ไม่พบผลการค้นหา
วิเคราะห์ทุกความเคลื่อนไหวหลังผลการตัดสินมิสยูนิเวิร์ส 2017 ทั้งในหมู่แฟนนางงามเมืองไทยและบนเวทีโลก กับตวงพร อัศววิไล

“การเคลื่อนไหวทางสังคมที่ที่สำคัญทีสุดในยุคนี้ คือ “การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ” ซึ่งเราต้องลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ที่สำคัญที่สุดคือ “กลุ่มคนรุ่นใหม่” แม้เราจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ "คนรุ่นใหม่" จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคม”



PATRICK GRAY  AFP.jpg

เป็นคำตอบของ “มารีญา พูลเลิศลาภ” ในการประกวดนางงามจักรวาลรอบ 5 คนสุดท้าย หลังจากเธอได้รับคำถามว่า คุณคิดว่าอะไรคือ”การเคลื่อนไหวทางสังคม” ที่สำคัญที่สุดในยุคของคุณ และเกิดขึ้นเพราะอะไร

แม้จะมีความคิดเห็นบางส่วนว่า เธอตอบไม่ตรงประเด็น “การเคลื่อนไหวทางสังคม” เพราะเป็นประเด็นที่ยากและไม่ได้อยู่ในความรับรู้ของสังคมไทย  แต่ความเห็นส่วนใหญ่ก็มองว่า เธอทำหน้าที่ได้ดีที่สุดแล้ว เพราะการตอบคำถามที่มีเวลาเพียง 30 วินาที ต้องรวบรวมสมาธิ ท่ามกลางความตื่นเต้นเมื่ออยู่เบนเวที มีสายตาชาวโลกกำลังจับจ้อง เนื่องจากมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก


 “มารีญา” กับย่างก้าวบนเวทีประกวดนางงามจักรวาล

การประกวดรอบตัดสินในวันที่ 27 พฤศจิกายน “มารีญา พูลเลิศลาภ” สาวงามจากประเทศไทยสร้างความหวังให้กับคนทั้งประเทศ จากการประกาศให้เข้ารอบเป็นคนแรก ใน 16 คนสุดท้าย เป็นการประกาศตาม “ภูมิภาค” เริ่มจาก

ภูมิภาคแอฟริกาและเอเซียแปซิฟิค ผู้ผ่านเข้ารอบ คือ มารีญา นางงามศรีลังกา นางงามกานา และนางงามแอฟริกาใต้ ตัวเก็งที่สูสีกับมารีญาที่สุดตามอัตราต่อรองของเซียนพนัน



Miss South Africa Demi-Leigh Nel-Peters.jpg

ภูมิภาคยุโรป ผู้ผ่านเข้ารอบ คือ นางงามสเปน นางงามไอร์แลนด์ นางงามโครเอเทีย และนางงามอังกฤษ

ภูมิภาคอเมริกา ผู้ผ่านเข้ารอบ คือ นางงามโคลัมเบีย นางงามสหรัฐ นางงามบราซิล และนางงามแคนาดา



Miss Universe_Rata(3).jpg

ส่วนผู้เข้ารอบตามระบบ Wild Card หรือการตัดสินจากคณะกรรมการ คือ นางงามฟิลิปปินส์ นางงามเวเนซูเอลา นางงามจาไมก้า และนางงามจีน

การประกวดตื่นเต้นขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีการประกาศผลผู้เข้ารอบ 10 คนสุดท้าย เป็นการเดินใน”ชุดราตรี” โดย “มารีญา” ได้รับประกาศรายชื่อเป็นคนที่ 9  เธอเลือกสวมชุดราตรีของ “ASAVA” เป็นชุดราตรีสีน้ำเงินเข้ม ดีไซน์เนอร์ ได้รับแรงบันดาลใจจากฉลองพระองค์ชุดสไบสองชาย ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่9 

