะไล่คนที่เห็นต่างจากเราไปได้ รัฐบาลต้องรับฟังเสียงของคนคิดต่าง และเปิดโอกาสให้พูดคุยอย่างมีวุฒิภาวะ ถ้าแต่ละฝ่ายได้มีการรับฟังอย่างเคารพ ก็จะทำให้มีพื้นที่และยอมรับกันมากขึ้น แต่รัฐบาลไม่รับฟังเสียงของประชาชน และยังปฏิเสธว่าตัวเองไม่เคยทำผิดอะไรเลย ปัญหาก็เลยลุกลาม แถมยังใช้กฎหมายเลือกปฏิบัติ จับกุมประชาชนที่คิดต่าง ขู่ประชาชนที่ใช้โซเชียลถึง 3 แสนราย ปิดกั้นสื่อและคุกคามเสรีภาพสื่อ และที่ให้อภัยไม่ได้คือมีการสันนิษฐานว่าจะสร้างเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ที่นำมาสู่การสังหารหมู่ และเหตุการณ์เหล่านี้ก็เคยเกิดขึ้นเช่นทุ่งสังหารราชประสงค์ ปี 2553 และยังหาคนกระทำผิดมารับผิดชอบไม่ได้ แต่ยังมีการผลิตซ้ำคำว่า ‘ชังชาติ’ ‘ล้มเจ้า’ และสุดท้ายก็จะเป็นวงจรเดิมคือรัฐประหาร
นอกจากนี้ ยังพบว่าศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความเสียดสีประชาชนที่เห็นต่าง และมีหลักฐานจำนวนมากว่ามีการเกณฑ์คน เจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร มาใส่เสื้อเหลืองชุมนุมเคลื่อนไหว เพราะมีคนที่ถูกเกณฑ์จำนวนไม่น้อยไม่สบายใจกับเหตุการณ์แบบนี้ สังเกตง่ายๆ จากทรงผม เป็นพฤติกรรมที่พยายามจะแบ่งประชาชนเป็นฝั่งเป็นฝ่ายและนำมาสู่การปะทะกันเองของประชาชน และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากเสื้อเหลืองที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคี กลายเป็นความขัดแย้ง ที่มีชายเสื้อเหลืองปกป้องสถาบัน แต่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กลับถูกทำร้าย กลายเป็นว่าเสื้อเหลืองคือสัญลักษณ์ของการปกป้องอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือเช่นเหตุการณ์ความรุนแรงที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ท่าทีของ กอร.ฉ. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษากล่าวโทษนักเรียนเนตรนารี ว่าเข้าไปยั่วยุก่อน เป็นเหมือนการสัญญาณให้ความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง ให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งเข้าไปทำร้ายคนที่เห็นต่างได้
"พล.อ.ประยุทธ์ เอาแต่หลอนว่าม็อบมีคนอยู่เบื้องหลัง ดูถูกประชาชน คิดว่าประชาชนไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง พอตัวเองไม่มีสติปัญญาในการบริหารบ้านเมือง กลับใช้มุกเดิม ๆ ในสมัยสงครามเย็น สร้างปีศาจ และยัดเยียดให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งเป็นศัตรู จากนั้นก็ปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดชังกัน จงใจสร้างความไม่สงบขึ้นมาเอง เอาประชาชนกลุ่มหนึ่งเป็นเหยื่อแล้วใช้ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นเครื่องมือ พอมีเหตุปะทะกันก็ใช้อำนาจพิเศษ ใช้กฎหมายจัดการประชาชนที่คิดต่างอย่างเลือกปฏิบัติ" วิโรจน์ ระบุ
วิโรจน์ ยืนยันว่าการขับไล่รัฐบาลที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ แบบ ‘โครงการไล่ประยุทธ์ผุดทั่วไทย’ ถ้ามีคนที่ต้องอยู่เบื้องหลังก็น่าจะเป็นพรรคการเมืองที่เปิดเผยว่ารัฐธรรมนูญออกแบบมาเพื่อพวกตน ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อประชาชน ประชาชนก็จะรู้ได้ว่าเป็นไม่ได้ว่าจะเป็นรัฐบาลเพื่อประชาชน เราต้องประคับประคองไม่ให้สังคมตกเป็นเหยื่อเงื่อนไขความขัดแย้งและความเกลียดชังที่ถูกสร้างขึ้น เราต้องยอมรับว่าคนที่เห็นต่างมีอยู่จริง และต่างฝ่ายต้องอยู่ร่วมกันให้ได้โดยไม่อาฆาตมาดร้ายต่อกัน แต่ถ้าทีที่รุนแรงเพราะถูกกดทับเรื่องความรุนแรง ในระบบอำนาจนิยม ชายเป็นใหญ่ อภิสิทธิ์กับผู้เกิดก่อน ระบบเส้น ระบบอุปถัมภ์ ระบบโซตัส สั่งให้ทำต้องทำห้ามถามห้ามสงสัย แต่ยุคนี้คนรุ่นใหม่เกิดมาในสิ่งแวดล้อมที่สามารถหาข้อมูลเองได้ เราต้องพูดคุย และเข้าใจพวกเขาด้วยสายใยทางสังคม และในฐานะเพื่อนร่วมชาติ และเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่ออกมาปกป้องสถาบันก็มีอยู่จริง
อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าการคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ตนขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากนายกรัฐมนตรี และขอให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล และเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่เป็นอิสระจากกลไกของ คสช. มาขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร. จากนั้นจึงยุบสภาและคืนอำนาจให้ประชาชน
“ต้องยอมรับว่ารัฐนาวานี้ได้นับถอยหลังลงแล้ว สาม สอง หนึ่ง ศูนย์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านเสียสละลาออก ลาออกเพื่อให้ประชาชนได้นับอนาคตของเชขาไปข้างหน้า วัน ทู ทรี โฟร์ ไฟว์ ขอบพระคุณครับ” วิโรจน์ ระบุ
‘ชวน’ ลั่น “อย่ากลัวความจริง” เปิดช่อง ‘ถวิล-สาทิตย์’ โต้ ‘วิโรจน์’
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังวิโรจน์ กล่าวเปรียบเทียบเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 กับเหตุการณ์ทุ่งสังหาร ปี 2553 ถวิล เปลี่ยนศรี ส.ว. ลุกขึ้นประท้วง ว่าตนอยู่ในเหตุการณ์ และข้อเท็จจริงไม่ตรง จากนั้น ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้น กล่าวว่า ตนได้ทักท้วงไปแล้วว่าไม่ให้กล่าวถึงหน่วยงานในอดีตที่เข้ามาชี้แจงไม่ได้ และถ้าเรื่องที่เขากล่าวถึงไม่ได้เกี่ยวกับตนโดยตรงก็ไม่จำเป็นต้องชี้แจง
ถวิล กล่าวว่า ถึงแม้จะไม่ได้ระบุชื่อ แต่ผู้อภิปรายกล่าวว่ามีการปราบปราม ซึ่งตอนนั้นตนเป็นเลขานุการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเหตุการณ์ 2553 ซึ่งต่างจาก 6 ตุลา เพราะตอนนั้นไม่ใช่การล้อมปราบประชาชน
ด้าน ชวน ระบุว่าสิ่งที่นายวิโรจน์อภิปรายนั้นไม่ผิดข้อบังคับการประชุม ถวิลไม่จำเป็นต้องชี้แจง อย่างไรก็ตาม ถวิล ยังขอชี้แจงต่อว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ต่างจากเหตุการณ์ปี 2553 กลุ่มที่มาประท้วงเรียกร้องรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถือว่าไม่ใช่การเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย เพราะอภิสิทธิ์มาตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ทั้งนี้ ยืนยันว่าปี 2553 ไม่มีการล้อมปราบ นปช. หรือสลายการชุมนุม
ขณะที่ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วงว่า ผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ 2553 ไม่มีสิทธิ์ขึ้นมาชี้แจง และถวิลเองไม่ใช่ผู้นำรัฐบาลในขณะนั้น ไม่ควรให้ลงรายละเอียด ทำให้ชวน กล่าวว่า ตนวินิจฉัยแล้วอย่าไปกลัวความจริง ให้ถวิลชี้แจงต่อ
ถวิล กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ ปี 2553 ไม่มีครั้งใดที่รัฐบาลใช้กำลังสลายการชุมนุม และศาลวินิจฉัยว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุการณ์ที่วิโรจน์กล่าวถึงนั้น เป็นการกระชับวงล้อม เพื่อไม่ให้มีผู้ก่อเหตุร้ายใช้อาวุธ
พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ประท้วงประธานสภาฯว่า สิ่งที่พูดไม่เกิดประโยชน์กับการแก้ปัญหาของประเทศ เป็นเหมือนการสุมไฟ
ชวน กล่าวว่า ถ้าเป็นการรื้อฟื้นเรื่องเดิม จะมีข้อเท็จจริงเกิดขึ้น ตนเตือนวิโรจน์ไปแล้ว เมื่อกล่าวแล้วก็มีความเห็นไม่ตรง อีกด้านมีสิทธิ์ที่จะชี้แจง วิโรจน์ กล่าวว่า การใช้คำว่ากระชับวงล้อม หรือกระชับพื้นที่ก็แล้วแต่ ต้องยอมรับว่ามีคนไทยตายไป 99 ศพ และยังจับฆาตกรมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้
ด้านสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นที่มีการกล่าวว่าเกิดทุ่งสังหาร ตนชี้แจงว่าไม่มีทุ่งสังหาร การดำเนินการตอนนั้นเป็นไปตามกฎหมาย และมีการตรวจสอบโดยสื่อ และองค์กรอื่น มีการค้นหาข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการอิสระ โดยนายคณิต ณ นคร มีการตรวจสอบโดยการฟ้องศาล ฟ้อง ป.ป.ช. มีการตรวจสอบทางกฎหมายแล้ว