ทำความรู้จัก 'ระบอบประยุทธ์' ผ่านบทความชิ้นล่าสุด ของสองนักวิชาการ 'ประจักษ์ ก้องกีรติ' และ 'วีระยุทธ์ กาญจน์ชูฉัตร' งานชิ้นนี้ทำให้เห็นของสามอย่างที่น่าสนใจ : ความพยายามของกองทัพในการครอบงำทุกหน่วยทางการเมือง ความพยายามในการสร้างหุ้นส่วนกับบรรษัทธุรกิจผ่าน 'โครงการประชารัฐ' และการแทนที่ตลาดแข่งขันเสรีด้วยตลาดที่มีลำดับชั้นต่ำสูง
ระบอบประยุทธ์ ไม่ใช่ 'เปรมาธิปไตย' : ผู้เขียนเสนอว่าระบอบประยุทธ์ไม่ได้พยายามจะประนีประนอมและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือเปรมาธิปไตย ในทศวรรษ 2520 ในทางกลับกัน ระบอบประยุทธ์มุ่ง “วางฐานอำนาจของกองทัพลงในระบบการเมืองโดยหวังผลระยะยาว” เน้น “เพิ่มขยายภาระหน้าที่ และขอบเขตอำนาจของกองทัพ” ตั้งใจให้กองทัพควบคุมระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมากโดยการทำให้อำนาจของพรรคการเมืองลดน้อยถอยลง
อำนาจของกองทัพถูกฝังลงไปในกฎหมายรัฐธรรมนูญแบบเข้มข้น ในระดับที่เรียกได้ว่า “ออกแบบกลไกแบบใหม่ในการชิงอำนาจโดยไม่ต้องใช้กองทัพก่อการรัฐประหาร” และ “ทหารพยายามหาทางจัดวางตนเองในตำแหน่งผู้ปกครองที่มีอำนาจนำ (hegemonic ruler) ซึ่งหวังครองอำนาจในระยะยาวโดยไม่ปล่อยให้ใครอื่นมีช่องทางสู่อำนาจหรือก่อตัวเป็นกลุ่มชนชั้นนำขึ้นมาแข่งขันกับกองทัพ”
ระบอบประยุทธ์ ไม่ฟื้น 'อำมาตยาธิปไตย' : ผู้เขียนเสนอว่า เมื่อพิจารณาวิธีการบังคับใช้มาตรา 44 จะพบว่า ถูกใช้เพื่อแก้ไขความนิ่งเฉย และไร้เอกภาพของระบบราชการ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบริหารงานของคณะรัฐประหาร
เมื่อถามต่อว่า เพราะเหตุใด ข้าราชการและระบบราชการ จึงปฏิเสธที่จะตอบสนองต่อคณะรัฐประหารอย่างเข้มข้น ? ผู้เขียนเสนอว่า เพราะระบบราชการไทยแบ่งขั้วเป็นฝักฝ่ายอย่างชัดเจน เป็นผลจากการที่ชนชั้นนำทั้งสองฟากฝั่งต่างอาศัยระบบราชการเป็นเครื่องมือในการตัดทอนกำลังฝ่ายตรงข้ามมาโดยตลอด นี่คือจุดที่ รัฐบาลประยุทธ์ต่างจากรัฐบาลสฤษดิ์ อย่างชัดเจน เพราะ “ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์ได้รับแรงสนับสนุนจากระบอบอำมาตยาธิปไตยที่แข็งแกร่ง” ขณะที่รัฐบาลประยุทธ์ “ทำงานภายใต้ระบบราชการที่อ่อนแอและแตกแยก”
อีกหนึ่งปัจจัย ผู้เขียนเสนอว่า เป็นผลจากการเปลี่ยนระบอบและรัฐบาลอย่างถี่ยิบนับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 มันทำให้ระบบราชการใส่เกียร์ว่างเต็มที่ ยิ่ง คสช.มีแนวโน้มใช้งานระบบราชการชนิดข้ามขั้นตอนปกติหรือละเลยกฎระเบียบ ก็ยิ่งทำให้ความนิ่งเฉยและใส่เกียร์ว่างปรากฎในระบบราชการ
สองปัจจัยนี้ ส่งผลให้เกิดการบังคับใช้มาตรา 44 เพื่อบังคับให้ระบบราชการทำงานตามสั่งและตามวาระทางการเมือง ผลที่ได้คือ กองทัพเข้มแข็งขึ้น แต่ระบบราชการยิ่งเกิดการแบ่งแยก ใช้การไม่ได้ อ่อนแอ และไม่ได้ฟื้นอำมาตยาธิปไตยให้กลับมาชีวิตอีกครั้ง
ลำพังการบังคับใช้มาตรา 44 โดยไม่ได้มีระบบราชการอันแข็งแกร่ง และเป็นเนื้อเดียวกันช่วยหนุนเสริม จึงทำให้วาระการปฏิรูปประเทศเป็นไปอย่างเชื่องช้า กระทั่งล้มเหลว