ชุดราตรีนี้ใช้ผ้ากำมะหยี่ Silk Velvet และผ้าโปร่งสี Midnight Blue มีการปักคริสตัลไล่สีเฉดน้ำเงินจาก “ชวารอฟสกี้” ประเด็นชุดราตรีก็มี “ดราม่า” เพราะถูกคนในโลกโซเชียลโจมตีว่าไม่สวยพอ



มารีญา พูนเลิศลาภ .jpg

จนทำให้ พลพัฒน์ อัศวประภา ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ ASAVA ต้องตอบโต้ผ่าน”ข่าวสดออนไลน์ว่า “คนจะติมักใช้ทัศนคติทางลบ คนจะว่าอะไรก็ว่าทุกปี สุดท้ายชุดเราก็ขึ้นโผทุกปี คงเป็นวัฒนธรรมของคนบางกลุ่มที่ไม่รู้จักแพ้ อยู่ตรงนี้เข้าใจว่าต้องมีคนวิจารณ์ คนวิจารณ์บางคนอาจไม่มีความรู้เรื่องแฟชั่นขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคน  เพราะฉะนั้นต้องคิดบวก ไม่มีท้อ ต้องรู้จักแพ้ รู้จักชนะ ต้องให้เกียรติผู้ชนะ และแพ้อย่างมีสง่าราศรี คนในสังคมขาดจริยธรรมในการใช้ชีวิตมาก ไม่รู้จักแพ้ สามารถพูดจาหยาบคาย และพูดในสิ่งที่ไม่รู้จริง แรงกดดันที่ถาโถมเข้าใส่ ทำให้พลพัฒน์ ประกาศยุติการออกแบบชุดให้กองประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์

ผู้ผ่านเข้ารอบอีก 9 คน คือ นางงามเวเนซูเอลา นางงามสหรัฐ นางงามฟิลิปปินส์ นางงามแคนาดา นางงามแอฟริกาใต้ นางงามสเปน นางงามบราซิล และนางงามจาไมก้า

สำหรับการโหวตในรอบตัดสิน กองประกวดเปิดให้โหวตได้ 4 รอบ คือ ระหว่างการเดินรอบชุดว่ายน้ำ (รอบ 16คนสุดท้าย) ระหว่างการเดินชุดราตรี (รอบ 10 คนสุดท้าย) ระหว่างการตอบคำถาม Final Question (รอบ 5 คนสุดท้าย) และระหว่างการเดิน Final Look (รอบ 3 คนสุดท้าย) โดยเป็นการโหวตผ่าน เว็บไซด์ Missuniverse  และ “ทวิตเตอร์” #MissUniverse #Thailand

คนไทยทั้งประเทศได้ลุ้นมากขึ้นเรื่อย ๆเมื่อมีการประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้ารอบ 5 คน สุดท้าย โดย มารีญา จากประเทศไทย ผ่านเข้ารอบพร้อม นางงามแอฟริกาใต้ นางงามจาไมก้า นางงามโคลัมเบีย และนางงามเวเนซูเอลา 

ทำไม Social Movement จึงกลายเป็น”ประเด็น”ใหญ่

การประกวดรอบ 5  คนสุดท้าย นางงามแต่ละคนจะต้องแสดงไหวพริบ ปฏิภาณในการตอบคำถาม ด้วยเวลาอันจำกัด  คำถามบนเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สปีนี้ยังคงยากเหมือนเช่นเคย ส่วนใหญ่เป็นประเด็นทางสังคม เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเพศ , อิทธิพลของโซเชียลมีเดีย, การเคลื่อนไหวทางสังคม หรือ Social Movement , การคุกคามทางเพศ และการก่อการร้าย



Miss Universe_Rata.jpg

“มารีญา” ได้รับคำถามประเด็น  “การเคลื่อนไหวทางสังคม”ที่สำคัญที่สุดในยุคของคุณ? 

