ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงยุติธรรม – ดีเอสไอ นำเสนอภาพรวมแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน วาง 3 มาตรการ "กฎหมาย-การบังคับใช้กฎหมาย-การช่วยเหลืออำนวยความยุติธรรม" ร่วมแก้ปัญหา

นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำ Flow chart แผนภาพแสดงลำดับขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อแสดงให้เห็นภาพรวมของการบูรณาการ การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ สำหรับใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานให้ครอบคลุมในทุกมิติ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 27 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงมหาดไทย ทหาร กระทรวงการคลัง ธนาคารที่ดิน ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น

รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน จึงเห็นสมควรจัดประชุมในวันนี้ขึ้นเพื่อหารือบทบาท ภารกิจของแต่ละหน่วยงาน โดยได้จัดทำ Flow chart แผนภาพแสดงลำดับขั้นตอนเพื่อแสดงให้เห็นภาพรวมของการบูรณาการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ โดยจะร่วมกันหารือภาพรวมของปัญหา อุปสรรค พร้อมข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาในเชิงบูรณาการและนโยบาย และร่วมกันพิจารณาถึงบทบาทของแต่ละหน่วยงานกับการช่วยเหลือหนี้นอกระบบ ในประเด็น การบังคับใช้กฎหมาย การช่วยเหลืออำนวยความยุติธรรม การช่วยเหลือด้านแหล่งทุน และการช่วยเหลือสงเคราะห์

สำหรับปัญหาหนี้สิน ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ ที่เกิดจากหลายสาเหตุซึ่งมีความเชื่อมโยงกัน ทั้งปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ หรือ เศรษฐกิจของโลก ภัยธรรมชาติ สถานะที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และปัจจัยที่ควบคุมได้ เช่น รายได้ การดำรงตน การป้องกันความเสี่ยง การรับรู้ แต่บทสุดท้ายของผู้ที่ตกเป็นหนี้จะอยู่ในภาวะที่ต้องจำยอมทำสัญญาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบเพราะต้องการเงินและเมื่อถูกฟ้องร้องดำเนินคดีก็ไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย ทำให้อยู่ในฐานะที่เสียเปรียบตั้งแต่ต้นธารของกระบวนการยุติธรรม 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้ความสำคัญกับ “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” เพราะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมของผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงกว่า คือ “เจ้าหนี้” และผู้มีฐานะด้อยกว่าคือ “ลูกหนี้” ซึ่งเกี่ยวข้องกับภารกิจของกระทรวงยุติธรรมโดยตรง และกระทรวงยุติธรรมได้เข้ามาแก้ไขปัญหา ด้วยมาตรการดังต่อไปนี้

(1) ด้านกฎหมาย ได้แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ให้มีบทลงโทษสำหรับผู้ปล่อยเงินกู้โดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด (ร้อยละ 15 ต่อปี) ให้มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

(2) ด้านการบังคับใช้กฎหมาย หากเป็นกรณีเจ้าหนี้ผู้มีอิทธิพล รายใหญ่ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้เข้าไปสืบสวนสอบสวน และประสานกับกรมสรรพากรเมื่อดำเนินมาตรการทางภาษี 

(3) ด้านการช่วยเหลืออำนวยความยุติธรรม เพราะลูกหนี้จะถูกเอาเปรียบในเรื่องดอกเบี้ย การทำสัญญา ซึ่งได้สั่งการให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จัดให้คำปรึกษาแนะนำทางด้านกฎหมาย รับเรื่องร้องเรียนทั้งจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อประกอบการดำเนินคดีด้วยมาตรการทางอาญา ประกอบการให้ความช่วยทางแพ่ง การพิจารณาช่วยเหลือด้านทนายความตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนยุติธรรม


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-หนี้นอกระบบครัวเรือนไทยต่ำสุดรอบ 10 ปี

-โครงการแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาล เป็นจริงหรือไม่ ?

-เสวนาวิกฤติหนี้นอกระบบ-ทางออกของสังคมไทย