ไม่พบผลการค้นหา
ธนบัตรที่ระลึกใหม่ของไทยไร้ EURion ปชช.ตั้งข้อสังเกต อาจเสี่ยงคัดลอก-ปลอมแปลง พร้อมแนบภาพจาก photoshop ซึ่งปกติถ้ามี 'กลุ่มดาว' จะเปิดไม่ได้

นอกจากประชาชนจะเกิดความสับสนระหว่าง 'ธนบัตรที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562' มูลค่า 100 บาท ซึ่งออกใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ 12 ธ.ค. กับธนบัตรมูลค่า 1,000 บาท ปัจจุบัน (แบบที่ 17) จากสีที่ใกล้เคียงกัน 

ล่าสุด โลกออนไลน์ตั้งข้อสังเกตุว่า เหตุใดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงปล่อยธนบัตรที่ระลึกดังกล่าวออกมาให้ใช้งานซื้อสินค้าได้จริง (อ้างอิง หนังสือข่าว ธปท.ฉบับที่ 82/2563 ระบุว่า "สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย") โดยปราศจากสิ่งที่เรียกว่า 'กลุ่มดาวยูไรอัน' หรือ EURion constellation ซึ่งอาจส่งให้เกิดช่องว่างในการปลอมแปลงและเลียนแบบได้ 

จากประเด็นดังกล่าว 'วอยซ์' ชวนทำความเข้าใจถึงที่มารวมทั้งเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้หลายประเทศนำกลุ่มดาวเหล่านั้นเข้าไปอยู่บนธนบัตรเงินตรา


สืบประวัติดวงดาวกันซีรอกซ์

หากสรุปความโดยง่าย 'กลุ่มดาวยูไรอัน' คือแพทเทิร์นการรวมตัวของวงกลม 5 ดวงที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถนำธนบัตรเงินตราไปถ่ายเอกสารสี (ซีรอกซ์) และนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายได้ โดยมีกลุ่มต่อต้านการปลอมแปลงธนาคารกลาง หรือ Central Bank Counterfeit Deterrence Group (CBCDG) เป็นองค์กรหลักในการดูแลเรื่องดังกล่าว

ในบทความของบีบีซี ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2558 ภายใต้ชื่อ 'รหัสลับของธนบัตรแห่งสหราชอาณาจักร' 'มาร์คัส คูห์น' นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ (computer scientist) ผู้ค้นพบความลับราชการดังกล่าว ระบุว่า ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ที่เขายังเป็นนักศึกษาปริญญาเอกนั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นวัตกรรมเครื่องซีรอกซ์สีถูกพัฒนาขึ้น พร้อมๆ กับความกังวลว่าผู้คนจะหันมาใช้ประโยชน์จากความสามารถดังกล่าวในทางที่ผิด 

ในฐานะนักวิจัยที่มีเครื่องมือพร้อม (การซีรอกซ์ธนบัตรเป็นเรื่องผิดกฎหมายในหลายประเทศ) เขาพยายามนำธนบัตร 20 ปอนด์สเตอร์ลิง ไปซีรอกซ์แต่เครื่องกลับไม่พิมพ์สีธนบัตรออกมา ทั้งยังขึ้นข้อความเตือนว่าสิ่งที่เขาทำอยู่นั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

เขาลองทำแบบเดียวกันอีกครั้งกับธนบัตร 10 ยูโร ก่อนได้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปของเขาว่า วิธีที่ธนาคารกลางหลายแห่งในโลกใช้เพื่อป้องกันการปลอมแปลงธนบัตรด้วยเครื่องซีรอกซ์สี คือการสร้างรหัสลับผ่านกลุ่มวงกลมขนาด 1 มิลลิเมตร ทั้งหมด 5 วง โดยเมื่อเครื่องซีรอกซ์ตรวจจับวงกลมทั้ง 5 ได้ ระบบจะปฏิเสธการทำงานทันที 

australia-dollar ธนบัตร
  • ภาพธนบัตร 5 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ที่มีภาพกลุ่มดาวเรียงตัวกันเป็นต้นไม้ บริเวณด้านขวาบน

แม้จะไม่มีการระบุอย่างชัดเจนทั้งจาก CBCDG และธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก ว่ารูปแบบกลุ่มดาวยูไรอันถูกนำมาใช้ตั้งแต่เมื่อใดและใครเป็นคนคิดค้น ทว่าข่าวประชาสัมพันธ์ซึ่งลงวันที่ 24 ส.ค. 2548 ของธนาคารกลางประเทศอินเดีย ระบุถึงแพทเทิร์นดังกล่าวว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการป้องกันการถ่ายเอกสารสี

โดยในเอกสารของธนาคารกลางอินเดียนั้น ระบุถึงแพทเทิร์นวงกลมดังกล่าวด้วยชื่อว่า 'Omron' (ออมรอน) ซึ่งตรงกับชื่อบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2476 (ค.ศ. 1933) ที่ทำธุรกิจในฝั่งนวัตกรรมอุตสาหกรรมขั้นสูง 