โดยมารีญาตอบโดยยก 2 ประเด็นคือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กับการลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเน้นที่ “กลุ่มคนรุ่นใหม่”

ในโลกโซเชียล มีเดียของไทย มีการวิจารณ์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับประเด็นคำถามที่ “มารีญา”ได้รับ แต่ส่วนใหญ่มองว่า เป็นคำถามที่ยาก มีขอบเขตกว้าง และเป็นประเด็นที่ไม่อยู่ในการรับรู้ของสังคมไทย

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @BuzZenith ให้ความเห็นว่า “การเคลื่อนไหวทางสังคม” เป็นการต่อสู้เรียกร้องอะไรสักอย่าง เช่น การเรียกร้องอิสรภาพ ,เรียกร้องให้เลิกทาส ,เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ, เรียกร้องให้เลิกเหยียดสีผิว

@whatsapp4456 เห็นว่า ประเด็น “การเคลื่อนไหวทางสังคม”เป็นคำถามที่ท้าทายมาก ถ้าตอบโดยอิงการเมืองภายในประเทศ เชื่อว่าจะโดนใจคณะกรรมการ แต่ก็เสี่ยงต่อการเกิด “ดราม่า”ในสังคมไทย เพราะเหมือนการเลือกข้าง

@unnamebooked มองว่า คำตอบของมารีญาไม่ตรงประเด็น เพราะประเทศไทยไม่ได้ทำอะไรที่เป็น”การเคลื่อนไหวทางสังคม” มานาน คำถามนี้จึงยาก และไม่ได้ฆ่ามารีญา แต่เป็นคำถามที่ฆ่าประเทศไทย เพราะถูกแช่แข็งมานานแล้ว

ด้านความเห็นของนักวิชาการ ผ.ศ.จันจิรา สมบัติพูนศิริ  จากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มองว่า “การเคลื่อนไหวทางสังคม” เป็นศัพท์เฉพาะที่คนจำนวนน้อย เข้าใจนิยาม คำถามของมารีญาจึงเป็นคำถามที่ยากมาก เพราะผู้ตอบต้องเข้าใจความหมายทาง”ทฤษฎี” ก่อน พร้อมยกตัวอย่าง ขบวนการเคลื่อนไหวใหญ่ของโลก เช่น ขบวนการแรงงาน ขบวนการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม ขบวนการต่อต้านสงคราม

ส่วนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย ที่อาจารย์จันจิรา ยกมาเป็นตัวอย่าง เช่น ขบวนการต่อต้านเขื่อนปากมูลและสมัชชาคนจน รวมถึงการประท้วงทางการเมืองของสีเสื้อเหลือง-แดง ก็ถือเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือ Social Movement เช่นเดียวกัน

สอดคล้องกับความเห็นของ ผ.ศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายความหมายทางทฤษฎีของ “การเคลื่อนไหวทางสังคม” ว่าหมายถึง ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีปฏิบัติการทางสังคม เช่น การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516   และเหตุการณ์ 6  ตุลาคม 2519

ในมุมมองของอาจารย์นฤมล มองว่า ในช่วงตอบคำถาม “มารีญา” อาจจะเกร็ง จึงพูดถึง”เยาวชน” แต่สิ่งที่พูดถึง “การเคลื่อนไหวทางสังคม” ต้องไม่ได้หมายความแค่ “ใคร” แต่หมายถึง ต้องมีปฏิบัติการที่จะทำอะไร   การเคลื่อนไหวทางสังคมที่โด่งดังระดับโลก เช่น ขบวนการสตรี ขบวนการกลุ่มหลากหลายทางเพศ ต้องมีลักษณะเป็น “ขบวนการ” และมีการเคลื่อนไหว “ปฏิบัติการ”

ขณะที่แอมเนสตี้ ประเทศไทยให้ความรู้ประเด็น การเคลื่อนไหวทางสังคมว่า เติบโตมาพร้อมแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชน

ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีของสังคมไทยที่ได้เรียนรู้ “การเคลื่อนไหวทางสังคม” ไปพร้อมกับการประกวดนางงามจักรวาล เพราะทันทีที่ทราบผลการประกวด #Socialmovement ก็ติด เทรนด์ทวิตเตอร์ทันที โดยมีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างกว้างขวาง

“มารีญา” ไปได้ไกลที่สุดในรอบ 5 คนสุดท้าย แต่ถือว่า “มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์” ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม 3 ปีติดต่อกัน  



