ไม่พบผลการค้นหา
อีกหนึ่งวาระที่ต้อง “จบให้ลง” บนโต๊ะเจรจา 4 ฝ่าย ระหว่าง รัฐบาล ส.ส.ซีกรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.

คือ การวางจุดกึ่งกลางร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... อันเป็นกฎหมายสำคัญที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี 

การันตีผ่านวาระที่ 3 ในการเปิดการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ 7-8 เม.ย. นี้ ภายหลังที่ต้องถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมาแก้กันใหม่ 

ซึ่งย้อนกลับไปวันที่ 18 มี.ค. ระหว่างการพิจารณามาตรา 9 ในวาระที่ 2 “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมาธิการ ที่สงวนคำแปรญัตติ ได้ขอแก้ไขมาตรา 9 เพิ่มสิทธิ์ของรัฐสภาและประชาชน เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทำประชามติได้ แก้ไขจากเดิมที่ให้ คณะรัฐมนตรี มีอำนาจในการเสนอจัดทำประชามติได้เท่านั้น

แล้วใช้จังหวะที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจากพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.อยู่ในห้องประชุมกันบางตา อาศัยมือที่ฝ่ายค้าน และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่มีมากกว่า พลิกเกมจนโหวตชนะได้ เป็นผลให้ กมธ.ต้องถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกไป เพื่อรื้อแก้ไขให้สอดคล้องกับมาตรา 9 ที่ฝ่ายค้านชนะโหวต 

อันเป็นต้นตอของการประชุม 4 ฝ่าย ซึ่งมีตัวแทนประจำการอยู่ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ....

ท่ามกลางเสียงขู่ของบรรดา ส.ว. ที่มีตั้งแต่ “ขู่คว่ำ” ร่างกฎหมาย และ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหลังผ่านวาระ 3 

ตามเกมขณะนี้ ที่อ่านได้จากปาก “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายรัฐบาล ระบุว่า 

“เบื้องต้นแนะนำคณะกรรมการกฤษฎีกาไปแก้มาตรา 10, 11, 12 แล้วนำเสนอคณะกรรมาธิการฯถ้าเสียงข้างมากยอมก็เบาไปเยอะ ถ้าเป็นไปตามที่เราคุยกันไว้คิดว่าไม่มีปัญหาอะไร มั่นใจว่าจะผ่าน เพราะเมื่อแนะนำไปแล้วคิดว่าแก้ได้ หาก ส.ว.ดูแล้วอาจเข้าใจและไม่สงสัยก็ได้ ถ้ายังสงสัยอยู่ก็มีสิทธิ์ยื่นตีความ ปัญหาเหลือเพียงว่าถ้ากรรมาธิการเสียงข้างมากข้างน้อยไม่ยอมกันอีก ก็ไม่รู้แล้ว”

ประชุมรัฐสภา สุรชัย สมาชิกวุฒิสภา ประชามติ 141D1.jpeg

ขณะที่ “สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย” ส.ว. ในฐานะประธาน กมธ.เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ได้หารือนอกรอบกับตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ประชามติมาตรา 9 โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. 2 มาตรา คือ มาตรา 10 ขั้นตอนวิธีการออกเสียงประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ และมาตรา 11 การทำประชามติเรื่องอื่นๆ ให้สอดรับเนื้อหามาตรา 9 

เท่าที่ดูเนื้อหาที่กฤษฎีกาแก้ เห็นด้วยในหลักการ แต่ยังมีบางถ้อยคำควรปรับแก้เพิ่มเติม ส่วนข้อกังวลในมาตรา 9อาจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น กฤษฎีกาพยายามใช้มาตรา 10, 11 ไปขยายความมาตรา 9 กำหนด รายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

โดย กมธ.ยังคงหลักการเพิ่มอำนาจให้ประชาชนเข้าชื่อขอให้ ครม.มีมติจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ เพียงแต่ขยายความ และวิธีการไว้ในมาตรา 11 ให้ชัดเจนขึ้น ขั้นตอนหลังจากนี้ กมธ.จะประชุมวันที่ 1 เม.ย.ว่า จะเห็นชอบตามกฤษฎีกาปรับแก้หรือไม่

แต่อีกด้าน ยังมีความพยายามอย่างแรงกล้า ของ ส.ส.แกนนำพลังประชารัฐ และ ส.ว.ฝ่ายอนุรักษ์ ที่เตรียมแผนยื่นศาลรัฐธรรมนูญหลังจบวาระที่ 3 

เพราะเกณฑ์การส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ย่อมต่างไปจากการที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.สมชาย แสวงการ ร่วมกันขอมติรัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญถึง “อำนาจ” ของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ได้หรือไม่ กระทั่งศาลให้คำตอบว่าเป็นอำนาจของรัฐสภา แต่ต้องถามเจ้าของอำนาจคือประชาชน ที่เป็นผู้สถานปนารัฐธรรมนูญ โดยต้องทำประชามติก่อน 2 ครั้ง 

ชวน กมธ ประชามติ รัฐสภา ชูศักดิ์ 4EE6-8958-A3503F63CB90.jpeg

แต่ช่องทางที่ ส.ว.เตรียมนำมาใช้คือ ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 (1) เปิดช่อง ส.ส.หรือ ส.ว. หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า

ดังนั้น หาก ส.ส. และ ส.ว. ตีเป็นตัวเลขกลมๆ ตามรัฐธรรมนูญ มี 750 เสียง หากใช้เสียง 1 ใน 10 ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะใช้เสียงเพียง 75 เสียงก็ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้เหมือนปลอกกล้วยเข้าปาก 

แม้ว่า “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ นำคำบัญชาจากนายกฯ ถึงพรรคร่วมรัฐบาล ที่ขอให้ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ผ่านวาระ 3

เพราะหากถูกคว่ำ จะทำให้เกิดความปั่นป่วนแน่นอน เพราะระดับของกฎหมายประชามติถือว่ามีความสำคัญสูงสุด เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี

หากถูกตีตกหนีไม่พ้น ที่รัฐบาลจะถูกต้อนเข้ามุมอับให้รับผิดชอบต่อกฎหมายที่ตกไป เสียงไล่บี้ ยุบสภา - ลาออก อาจกลับดังอีกครั้ง

หากที่สุดแล้วเรื่องนี้อาจจบง่ายที่สุดคือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีอันเป็นไปเฉพาะจุดที่ขัดรัฐธรรมนูญ หรือ ขัดเฉพาะส่วน 

ก็พ้นจากความรับผิดชอบของรัฐบาล 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง