นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz ชุดที่ 1 คลื่นความถี่ 1710-1725 MHz คู่กับ 1805-1820 MHz ที่ราคาประมูล 39,792 ล้านบาท ได้นำเงินค่าประมูลงวดที่ 2 จำนวน 9,948 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 อีก 696.36 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,644.36 ล้านบาท พร้อมกับหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินเพื่อค้ำประกันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ในส่วนที่เหลือวงเงิน 10,644.36 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) มามอบให้แก่สำนักงาน กสทช. ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของการชำระเงินประมูล โดยเงินค่าประมูลดังกล่าว สำนักงาน กสทช. จะรีบนำส่งกระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป
สำหรับงวดที่ 3 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายจะครบกำหนดชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz อีก 25% ที่เหลือเป็นจำนวน 10,644.36 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) ในวันที่ 19 ธ.ค. 2561
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2560 บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ฯ ย่าน 1800 MHz ชุดที่ 2 คลื่นความถี่ 1725-1740 MHz คู่กับ 1820-1835 MHz ที่ราคาประมูล 40,986 ล้านบาท ก็ได้นำเงินค่าประมูลงวดที่ 2 จำนวน 10,963.755 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) มาชำระให้กับสำนักงาน กสทช. แล้ว
นายฐากร กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้จัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในปี 2558 บริษัท
ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz ชุดที่ 1 คลื่นความถี่ 1710-1725 MHz คู่กับ 1805-1820 MHz ที่ราคาประมูล 39,792 ล้านบาท และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ฯ ชุดที่ 2 คลื่นความถี่ 1725-1740 MHz คู่กับ 1820-1835 MHz ที่ราคาประมูล 40,986 ล้านบาท ซึ่งรวมแล้วการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ทำรายได้เข้ารัฐ 80,778 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 86,432.47 ล้านบาท) โดยการชำระเงินค่าประมูลจะแบ่งออกเป็น 3 งวด งวดแรกชำระ 50% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2 ชำระ 25% และงวดที่ 3 ชำระอีก 25% ซึ่งในปี 2558 ทั้งสองบริษัทได้ชำระค่าประมูลคลื่นความถี่ในงวดที่ 1 จำนวน 50% ของราคาที่ชนะการประมูลมาแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 43,216.23 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้นำส่งกระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินไปแล้ว
นอกจากนั้นนายฐากรกล่าวว่าเตรียมนำเรื่องที่เอกชนขอขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz ในงวดที่ 4 ที่มีกำหนดชำระในปี 62 เข้าที่ประชุมอนุกรรมการกสทช.ในพรุ่งนี้ ด้วย