นางงาม.jpg

“แนท อณิพรณ์ เฉลิมบูรณวงศ์” มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2015 เข้ารอบ 10 คนสุดท้าย

“น้ำตาล ชลิตา ส่วนสเน่ห์” มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2016  เข้ารอบ 6 คนสุดท้าย

“มารีญา พูนเลิศลาภ” มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017  เข้ารอบ 5  คนสุดท้าย

ไม่มีข้อสงสัยถึงใน “ความงดงาม”ในแบบของไทย แต่สิ่งที่ทางกองประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ต้องติวเข้ม “นางงามที่คว้ามงกุฎ”ในประเทศ คือ การตอบคำถาม เพราะ ทั้ง”น้ำตาล ชลิตา” และมารีญา ถูกประเมินเหมือนกันว่า “พลาดในช่วงการตอบคำถาม” จึงไม่ได้เข้ารอบ 3 คนสุดท้าย

นาทีประวัติศาสตร์ “นางงามแอฟริกาใต้” คว้ามงกฎนางงามจักรวาล

การประกาศผลรอบ 3 คนสุดท้าย “นางงามจาไมก้า” กลายเป็นม้ามืดที่เข้าถึงรอบ 3 คนสุดท้าย ขณะที่ “นางงามโคลัมเบีย” และ “นางงามแอฟริกาใต้” ติดในโผตัวเก็งมาตลอด

มาถึงรอบนี้ “เดมี เล นีล-ปีเตอร์ส “นางงามแอฟริกาใต้” ถือเป็น เต็ง 1 เพราะตอบคำถามในรอบ 5 คนสุดท้ายได้ดีมาก จนได้รับเสียงปรบมือและโห่ร้องอย่างกึกก้องจากคนดูรอบเวทีประกวด เธอถูกถามว่า

ผู้หญิงคิดเป็น 49% ของแรงงานในโลก คุณคิดว่าอะไรคือประเด็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่ผู้หญิงเผชิญ

เธอตอบด้วยความมั่นใจว่า “ ผู้หญิงได้รับค่าแรงเพียง 75% ของผู้ชาย ทั้งที่ทำงานเหมือนกัน ชั่วโมงการทำงานเท่ากัน ฉันคิดว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ผู้หญิงและผู้ชายควรต้องมีความเท่าเทียมในการทำงานและรายได้ ทั่วทั้งโลก

ส่วนคำถาม Final Question นางงามทั้ง 3 คน จะต้องตอบ”คำถามเดียวกัน”เพื่อไม่ให้ใครได้เปรียบ-เสียเปรียบ

คำถามในรอบ 3 คนสุดท้ายคือ “คุณคิดว่าคุณมีคุณสมบัติใดที่จะทำให้คุณได้เป็นมิสยูนิเวิร์ส และคุณจะใช้มันอย่างไรหลังจากได้รับตำแหน่ง”

นางงามจาไมก้า ตอบอย่างมั่นใจว่า โดยส่วนตัวเธอมีแรงผลักดัน มีแรงบันดาลใจอย่างเต็มเปี่ยม ขอเพียงได้รับ “โอกาส” เธอจะตั้งใจทำหน้าที่ของนางงามจักรวาลให้ดีที่สุด

นางงามโคลัมเบีย ตอบว่า เธอมีความรัก มีแรงบันดาลใจเป็นพื้นฐาน เมื่อเธอเป็น”นักแสดง”เธอก็ทุ่มเททำหน้าที่อย่างเต็มที่ และหากได้รับตำแหน่ง”นางงามจักรวาล” เธอก็จะทุ่มเททำให้ดีที่สุด



นางงามแอฟริกาใต้ ตอบอย่างเชื่อมั่นว่า การเป็นมิสยูนิเวิร์ส สำคัญที่สุดคือ ต้องมั่นใจในตัวเอง กว่าจะเป็นได้ต้องก้าวข้ามความกลัวหลายอย่าง เธอจึงสามารถนำพาผู้หญิงคนอื่นให้ก้าวข้ามความกลัวได้เช่นกัน สำหรับเธอแล้วไม่มีอะไรที่ยากเกินไป

