นับเป็นก้าวที่สร้างความประหลาดใจให้ผู้คนทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับประเด็น 'สิทธิมนุษยชน' ไม่น้อย เมื่อรัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ประกาศเจตนารมณ์ในการชุบชีวิตเปลี่ยนพื้นที่เขตปกครองซินเจียงให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวและกีฬาฤดูหนาวระดับโลก ด้วยการยกระดับกีฬาสกีที่มีมาก่อนแล้วให้กลายไปเป็นอุตสาหกรรมทำเงินที่คาดว่าจะมีมูลค่าราว 157,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5.14 ล้านล้านบาท
สื่อภายใต้รัฐบาลจีนต่างนำเสนอภาพที่แสดงออกถึงความนิยมที่กำลังเป็นกระแสของกีฬาฤดูหนาวอย่างสกี หรือที่ถูกพูดถึงในการโฆษณาว่าเป็น "Ski Fever" โดยมีการเผยแพร่ภาพมุมต่างๆ ของสถานที่เล่นสกีในซินเจียง ภาพของคนรุ่นใหม่และมหาเศรษฐีจากเมืองใหญ่ที่เดินทางมาสกีกันอย่างสนุกสนานพร้อมกับการถ่ายเซลฟี่กับอุปกรณ์สกีราคาแพงมากมาย ไปจนถึงภาพของ 'เน็ตไอดอลชาวซินเจียง' คนดังที่เป็นตัวแทนถือคบเพลิงในพิธีเปิด 'ปักกิ่ง 2022' อีกด้วย
นอกจากนั้นยังพบว่า หลังการประกาศการเป็นเจ้าภาพปักกิ่ง 2022 อย่างเป็นทางการเมื่อ 7 ปีก่อน สกีรีสอร์ตในจีนได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 4 เท่าด้วยกัน โดยในซินเจียงที่เดียวพบว่ามีสกีรีสอร์ตจำนวนมากถึง 72 แห่ง
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในปักกิ่งก็ช่วยตอกย้ำความเป็น 'ต้นกำเนิดสกี' ของซินเจียง ด้วยการอธิบายด้วยภาพวาดจากผนังถ้ำตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ชี้ว่าการเล่นสกีมีขึ้นในซินเจียงมานานกว่า 10,000 ปีแล้ว อย่างไรก็ตาม เรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของโลกไม่ใช่เฉพาะแค่ที่จีนเท่านั้น
การโปรโมทการท่องเที่ยวครั้งใหญ่นี้มีขึ้นท่ามกลางกระแสต่อต้านรัฐบาลจีนจากนานาชาติในประเด็นของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในซินเจียงที่ก่อนหน้านี้ชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ได้ประกาศบอยคอตไม่ส่งเจ้าหน้าที่ทางการทูตร่วมพิธีเปิด 'ปักกิ่ง 2022'
ในปี 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้เรียกการกระทำของรัฐบาลจีนว่าเป็น "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการกระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" เป็นครั้งแรกในเอกสารรายงานสิทธิมนุษยชนประจำปี 2563
มีการระบุว่าทั้งชาวอุยกูร์ ชาวมุสลิม กลุ่มชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อย ต่างถูกกักขัง ทรมาน บีบบังคับ และข่มเหงรังแก สอดคล้องกับ Amnesty International และ Human Rights Watch ที่ออกรายงานว่าจีนกำลังก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งแน่นอนว่าทางการจีนปฏิเสธเรื่อยมา
CNA รายงานอ้างอิงภาพถ่ายดาวเทียมจาก Australian Strategic Policy Institute ซึ่งเปิดเผยว่าในพื้นที่ซินเจียงมีการก่อสร้าง 'สถานกักกัน' มากถึง 12 แห่ง ขณะที่สำนักข่าว BBC ก็เคยรายงานว่า "จีนถูกกล่าวหาว่าคุมขังชาวมุสลิมหลายแสนคนในเขตปกครองซินเจียงอุยกูร์โดยไร้ข้อหาและการพิจารณาคดี" พร้อมระบุว่าระหว่างปี 2558-2561 "มีสิ่งก่อสร้างใหม่ที่ผุดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นพื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่ที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างหนาแน่นด้วยกำแพงล้อมรอบยาว 2 กม. และหอสังเกตการณ์ถึง 16 หลัง"