ไม่พบผลการค้นหา
การเมืองไทยกำลังจะกลับมาร้อนฉ่าอีกครั้ง โดยเฉพาะกลางเดือน ก.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกฯ จะประกาศชัดถึงอนาคตทางการเมือง จะลุยต่อในศึกเลือกตั้งกันแบบไหน ขณะเดียวกัน คสช. ก็เตรียมจะใช้มาตรา 44 แก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อคลายล็อก ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมธุรการเบื้องต้น

โรดแมปการเลือกตั้ง ก็งวดเข้ามา เมื่อถึงคิว ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. จะประกาศราชกิจานุเบกษา ในช่วงเดียวกัน ก่อนรอบังคับใช้ 90 วัน เพื่อวางคิวเลือกตั้งตามกรอบ 150 วัน ระหว่างเดือน ก.พ. - พ.ค. 2562

ทว่าชาวโซเชียล อาจต้องเริ่มหัวร้อนกันตั้งแต่วันนี้ เมื่อทั้งพรรคการเมืองใหญ่ พรรคการเมืองเล็ก นักการเมืองหน้าใหม่หน้าเก่า ดาหน้าตั้งแง่ถึงกฎเหล็กคุมเข้มแคมเปญหาเสียงบนโซเชียล หลังเนติบริกร - สภาแต่งตั้งซ่อนกลไว้ใน ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

ที่มั่นสุดท้ายของสิทธิและเสรีภาพบนแพลตฟอร์มออนไลน์ตลอด 4 ปี ภายใต้รัฐบาล คสช. จะถูกรุกคืบไปอีกมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งจะถูกปิดกั้นบนถนนการเมืองในโลกแห่งความจริงแล้ว บนโลกเสมือนก็ทำท่าจะไร้ความหวังไปอีกหรือไม่ 

 วางแผนการตลาดอย่างไรเมื่อพื้นที่โฆษณาบนเฟซบุ๊กจำกัด?

คณาธิป ทองรวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต พร้อมชำแหละบทบัญญัติของกฎหมายเลือกตั้ง ที่รอกำลังประกาศใช้ ก่อนให้ กกต. ผู้คุมกฎไปออกหลักเกณฑ์ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงโฉมหน้าของการควบคุมในฉากถัดไป

"ภาพรวมถือว่าน่ากลัวกว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560" นักกฎหมายสื่อดิจิทัล ให้คำจำกัดความ ก่อนขยายความต่อไปว่า

สาระสำคัญของเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเสียงบนโซเชียลมีเดีย อยู่ที่มาตรา 70 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. วรรคหนึ่งใจความว่า "การหาเสียงเลือกตั้งจะกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ (กกต.) กำหนด แต่ห้ามมิให้ผู้ใดหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง"

แม้จะกำหนดให้ การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข การหาเสียงบนโซเชียล ให้ผ่านการหารือกับพรรคการเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสื่อมวลชน แต่ก็เปรียบเสมือน “การตีเช็คเปล่า”

เพราะให้ กกต. กรอกข้อกำหนดนิยามความหมายของการกระทำต่างๆ ไล่ตั้งแต่การนิยามคำว่าหาเสียงบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ก็ทำให้เกิดคำถามว่า ข้อความหรือประโยคแบบไหนจึงจะเข้าข่าย ใครบ้างที่จะถูกนับว่าเป็นผู้หาเสียง เพจอย่างเป็นทางการของพรรคการเมือง เพจอย่างเป็นทางการของสมาชิกพรรค หรือบัญชีผู้ใช้ของสมาชิกพรรค หรือบัญชีผู้ใช้ของชาวเน็ตบุคคลทั่วไป

พรรคอนาคตใหม่-อนาคตใหม่

จุดสำคัญที่ต้องจับตามองอยู่ที่ วรรคสามของมาตราดังกล่าว ที่ระบุว่า "กรณีที่ความปรากฎ ต่อ กกต. ผู้ใดทำผิดตามวรรคหนึ่งหรือฝ่าฝืนเงื่อนไข ก็ให้ กกต.มีอำนาจสั่งให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูลภายในเวลาที่กำหนด" 

