ไม่พบผลการค้นหา
มติของ ป.ป.ช. ที่ไม่หยิบคดีสลายการชุมนุม นปช. เมื่อปี 2553 ที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ขึ้นมาพิจารณาใหม่ ถือเป็นการ “ปิดฉาก” คดีสลายการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนี้ไป แทบจะโดยปริยาย

เพราะแม้ ป.ป.ช.จะเปิดช่องว่า หากพบเจ้าหน้าที่รายใดกระทำเกิดกว่าเหตุ ญาติของเหยื่อยังสามารถไปยื่นร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ให้เอาผิดเจ้าหน้าที่คนนั้นๆ เป็นการเฉพาะตัวได้

แต่นอกจากความยากในการพิสูจน์ว่า “กระสุนสังหาร” ออกมาจากปากกระบอกปืนของเจ้าหน้าที่คนไหนแล้ว

อีกนัยหนึ่งก็คือ มตินี้ของ ป.ป.ช. ได้ทำให้ “ความรับผิด” จากเหตุการณ์ดังกล่าว พ้นจากตัว “ผู้สั่งการ” ไปโดยสมบูรณ์ ไม่ว่าผู้สั่งการนั้นจะชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็ตาม

แม้ก่อนหน้านี้ ญาติของเหยื่อจะเคยไปยื่นคำร้องให้ DSI ช่วยเอาผิดกับผู้สั่งการสลายการชุมนุม นปช. เมื่อ 8 ปีก่อนอีกทางหนึ่ง

แต่ก็อย่างที่หลายคนน่าจะรู้กัน คือทั้ง “3 ศาล” ศาลชั้นต้น - ศาลอุทธรณ์ - ศาลฎีกา ต่างยกคำร้องที่ DSI ส่งต่อไปให้พิจารณา เพราะชี้ว่า คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการใช้อำนาจสั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

หน่วยงานที่มีหน้าที่ไต่สวนคดีเบื้องต้น คือ ป.ป.ช. ไม่ใช่ DSI

ทุกอย่างจึงต้องกลับไปวนลูป และจบลงที่เดิมคือ ป.ป.ช.ยกคำร้อง เพราะ “ผู้สั่งการไม่มีความผิด”

ต้องยอมรับว่า สาเหตุที่ทำการชุมนุมสีเสื้อต่างๆ ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที เริ่มจากชุมนุมปิดถนนธรรมดา พัฒนาไปเป็นการปิดสถานที่ราชการ ปิดสนามบิน ปิดบริษัทเอกชน ก่อนจะลงเอยด้วยการปิดเมือง มีการปะทะกันมือเปล่า ตัวหนอน ไม้หน้าสาม ด้ามธง ก่อนจะใช้อาวุธสงครามยิงใส่กัน

ส่วนหนึ่งก็เกิดจากที่องค์กรในกระบวนการยุติธรรมที่ทำงานล่าช้า สองมาตรฐาน หรือไม่สามารถเอาผิดผู้สมควรจะต้องรับผิดชอบจริงๆ ได้

พอคนไม่เชื่อมั่นในคนกลางที่จะมายุติความขัดแย้งได้ “อย่างยุติธรรม” เลยดิ้นรนที่จะสู้เพื่อสิ่งที่ตัวเองเชื่อ และพอวิธีการตามช่องทาง ตามระบบ มันไม่เกิดผลอะไร ท้ายสุดเลยพัฒนาไปเป็นความรุนแรง

ที่เขียนมาข้างต้น ผมไม่ได้ต้องการจะบอกว่า คดีนี้หากคุณอภิสิทธิ์ คุณสุเทพ หรือบิ๊กป๊อก ถูกลงโทษ ถึงจะเรียกได้ว่ายุติธรรม

แต่สิ่งที่ชวนพูดคุยสนทนาก็คือ ในสังคมแบบไหนกันที่มีคนถูกทำให้ตายเป็นจำนวนมากกลางเมือง แต่ไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบมารับผิดได้

และอีกสิ่งที่ชวนให้ตั้งคำถามหนักๆ ก็คือการ “ใช้ดุลยพินิจ” ขององค์กรอย่าง ป.ป.ช.

ตอนที่สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ หน้ารัฐสภา เมื่อปี 2551 แม้พยานหลักฐานและวิธีคิดที่ใช้ในการพิจารณาคดีนี้จะชวนให้ถูกตั้งคำถาม แต่ก็เป็นการ “วางหลักการ” โดย ป.ป.ช.เองว่า ผู้มีอำนาจสั่งการต้องแสดงความผิดชอบขนาดไหน หากเกิดความสูญเสียขึ้น (ต้องสั่งให้ยกเลิกการใช้แก๊สน้ำตาโดยทันที หลังรู้ว่ามีคนบาดเจ็บ และเพราะไม่ยกเลิก จึงมีความผิดทั้ง 4 คน)

ทว่าเมื่อถึงคิว คดีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553 ป.ป.ช.กลับไปมองโดยอิงถึงเหตุผลของฝ่ายรัฐ ว่าเหตุใดจึงจำเป็นต้องใช้อาวุธสงคราม (มีคำสั่งศาลแพ่งว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ไม่เป็นไปโดยสงบ, ผู้ชุมนุมมีกลุ่มบุคคลติดอาวุธแฝงตัวอยู่, มีการปรับแผนเป็นการตั้งด่านแทบกระชับพื้นที่แล้ว)

แม้ฝ่ายผู้ชุมนุมจะแย้งมาโดยตลอดว่า คนตายส่วนใหญ่ไม่มีอาวุธ บางคนไม่ใช่ผู้ชุมนุมด้วยซ้ำ แต่มาอยู่ในสถานที่ชุมนุมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ทั้งผู้สื่อข่าว ช่างภาพ พยาบาล ฯลฯ แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจผู้มีอำนาจชี้ถูกชี้ผิดได้

ฟาก ป.ป.ช.เองก็เหมือนจะรู้ว่าจะโดนตั้งคำถามแบบนี้ เลยทำข้อมูลเปรียบเทียบการใช้ดุลยพินิจของทั้ง 2 เหตุการณ์เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ ใครสนใจเข้าไปหาอ่านกันดูได้

ความจริงแล้ว เวลาเขียนถึงคดีนี้ ผมไม่เคยใช้คำว่า “คดี 99 ศพ” แม้แต่ครั้งเดียว

เพราะเท่าที่พอจะค้นข้อมูลได้ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้น จะอยู่ระหว่าง 92 - 95 ศพ หรือต่อให้มีผู้เสียชีวิตถึง 99 ศพจริง ก็ต้องไม่ลืมว่า ในจำนวนนั้นมีเจ้าหน้าที่ที่ถูกโจมตีด้วยอาวุธสงครามปริศนาจนเสียชีวิตรวมอยู่ด้วย

คำว่า “ไม่มีคดี 99 ศพ” ในชื่อคอลัมน์วันนี้ จึงมี 2 ความหมาย คือ 1.) คดีนี้มีผู้เสียชีวิตไม่ถึง 99 ศพมาตั้งแต่ต้น และ 2.) ไม่ว่าจะมีกี่ศพก็ตาม แต่จะไม่มีใครต้องรับผิดจากสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมันไม่มีคดีอีกต่อไปแล้ว

ท้ายสุด บทสรุปของคดีนี้ ก็เลยเป็นดั่งคำที่อดีตนายกฯ คนหนึ่งเคยพูดไว้กับสื่อต่างชาติ คือ “Unfortunately some people died.”

หรือโชคไม่ดี ที่มีคนตาย

และเพราะมันเป็นเรื่องของ “โชค” การตายของพวกเขา ก็เลยไม่มีใครต้องรับผิดอะไร

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog