ผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ OTOP ที่ภาครัฐพยายามผลักดัน เพื่อช่วยส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น จากการนำทรัพยากร ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ให้เกิดรายได้กลับสู่ชุมชน แต่ปัจจุบันกลับพบว่า ผลิตภัณฑ์ OTOP จำนวนมากยังไม่สามารถเข้าสู่ช่องทางการตลาดได้ ด้วยสาเหตุจาก คุณภาพ มาตรฐาน รูปลักษณ์ และบรรจุภัณฑ์
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ บริษัท สยามพิวรรธน์จำกัด และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล) จัดทำโครงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชนสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และการประกวด MOST’s Innovation OTOP Award ขึ้นในปี 2560 เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนรุ่นใหม่ ให้มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของตลาด
โครงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชนสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ได้คัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวน 80 ราย แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มอาหาร 2.กลุ่มเครื่องดื่ม 3.กลุ่มสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 4.กลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย 5.กลุ่มของใช้ของตกแต่งและของที่ระลึก และ 6.กลุ่มธุรกิจรูปแบบใหม่ มาร่วมพัฒนาสินค้ากับทีมนักวิจัยจากหลายสาขา อาทิ นาโนเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ด้านอาหารและผลิตภัณฑ์ สถาปัตยกรรม รวมถึงด้านการตลาด การจัดการ เป็นเวลากว่า 5 เดือนด้วยกัน
ภายหลังการพัฒนาสินค้าจะนำมาสู่ขั้นตอนการประกวด Most’s Innovation OTOP Award 2560 โดยเกณฑ์การตัดสินได้ยึดหลักความใหม่ในตลาด ความคิดสร้างสรรค์ กระบวนการผลิต การนำนวัตกรรมมาใช้ผลิต ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสังคม
โดยเมื่อวานนี้ (13 ม.ค.61) ได้มีการประกาศผลการประกวดออกมาแล้ว ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลทั้งชนะเลิศและรองชนะเลิศ ล้วนมีความน่าสนใจในแง่การจุดประกายไอเดียการทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการยุคใหม่แทบทั้งสิ้น
วอยซ์ออนไลน์เจาะลึกเบื้องหลังความสำเร็จของ 5 ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลชนะเลิศครั้งนี้
สะตออบแห้งชนิดคืนรูปสด "ชมนาด" จ.นครศรีธรรมราช รางวัลชนะเลิศ หมวดอาหาร
ด้วยไอเดียแปลกใหม่ นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านการแปรรูปอาหาร โดยผ่านกระบวนการทางฟิสิกส์ มาช่วยในการยืดอายุการเก็บรักษา "สะตอ" ได้นานถึง 6-12 เดือน หากต้องการนำมารับประทานก็เพียงนำไปแช่น้ำไว้ประมาณ1-2 ชั่วโมง แค่นี้เมล็ดสะตอจะคืนสภาพกลับมาใกล้เคียงกับเมล็ดสะตอที่แกะจากฝักสด
สิ่งที่ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาภายหลังจากเข้าร่วมโครงการ คือ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิตอีกด้วย
"ชามัลเบอร์รี่แบบสติ๊ก ชงพร้อมดื่ม" จ.อุตรดิตถ์ รางวัลชนะเลิศ หมวดเครื่องดื่ม
ด้วยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่นำเอาปัญหาของการดื่มชาซองที่มักจะมีตะกอนชาหลงเหลือก้นแก้ว มาแก้ไขโดยนำเทคโนโลยีด้านการแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้ชามัลเบอรี่ละลายน้ำได้ง่าย ไม่หลงเหลือตะกอนบริเวณก้นแก้ว ภายหลังจากเข้าร่วมโครงการได้พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยนำมาแปลงสภาพเป็นสติ๊กเจลาติน ให้ดื่มง่ายยิ่งขึ้น เพียงฉีกซองนำสติ๊กชาใส่แก้ว เทน้ำร้อน และคนให้เข้ากัน แค่นี้ก็พร้อมดื่มได้ทันที อีกทั้งยังไร้ตะกอนชาก้นแก้วด้วย
"Banana Lip Balm ลิปบาล์มจากเปลือกกล้วยไข่" จ.กำแพงเพชร รางวัลชนะเลิศ หมวดสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร
ผู้ประกอบการนำสารสกัดจากเปลือก "กล้วยไข่" ที่มีโดพามีนและแทนนิน สารกลุ่มต้านอนุมูลอิสระ คุณสมบัติช่วยในลดเลือนริ้วรอย และช่วยยับยั้งแบคทีเรีย พร้อมส่วนผสมจากขี้ผึ้งแท้ชั้นดี และน้ำมันมะพร้าวที่มีประโยชน์ด้านความชุ่มชื่น มาทำเป็นลิปบาล์มบำรุงริมฝีปาก ในบรรจุภัณฑ์รูปกล้วย
ซึ่งภายหลังจากการเข้าร่วมโครงการ ทำให้ได้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการปรับสูตรและส่วนผสมของลิปบาล์มให้มีความข้นหนืดที่พอดี ใช้งานง่ายยิ่งขึ้น พร้อมด้วยการพัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีป้ายแสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม ได้มาตรฐาน
"ผ้าบาติกมีกลิ่นไม้หอมกฤษณาจากธรรมชาติ ผ้าบาติกที่ใช้สมุนไพรวาดลายแทนเทียน " จ.เชียงใหม่ รางวัลชนะเลิศ หมวดผ้าและเครื่องแต่งกาย
เพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกด้วยการนำสมุนไพรมาใช้วาดลายแทนเทียนแบบเก่า และนวัตกรรมการใส่กลิ่นหอมจากสมุนไพร และกลิ่นหอมจากไม้กฤษณา ไม้มงคลที่เป็นที่นิยมทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ด้วยการนำเทคโนโลยีการเพิ่มกลิ่นในเนื้อผ้าที่มีประสิทธิภาพ ทำให้กลิ่นหอมมีความคงทน
ภายหลังการนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่อสาธารณชนได้รับผลตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี จนนำมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นผ้าคลุมฮิญาบ ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าในตะวันออกกลาง
หลังเข้าร่วมโครงการ ได้รับการพัฒนาในเรื่องเทคโนโลยีการเติมกลิ่นธรรมชาติลงในเนื้อผ้า แนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีรูปแบบหลากหลาย ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
"ที่นอนโฟมยางพาราลดแผลกดทับ" จ.กำแพงเพชร รางวัลชนะเลิศ หมวดของใช้และของตกแต่ง
ผู้ประกอบการเกิดแนวคิดในการนำโฟมยางพาราที่มีลักษณะชิ้นเล็กๆ ในรูปทรงต่างๆ มาเย็บเป็นที่นอนสำหรับผู้ป่วย ข้อดีคือช่วยทำให้นอนสบาย และยังป้องกันแผลกดทับได้เป็นอย่างดี
หลังร่วมโครงการได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น โดยนำนวัตกรรมการออกแบบโฟมยางพารารูปทรงกลมขนาดเท่ากันบรรจุเป็นที่นอน พร้อมด้วยนวัตกรรมผ้านาโนซิงค์ที่นำมาทำที่นอน สามารถป้องกันเชื้อราและแบคทีเรีย เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ป่วยได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีวิธีการขจัดกลิ่นยางพาราโดยการเติมกลิ่นธรรมชาติเช่น กลิ่นตะไคร้หอม กลิ่นมะนาว กลิ่นวนิลา กลิ่นใบเตย กลิ่นสละ เข้าไปอีกด้วย
สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. และบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด รางวัลละ 20,000 บาท ส่วนรองชนะเลิศได้รับรางวัลละ 10,000 บาท นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ผลงานโดดเด่นจะได้รับโอกาสทดลองวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในศูนย์การค้าเครือสยามพิวรรธน์อีกด้วย