นักวิชาการด้านกฎหมายสื่อดิจิทัล ชวนเท้าความกลับไป ก่อนเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า ถ้าใครยังจำได้ ถ้อยความในลักษณะนี้ เคยอยู่ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับเดิม และร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่

ก่อนที่จะมีแคมเปญล่ารายชื่อชาวเน็ตได้หลายแสนรายบนเว็บไซต์ change.org จนมีการปรับแก้ไขในบางส่วนของมาตรา 20 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเกี่ยวข้องต่อการวางหลักการตรวจสอบและถ่วงดุล ลดอำนาจเจ้าหน้าที่ด้วยการให้ขอความเห็นชอบจาก รมว.ดิจัทลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อนำเสนอหลักฐานต่อศาลให้ออกคำสั่งระงับหรือลบข้อมูลที่ถูกมองว่าผิด ออกจากคอมพิวเตอร์ 

“ทว่าในกฎหมายเลือกตั้งฉบับนี้ก็ไม่ได้มีหลักในการตรวจสอบและถ่วงดุล กกต. สามารถออกคำสั่งให้แก้ไขหรือลบข้อมูลนั้นได้ โดยไม่ต้องรวบรวมหลักฐานร้องให้ศาลมีคำสั่ง ถ้าเป็นเช่นนี้ ในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนมีการการเลือกตั้ง กกต.จะมีอำนาจไม่ต่างจากตำรวจและศาลในเวลาเดียวกัน เพราะสามารถตรวจตราความผิดและตัดสินได้ด้วยหน่วยงานของตัวเอง”

ข้ออ้างจากหลายฝ่ายที่ว่า เพื่อป้องกัน ข่าวปลอม หรือ fake news นั้น ก็ยังต้องรอการนิยาม ความหมายใน ระเบียบ หรือประกาศ กกต. ที่เกี่ยวข้องอีกครั้งว่า ขอบเขตจะกินความไปไกลแค่ไหน

แต่ที่แน่ๆการเขียนแบบนี้ กกต.ก็ไม่ต่างจากผู้ “เซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสาร” มีอำนาจไม่ต่างจากฝ่ายบริหารและตุลาการในคราเดียวกัน
กกต อิทธิพร บุญประคอง คณะกรรมการการเลือกตั้ง

(คณะกรรมการการเลือกตั้ง ชุดใหม่)

คณาธิป เปิดประเด็นต่อไปว่า สิ่งที่ต้องพิจารณาอีกคือ การกำหนดให้หาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียได้ แต่ห้ามให้คุณให้โทษ นั้นคืออะไร กกต.จะไปออกประกาศหรือหลักเกณฑ์ ข้อกำหนดให้มีความหมายอย่างไร

เงื่อนไขลักษณะนี้ก็เหมือนกับขัด “ธรรมชาติทางการเมือง” ที่ต้องมีการหาเสียง ของฝ่ายการเมือง ด้วยการนำเสนอข้อมูล ที่ก็ย่อมแน่นอนว่า ต้องมีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี ของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนเป็นข้อมูลนำมาใช้คิดวิเคราะห์ก่อนการตัดสินใจกาบัตรเลือกตั้ง

การคุมเข้มผ่านถ้อยคำกว้างๆว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง" นั้น ก็เปรียบเสมือนกับถ้อยคำในพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับล่าสุด แม้มีการคัดค้านอย่างหนัก

แต่ก็ไม่มีการตัดโอกาสตีความโดยเจ้าหน้า ผ่านคำว่า "ข้อมูลที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน" ที่ไม่มีความแน่ชัดว่าคืออะไรออกไป