หนึ่งในเสาหลักสำคัญของอุตสาหกรรมการปฏิรูปประเทศให้สัมภาษณ์ถึงบรรทัดสุดท้ายของกิจกรรมการปฏิรูปประเทศไว้อย่างน่าฉงนปนความผิดหวัง
'บวรศักดิ์ อุวรรณโณ' ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ตอบเมื่อถูกถามถึงการปฏิรูปในภาพรวม ว่า “รู้สึกเหนื่อย เพราะมองไม่เห็นว่าจะไปจบลงอย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้มีการตั้งองค์การอย่างสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก่อนยุบตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แล้วยุบตั้งคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ 11 คณะ ซึ่งทุกคณะมีแต่แผน แล้วให้ส่วนราชการเป็นผู้ปฏิบัติ แต่คิดว่าการใช้ส่วนราชการเป็นฝ่ายปฏิบัตินั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสำเร็จ เพราะเหมือนกับให้ผู้ที่ถูกปฏิรูปมาทำเรื่องปฏิรูปเสียเอง นอกจากนี้ระบบราชการยังคิดแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ต่างจากกรรมการปฏิรูปที่ต้องการลงมือทำในทันที ดังนั้น จึงไม่แน่ใจว่าการปฏิรูปจะสำเร็จหรือไม่ เพราะเหมือนกับให้ผู้รับเหมามาทำหน้าที่ตรวจงานตัวเอง ดังนั้นจึงอยากมีข้อเสนอแนะให้กรรมการปฏิรูป มีอำนาจในการเสนอกฎหมายด้วย ไม่ใช่ให้ส่วนราชการเป็นผู้เสนอกฎหมายอย่างเช่นเวลานี้”
ระบอบประยุทธ์ ไม่ให้ความสำคัญกับ 'ตลาดแข่งขันเสรี' : โครงการ 'ประชารัฐ' 'ประชารัฐสามัคคี' คือภาพสะท้อนความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่าง 'รัฐ-ทุน' ผู้เขียนยกหลักฐานผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับปีกทุนใหญ่จำนวน 24 กลุ่ม ซึ่งร่วมลงนามในข้อตกลงสนับสนุนโครงการประชารัฐ [เช่น กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ,เจริญโภคภัณฑ์อาหาร/ทรูคอร์ปอเรชั่น, น้ำตาลมิตรผล, เซ็นทรัลกรุ๊ป, เดอะมอลล์กรุ๊ป, กลุ่มไทยยูเนี่ยน, ธนาคารกรุงเทพ, เอสซีจีกรุ๊ป, ช.การช่าง, เมืองไทยประกันชีวิต, บีทีเอส กรุ๊ป และกลุ่มบริษัท ปตท.] ผลประโยชน์ที่กลุ่มทุนใหญ่เหล่านี้ได้จากการร่วมงานกับคณะรัฐประหารคือ “สิทธิพิเศษบางประการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและกระทรวงพาณิชย์”
โครงการประชารัฐสะท้อนภาพความพยายามของกลุ่มทุนใหญ่ในไทย “ที่อยากผลักดันเศรษฐกิจไปในทิศทางของทุนนิยมแบบช่วงชั้น” ในความหมายนี้คือการที่คณะรัฐประหารสนับสนุนให้กลุ่มทุนใหญ่ก้าวสู่พื้นที่ชนบทเพื่อเป็น 'พี่' 'พี่เลี้ยง' 'พี่ช่วยน้อง' ให้กับวิสาหกิจท้องถิ่นในธุรกิจของตน เช่น ทุนเกษตรใหญ่เข้าไปดูแลชาวไร่ชาวนา ขณะที่มาตรการทำนอง 'ลดการผูกขาด' และ 'การส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียม' หายไปจากนโยบายสาธารณะโดยสิ้นเชิง
ทุนนิยมแบบช่วงชั้นลดทอนการทำงานของตลาด ลดทอนการแข่งขันอย่างเสรี ลดทอนอำนาจต่อรองของแรงงาน ลดทอนการแข่งขันของผู้ผลิตในท้องถิ่น นำไปสู่แนวโน้มการเติบโตของตลาดแบบผูกขาด
พรรคพลังประชารัฐ - ภาคต่อของระบอบประยุทธ์ ?
ไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า พรรคพลังประชารัฐ จะเป็นภาคต่อที่สำคัญของระบอบประยุทธ์ กรรมการบริหาร 4 คน เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลประยุทธ์ ตั้งแต่ อุตตม (รมว.อุตสาหกรรม) เป็นหัวหน้าพรรค, สุวิทย์ (รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) เป็นรองหัวหน้าพรรค, สนธิรัตน์ (รมว.พาณิชย์) เป็นเลขาธิการพรรค และ กอบศักดิ์ (รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี) เป็นโฆษกพรรค เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางว่า ทั้งสี่ชื่อคือสี่ขุนพลในการประสานงานระหว่างคณะรัฐประหารกับกลุ่มทุนใหญ่ประชารัฐ
ไม่เพียงดึงขุนพลซึ่งเป็นมือประสานทุนใหญ่ประชารัฐ เข้ามานั่งเป็นกรรมการบริหารพรรค แต่ยังมี 'วิเชฐ ตันติวานิช' อดีตรองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซี เอ ซี จำกัด ซึ่งก่อตั้งขึ้นตามแนวคิดผู้บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจฯ เข้ามานั่งเป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย นัยก็คือ มีทั้งกลุ่มทุนใหญ่ที่ให้การหนุนอยู่เบื้องหลัง และมีทั้งที่พร้อมเปิดหน้า พรรคพลังประชารัฐ จึงเป็นพรรคที่มีภาพจำแห่งความมั่งคั่งชนิดปฏิเสธได้ยาก ทำให้เกิดเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึง 'ปฏิบัติการดูด' ในกลุ่มสามมิตร ก๊กสำคัญใต้พลังประชารัฐ ซึ่งแลกด้วยเงินอัดฉีดหลายประเภท และหลายระลอก
การศึกษา 'ระบอบประยุทธ์' ช่วยทำให้มองเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562?
การเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเป็นบทพิสูจน์ด้วยว่า ถึงที่สุดแล้วสังคมไทยจะเลือกระบอบแบบใดให้กับตัวเอง
ระหว่าง ระบอบการปกครองที่กองทัพแผ่ขยายอำนาจเข้าไปยังกฎหมายสูงสุดและสถาบันทางการเมืองต่างๆ ในระดับที่สถาบันเหล่านั้น สามารถทำลาย รัฐบาลและสถาบันทางการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยได้ในพริบตา กับ ระบอบที่ให้ที่ยืนอันโดดเด่นแก่รัฐบาลและสถาบันทางการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งมีความชอบธรรมอันเป็นฐานเสียงของประชาชนรองรับ
ระหว่างระบอบการปกครองโดยรัฐทหารเพื่อประโยชน์ของกลุ่มคน 1 เปอร์เซ็นต์ ในประเทศ กับระบอบการปกครองโดยรัฐบาลประชาธิปไตยที่เน้นสนองตอบต่อความต้องการของประชาชน
เมื่อมองบนฐานนี้การเลือกตั้งครั้งนี้จึงสำคัญเหลือเกิน!!
* อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ : บทความ “ระบอบประยุทธ์ การสร้างรัฐทหาร และทุนนิยมแบบช่วงชั้น” โดย “ประจักษ์ ก้องกีรติ และ วีระยุทธ์ กาญจน์ชูฉัตร” ใน วารสารฟ้าเดียวกัน ปกใหม่ล่าสุด (ปีที่ 16 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2561) ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ บูธฟ้าเดียวกัน S39