เท่านั้นยังไม่พอ บทความของบีบีซี ซึ่งเข้าไปค้นประวัติการจดสิทธิบัตรของบริษัท ยังพบว่า เมื่อปี 2538 (ค.ศ. 1995) บริษัทยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตร 'วิธีการตรวจจับ/ระบุสัญลักษณ์พิเศษบนสิ่งพิมพ์จากรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีระยะตำแหน่ง (spatial) เฉพาะ อาทิ บนธนบัตร' จึงเชื่อได้ว่า ออมรอน เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการคิดค้นกลุ่มดวงดาวนั้นขึ้นมา

นอกจากความพยายามของเหล่าธนาคารกลางไม่ให้ผู้คนสามารถถ่ายเอกสารสีธนบัตรได้แล้ว ในปี 2547 CBCDG ยังออกหนังสือระบุว่า องค์กรได้พยายามเพิ่มเติมในการป้องกันการปลอมแปลงธนบัตรผ่านมาตรการที่ชื่อว่า 'ระบบต่อต้านการปลอมแปลง' หรือ Counterfeit Deterrence System ซึ่งเชื่อได้ว่าทำงานร่วมกับโปรแกรมตัดต่อหลายราย เนื่องจาก CBCDG ระบุว่า เครื่องมือใหม่นี้ไม่อนุญาตให้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือโปรแกรมแต่งรูปออนไลน์สามารถจับภาพหรือสร้างภาพของธนบัตรที่ได้รับการปกป้องได้ 

โดยในเว็บไซต์ของ Adobe Photoshop ลงวันที่ 24 ก.ย. 2563 ระบุว่า บริษัทให้ความร่วมมือกับระบบต่อต้านการปลอมแปลงดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ "ผู้ใช้งานจะไม่สามารถเปิดภาพรายละเอียดธนบัตรบนโปรแกรมได้"

เมื่อกลับมาที่ประเทศไทย ธปท.ระบุว่า ธนบัตรที่ระลึกนี้ ใช้หมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติเปลี่ยนสีได้ซึ่งเป็นลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงและเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบที่ใช้กับธนบัตรรุ่นปัจจุบัน (แบบที่ 17) แต่ไม่ได้มีการระบุว่าอย่างเป็นทางการว่ามีกลุ่มดาวยูไรอันหรือไม่ 

ธนบัตร
  • ภาพตัวอย่าง ธนบัตร 100 บาท แบบที่ 17 ซึ่งเป็นแบบปัจจุบัน จาก ธปท. (ด้านหลัง) สังเกตมีกลุ่มดาวยูไรอันบริเวณด้านขวามือ
ธนบัตร
  • ภาพตัวอย่าง ธนบัตร 100 บาท แบบที่ 17 ซึ่งเป็นแบบปัจจุบัน จาก ธปท. (ด้านหน้า) สังเกตมีกลุ่มดาวยูไรอันบริเวณด้านซ้ายมือของตราครุฑ

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาภาพธนบัตร 20, 50, 100, 500 และ 1,000 บาท ของไทยแบบที่ 17 ซึ่งเป็นแบบล่าสุดที่ ธปท.ประกาศใช้ จะพบว่ามีกลุ่มดาวดังกล่าวอยู่ด้านหลังของธนบัตร บริเวณทางขวาล่างด้วยกันทั้งสิ้น

แต่ในธนบัตรที่ระลึกมูลค่า 100 บาท กลับเสมือนว่าไม่มีกลุ่มดวงดาวดังกล่าว อีกทั้งภาพบนโลกออกไลน์ยังขึ้นเป็นธนบัตรที่ระลึกนั้นบนโปรแกรม photoshop ซึ่งหากมีกลุ่มดวงดาวจริง ตามเงื่อนไขของ CBCDG ภาพจะไม่สามารถขึ้นได้ 

ธปท - ธนบัตร
  • ธนบัตรที่ระลึก 100 บาท (ด้านหน้า)
ธปท - ธนบัตร
  • ธนบัตรที่ระลึก 100 บาท (ด้านหลัง)
ธนบัตร
  • ภาพธนบัตรที่ระลึกฯ มูลค่า 100 บาท ซึ่งถูกเปิดด้วยโปรแกรม Adobe Photoshop จากบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ 'สุวพันธ์ อุตส่าห์'

เนื่องจากธนบัตรที่ระลึกของครั้งนี้สามารถใช้ซื้อสินค้าได้ตามกฎหมาย หากปล่อยธนบัตรที่ปราศจากเครื่องมือป้องกันการปลอมแปลงออกมา อาจสร้างให้เกิดช่องโหว่อันนำไปสู่การทำผิดกฎหมายได้ โดยล่าสุด ธปท.ยังไม่ได้ออกมาชี้แจงแต่อย่างใด

ธปท

อ้างอิง; BOT, BBC, Business Insider, Reserve Bank of India, CBCDG, Adobe. Murdoch