การแสดงความคิดเห็นคือ สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงมี ภายใต้พันธกรณีที่ไทยเองก็เข้าร่วมเป็นภาคีกับสหประชาชติ ก็จำเป็นต้องยึดถือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองแและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่วางหลักการจำกัดสิทธิและเสรีภาพว่า ต้องชัดเจนไม่คลุมเครือ หากจะจำกัด ก็ต้องระบุเหตุผลให้ชัด 

บทบัญญติของกฎหมายเลือกตั้งฉบับนี้ก็ถือว่าขัดต่อกติการสากลอย่างแน่นอน เนื่องจากเมื่อไล่เรียงไปยังสารบบกฎหมายของประเทศไทย ก็จะพบว่า มีกฎหมายตัวอื่นคอยกำกับการหาเสียงที่เกินเลยไปอยู่แล้ว

อย่างในกฎหมายอาญา หมวดหมู่ของการหมิ่นประมาท ก็ถือว่าครอบคลุม ซึ่งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับเดิม ที่มักถูกใช้ฟ้องพ่วงกับกฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาท ก็มีการปรับแก้ให้ชัดเจนแล้วว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จะไม่ใช่กับการฟ้องฐานหมิ่นประมาทอีกต่อไป

“เนื้อหาแบบนี้ นอกจากถือว่าทับซ้อนกับกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว จึงไม่ต่างจากการกำจัดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ที่ก็น่าสนใจว่า เมื่อกฎหมายแม่ อย่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีการรับรองและประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนมีผลบังคับใช้กว่า 1 ปีแล้ว การออกกฎหมายลูกอย่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาทำท่าจะขัดกับสาระหลักของกฎหมายแม่ จะนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในอนาคตเพื่อให้มีการวินิจฉัยอย่างชัดเจนต่อไปหรือไม่”  

เมื่อมองถึงความได้เปรียบเสียเปรียบในการหาเสียงเลือกตั้ง ตามที่ฝ่ายการเมืองตั้งข้อสังเกตถึงการวางมาตราการควบคุมโซเชียลนี้คือ การปิดกั้นฝ่ายเห็นต่าง พลางเกื้อหนุนให้พรรคการเมืองที่จะสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.

ชูศักดิ์ ภูมิธรรม พรรคเพื่อไทย 20180521_Sek_02.jpg

คณาธิป เห็นว่า เจตนาเบื้องหลังการวางวิธีควบคุมเช่นนี้ คงต้องการให้การหาเสียงเกิดขึ้้นอย่างสร้างสรรค์ ชูนโยบายพัฒนาของแต่ละพรรค ไม่เป็นการเมืองสกปรก มุ่งโจมตีใส่ร้ายกันเหมือนอย่างที่ผ่านมา

“ทว่าศาลสิทธิมนุษยชนของยุโรปเอง ก็เคยมีคำพิพากษาวางบรรทัดฐานถึงการแสดงความคิดเห็น โดยครอบคลุมทั้งแง่บวกและแง่ลบเอาไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อมุ่งเน้นเปิดที่ทางให้ฝ่ายเสียงข้างน้อยได้ตั้งคำถามถึงฝ่ายเสียงข้างมาก ขณะเดียวกันก็ถือเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่การถกเถียงหรือดีเบตกันอย่างกว้างขวางอีกด้วย”

"ถ้าเขียนถ้อยคำกันกว้างๆแบบนี้ ก็แน่นอนว่า ในการหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่า พรรคการเมืองไหน ก็จะหาเสียงด้วยการวิจารณ์แนวทางการบริหารในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาได้เลย นี่คือสิ่งที่อันตรายต่อสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยอย่างมาก ซึงก็ยังไม่รู้ว่า เกณฑ์การสร้างข้อจำกัดนี่จะกินความแค่ไหน จะซ้ำรอยกับการบังคับใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่กินความผู้กระทำความผิดไปไกลถึงคนกดไลค์กดแชร์ด้วยหรือไม่่ ก็ต้องจับตาการออกกฎหมายลำดับรองที่จะระบุรายละเอียดกันต่อไป" 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง