'ไกลก้อง ไวทยการ' เป็น 1 ใน 26 แกนนำผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ แต่บทบาทของเขาที่ทำมาหลายปีจนถึงปัจจุบัน คือ งานในตำแหน่งผู้ปฏิบัติงาน ด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสังคม สถาบันเทคโนโลยีเพื่อสังคม (Social Technology Institute) กับข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่อง 'โอเพ่น ดาต้า' หรือการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐที่ภาคประชาชน ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ติดลิขสิทธิ์ และสามารถนำเข้าประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ได้
'ระเบียบราชการ' ต้องเปิดรับความคิดใหม่
เขาเล่าว่า แม้ว่า ประเทศไทยจะมี พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 แต่กฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนยุคโอเพ่น ดาต้า หน่วยราชการไทยจึงยังไม่มีระเบียบรองรับ และที่สำคัญ วัฒนธรรมองค์กรหรือ mindset ของระบบราชการ ที่ผ่านๆ มา เรื่องการให้เปิดเผยข้อมูลเป็นกระดาษ เป็นเรื่องยากแล้ว ดังนั้น การจะให้ราชการเปิดเผยเป็นข้อมูลดิบเป็นข้อมูลดิจิทัล จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไรๆ อีกเยอะ
โดยสิ่งสำคัญและท้าทายมากสำหรับการทำเรื่องนี้จึงอยู่ที่ 'วิธีคิด' หรือ 'mind set' ของคนในระบบ ซึ่งเขาเชื่อว่า ข้าราชการรุ่นใหม่ คือ ความหวัง หากทำให้ผู้บริหารเห็นร่วมด้วย การทำเรื่องนี้ก็จะเกิดขึ้น
ไกลก้อง ยอมรับว่า ที่ผ่านมา ระบบราชการได้พัฒนามาตลอด แต่เนื่องจากกฎระเบียบที่ไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงตามกฎหมาย เมื่อไม่เปลี่ยน ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานก็ไม่กล้าจะทำอะไรที่อยู่นอกเหนือกฎระเบียบที่เป็นตัวอักษร เพราะเขาก็ต้องกังวลถึงความเสี่ยง เนื่องจากมีประสบการณ์ให้เห็นทั่วไปว่า หากไม่ทำตรงตามตัวหนังสือ ก็จะมีผลลงโทษต่างๆ
"แผนกับกฎระเบียบที่ไม่ได้ถูกเปลี่ยนให้ทันยุคสมัย ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ถึงเวลาก็ต้องปลดล็อก" ไกลก้อง กล่าว
แล้วจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขา ซึ่งร่วมงานกับองค์กรของภาครัฐมาบ้าง เขายืนยันว่า ข้าราชการที่อยากปรับปรุง อยากพัฒนาเรื่องนี้ ก็มีเยอะขึ้น ซึ่งคนเหล่านี้อยู่ในทุกกรม กอง แต่เนื่องจากระบบราชการเป็นระบบรวมศูนย์ ยากที่ข้าราชการใหม่ๆ จะเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น หลังการเลือกตั้งในสมัยหน้า ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลในสมัยหน้า ก็ต้องมาดูว่า จะพัฒนาส่งเสริมข้าราชการรุ่นใหม่เหล่านี้อย่างไร
"ที่ผ่านมา สถาบันเทคโนโลยีเพื่อสังคมก็ทำงานร่วมกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ซึ่งก็เป็นองค์กรหนึ่งที่มีแนวคิดก้าวหน้า แต่เนื่องจากสถานะขององค์การมหาชน ไม่มีอำนาจไปสั่งการใคร ๆ ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ประกอบกับการแยกส่วนของระบบราชการ แท่งของใครของมัน ก็ทำให้การทำงานเป็นแท่งๆ การจะทำงานให้เชื่อมโยงกันจึงมีอุปสรรคมาก ซึ่งก็น่าเห็นใจ"
ไม่ใช่ 'เปิดข้อมูล' เท่านั้น ต้อง 'ใช้งานได้' ด้วย
ความท้าทายอีกเรื่องคือ การเปิดข้อมูล ไม่ใช่เพียงการเปิดให้ดูเท่านั้น แต่ต้องดูแล้วได้ประโยชน์ ต้องคิดถึงการมีส่วนร่วมด้วยว่า หากมีการเปิดเผยข้อมูลแล้วจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม การเกษตร อย่างไรบ้าง เป็นต้น
ดังนั้น ข้อมูลที่เปิดเผยที่กล่าวถึงนี้ จึงต้องมีคุณลักษณะ 3 อย่าง ได้แก่ หนึ่ง นำไปใช้งานต่อได้ สอง ไม่ติดลิขสิทธิ์ และสาม นำไปประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ได้
ทั้งนี้ แนวคิดเรื่อง Open Data มีในต่างประเทศมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายบารัก โอบามา เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศไทยมีเวบไซต์ชื่อ www.data.go.th ซึ่งรัฐจัดตั้งมาได้ 2-3 ปีแล้ว และมีข้อมูลของหน่วยงานรัฐทยอยเปิดออกมาบ้างแล้ว แต่เนื่องจากขณะนี้ ยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบที่รัฐต้องเปิดข้อมูลเป็นโอเพ่น ดาต้า จึงยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก
อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องโอเพ่น ดาต้า เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับการเป็นรัฐบาลที่เปิดเผย โปร่งใส หรือ Open Government ด้วย
ไกลก้อง บอกว่า เขาคาดหวังจะเห็นรัฐบาลที่โปร่งใสทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ ที่เปิดให้ประชาชนแสดงความเห็น ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจเรื่องต่างๆ อีกทั้ง ในระดับนานาชาติ เรื่องนี้ ก็มีเครือข่าย Open Government Partnership จากหลายประเทศตั้งแต่อเมริกา ยุโรป เอเชีย แอฟริการ ที่ทำเรื่องนวัตกรรมเพื่อทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับรัฐบาลเพิ่มขึ้น และทำให้ข้อมูลทางการเป็นเรื่องสาธารณะประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วม เช่น การกำหนดการใช้เงินภาษี เป็นต้น
"��้าประชาชนต้องการรู้ว่างบประมาณของรัฐ หรือ ของท้องถิ่น หรือโครงการใหญ่ๆ ของรัฐ ใช้เงินอย่างไร จะเอาเงินไปใช้ตรงไหน ถ้าเป็นวิธีการแบบเดิมๆ ก็อาจจะมีการเรียกประชาชนที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาประชุมแล้วถามว่า ถ้ารัฐจะทำโครงการ ใครคิดเห็นอย่างไร แต่ปัจจุบัน ในยุคที่เกือบทุกคนมีสมาร์ทโฟน และเข้าถึงการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สามารถพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนในเบื้องต้นอยู่แล้ว การทำเรื่องเหล่านี้ในอนาคต อาจไม่ต้องใช้วิธีเรียกคนมาประชุม หรือไปร้องที่ศูนย์ดำรงธรรม ก็ได้" ไกลก้องกล่าว
ดังนั้น การทำเรื่องนี้ สิ่งสำคัญคือ การเปลี่ยนวิธีคิดของระบบราชการ ที่แต่ไหนแต่ไรมาคือการสั่งจากบนลงล่าง (Top Down) แต่ถ้าในอนาคต สามารถทำให้ผู้บริหารหน่วยงานในระดับสูงมีแนวคิดเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ฟังเสียงประชาชนมากขึ้น แล้วปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เปิดโอกาสให้ข้าราชการ หรือ ผู้ปฏิบัติงานสามารถเปิดเผยข้อมูลได้อย่างสบายใจ ก็น่าจะเป็นช่องทางสร้างการมีส่วนร่วมที่มีผลจริงๆ เกิดขึ้นได้
ยึดกุมหลักการพื้นฐาน 'Open by Default' เน้นเปิดก่อน แล้วค่อยคุยว่าจะเปิดอะไร
ส่วนข้อมูลใดเปิดได้ หรือข้อมูลใดเปิดไม่ได้นั้น หลักการเบื้องต้น ไกลก้องเสนอว่า ให้คิดถึงการ 'เปิด' เป็นหลักก่อน เปิดตั้งแต่ต้นที่เรียกว่า Open by Default แล้วค่อยมาดูว่า ข้อมูลแบบไหนที่เปิดไม่ได้ ซึ่งหลักๆ อันดับแรก คือ ข้อมูลส่วนบุคคล ต่อมา คือ ข้อมูลที่เกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งก็จะมีลำดับชั้นความลับแต่ละชั้นอยู่ อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ต้องมีการหารือพูดคุยกันก่อนว่า จะไม่เปิดอันไหน เพราะอะไร
สำหรับบทบาทของ 1 ใน 26 ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ ที่พยายามเสนอแนวทางการสร้างสังคมประชาธิปไตย และชูแนวคิดเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้
ไกลก้อง เล่าว่า สำหรับการทำโอเพ่น ดาต้าของพรรคการเมือง สามารถทำได้ตั้งแต่การเปิดเผยเรื่องการใช้งบประมาณของพรรคในการหาเสียง เปิดเผยประวัติผู้สมัคร รวมถึง การเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ในเรื่องการกำหนดนโยบาย หรือการให้คนหรือสมาชิกพรรคหาผู้สมัครที่คิดว่าเป็นตัวแทนของตัวเองได้
"สิ่งเหล่านี้เป็นโอเพ่น ดาต้าที่พรรคการเมืองสามารถทำได้ และเป็นการสร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งเร็วๆ นี้อาจจะเห็นผ่านแอปพลิเคชัน หรือถ้าก้าวหน้าหน่อยอาจจะใช้ระบบบล็อกเชนเข้ามาได้ เพื่อให้สมาชิกแต่ละคน เห็นว่า แต่ละคนต้องการมีนโยบายอย่างไร" เป็นคำกล่าวปิดท้ายของหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่