คำตอบที่ชัดเจนทั้ง 2 รอบ ทำให้ “นางงามจากแอฟริกาใต้” คว้ามงกุฎนางงามจักรวาลคนที่ 66 ไปครองอย่างสมศักดิ์ศรี

ถ้าย้อนดูประวัติส่วนตัวของ นางงามแอฟริกาใต้ วัย 22 ปี คนนี้เธอมีผลงานที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการรณรงค์ให้ตระหนักถึง "การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก" โดยเธอได้รับ " แรงบันดาลใจจากประสบการณ์เลวร้าย” ถูกจี้ชิงทรัพย์หลังได้รับตำแหน่งนางงามแล้ว

ทั้ง "นางงามแอฟริกาใต้" และ “มารีญา” ผลัดกันเป็น เต็ง 1 และเต็ง 2 ในอัตราต่อรองของเซียนพนันที่ลาสเวกัส ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นใกล้เคียงกัน ผลการตัดสินน่าจะวัดจาก “การตอบคำถาม” บนเวที

ต้องยอมรับว่า “นางงามแอฟริกาใต้”ตอบคำคามได้ตรงประเด็น ทั้งเรื่อง สิทธิความเท่าเทียมเรื่องค่าแรง และคุณสมบัติของมิสยูนิเวิร์ส เนื่องจากคำถามบนเวทีประกวดนางงามจักรวาลปี 2017 คือ “ประเด็นของผู้หญิง” เพราะเป็นกระแสโลก ที่สำคัญเดือนพฤศจิกายน ยังเป็นเดือนที่มีการ “รณรงค์ยุติการใช้ความรุนแรงต่อสตรี”ด้วย


เส้นทางสายดวงดาวของ “มารีญา”

ถึงแม้ “มารีญา พูลเลิศลาภ” จะก้าวไม่ถึงจุดสูงสุดในตำแหน่ง “นางงามจักรวาล" คนที่ 3 ของประเทศไทย แต่ "ศักยภาพ" ของตัวเธอ ที่ฉายแววโดดเด่น ทั้งในเวทีระดับประเทศและระดับโลก ทำให้เธอมีโอกาส “เลือก” มากขึ้น

การเข้าสู่รอบ 5 คนสุดท้ายในการประกวดนางงามจักรวาล น่าจะทำให้เธอสามารถผลักดัน” โครงการช่วยเหลือวัยรุ่นตั้งครรภ์ไม่พร้อม” ให้กลับคืนสู่สังคมได้ต่อไป เพราะขณะนี้ เธอมี “เสียง” ที่ดังขึ้นกว่าการเป็นมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์  ไม่นับรวมโอกาสที่จะได้เป็น “พรีเซนเตอร์” และ "แบรนด์ แอมบาสเดอร์" ที่มีภาพลักษณ์อยู่ในระดับแนวหน้า

หรือหากเธอเลือกจะก้าวต่อไปยังเวที “นางแบบระดับโลก” โอกาสน่าจะเปิดกว้าง เพราะเธอมีสายสัมพันธ์อันดีกับบริษัท IMG เจ้าของลิขสิทธิ์การประกวดมิสยูนิเวิร์ส โดยเธอได้รับคำเชิญให้ไปร่วมงานกับกองประกวดที่ประเทศฟิลิปปินส์ ก่อนจะเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 10 ธันวาคม

ในยุคของการใช้โซเชียล มีเดีย  โดยเฉพาะ “ทวิตเตอร์” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการโหวต มี“แฮชแท็ค เกี่ยวกับ “มารีญา” หลาย”แฮชแท็ค เช่น #สวยสมมงฯ #มงฯ จงลง #มงฯไม่ลงจะงงมาก แม้ในที่สุดผลที่ออกมาจะไม่สมหวัง

แต่คนไทยก็ยังมอบ “แฮชแท็ก” ใหม่ให้กับเธอ นั่นคือ #ถึงมงฯไม่ลง …ก็ยังคงรักเธอ