วันนี้ (16 มีนาคม 2561) นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ร่วมพิธีเปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้า และเปิดตัวบัตรสำหรับชาร์จประจุไฟฟ้า (RFID) ในโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) โดยมี ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานในพิธี พร้อมด้วย ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ผู้แทนหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า และกลุ่มผู้ประกอบการการอัดประจุไฟฟ้า (Charging Consortium) ณ ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า สำหรับการร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดวิวัฒนาการครั้งสำคัญเพื่อร่วมกันขยายจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ รวมถึง กฟน. พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการภาคธุรกิจและเอกชนทุก ๆ ราย ที่ต้องการดำเนินธุรกิจดังกล่าวอย่างเต็มที่ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ กฟน. ในการทำหน้าที่เป็น “the MetGE : METRO GRID ENABLER” ที่พร้อมให้บริการเชื่อมต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างเพียงพอต่อเนื่องปลอดภัยมีประสิทธิภาพ และในโอกาส 60 ปี กฟน. จะพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อให้มหานครก้าวสู่วิถีอนาคต Smart Power, Smart Life, Smart Energy มุ่งสู่ Smart Metro
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 กฟน. เป็นหน่วยงานแรกที่ริเริ่มนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในกิจการตลอดจนวิจัยและพัฒนารวมทั้งผลักดันให้เกิดสถานีอัดประจุไฟฟ้าขึ้นเป็นที่แรกในการไฟฟ้านครหลวงเขตต่างๆ จำนวนถึง 10 สถานี แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ กฟน. ที่จะเป็นองค์กรชั้นนำด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในระดับสากล ที่มีความพร้อมในการควบคุมและจัดการระบบจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าแห่งอนาคต สำหรับในช่วงที่ผ่านมา กฟน. ได้วางแผนเตรียมระบบไฟฟ้าสำหรับหน่วยงานราชการที่สนใจและมีความพร้อมในการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่ให้บริการได้แก่ กรุงเทพ นนทบุรี และสมุทรปราการ และในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของ กฟน. ในการเดินหน้าสู่ธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อเป็นก้าวสำคัญในการเตรียมพร้อมและส่งเสริมให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าทั้งประเภทปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle : PHEV) และประเภทแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ทั่วประเทศ ที่รัฐตั้งเป้าหมายไว้รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579