ไม่พบผลการค้นหา
รศ. นวลน้อย ตรีรัตน์อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เผยสาเหตุที่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในไทยยังคงอยู่เกิดจากอำนาจทางการเมือง และอำนาจทางเศรษฐกิจ พร้อมแนะพรรคการเมืองต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเลือก

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาในหัวข้อ "ตั้งโจทย์-ตอบอนาคต : วาระการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหลังเลือกตั้ง ครั้งที่ 1 : การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ" รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในไทยคงทนมาจนถึงทุกวันนี้ เกิดจาก 2 ปัจจัย คือ อำนาจทางการเมือง และอำนาจทางเศรษฐกิจ 

ปัจจัยด้าน 'อำนาจทางการเมือง' พบว่า เมื่อการกระจายอำนาจลดน้อยลง ความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีความชัดเจนในช่วงการรัฐประหาร 4-5 ปีที่ผ่านมา เพราะอำนาจถูกดึงกลับมารวมศูนย์ โดยอ้างเหตุผลการทุจริตของท้องถิ่น แต่จากงานวิจัยพบว่า 'รัฐราชการ' ก็เกิดการทุจริตไม่แพ้ 'นักการเมือง'

“การกระจายอำนาจการันตีอย่างหนึ่งว่า ทรัพยากรจะถูกกระจายไปอย่างทั่วถึง และหากเราอยากแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เรื่องแบบนี้ยืนหยัดทำต่อไปเรื่อยๆ การจัดการทางการเงินก็ค่อยๆ ตรวจสอบไป เชื่อว่า ประชาชนมีข้อมูลข่าวสารของท้องถิ่นเขาจะควบคุมท้องถิ่นได้”


ส่วนปัจจัยด้าน 'อำนาจทางเศรษฐกิจ' พบว่า โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่ไม่เสรีและเป็นธรรม ย่อมทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ในต่างประเทศ การผูกขาดทางเศรษฐกิจ เกิดจากคนที่สร้างนวัตกรรม แต่ในไทยกลับผูกขาดโดยกฎกติกา ซึ่งเอื้อกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ด้วยความสัมพันธ์ด้านผลประโยชน์กับผู้มีอำนาจ

“โครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่ได้ผูกขาดโดยนวัตกรรม แต่เป็นการผูกขาดโดยกฎ ระเบียบ วิธีการ อิงกับกฎ กติกาภาครัฐ”


นอกจากนี้ รศ.นวลน้อย ยังเพิ่มเติมว่า สังคมยังไม่มีกลไกเรื่องการจัดสวัสดิการสังคม ที่จะช่วยให้ครอบครัวหนึ่งเปลี่ยนแปลงฐานะ เหมือนในหลายประเทศที่เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้ามีกลไกเหล่านี้ อย่างน้อยที่สุด คนหนึ่งเมื่อเกิดมาไม่ว่าจากฐานะอะไรก็ตาม แต่มีกลไกเหล่านี้คุ้มครองที่ดี พวกเขาจะมีโอกาสเติบโตขึ้นมาเข้าถึงการศึกษาที่ดี มีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถเติบโตพัฒนาตัวเองจัดการชีวิตตัวเองได้อย่างดี และเมื่อเปรียบเทียบงบประมาณด้านการศึกษาของไทยต่อจีดีพี กับประเทศอื่นๆ พบว่าไม่ใช่น้อย แต่ไทยเราโตในเชิงปริมาณ แต่ไม่โตในเชิงคุณภาพ คุณภาพยังกระจุกตัวอยู่ในเมือง แต่ในชนบทโอกาสที่คนทุกคนจะมีความเท่าเทียมกันในการเข้ารับการศึกษาที่ดีนั้นไม่มี ส่วนการจ้างงานในอนาคต โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเองจะต้องคิดว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน

ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาคนจนไม่ใช่ให้จดทะเบียนเป็นครั้งๆ ต้องหาให้ได้คนจนอยู่ที่ไหน และทำให้เขามีอาชีพที่มั่นคง หากมีฐานข้อมูลสามารถศึกษาได้ ลงไปช่วยเหลือ ไปเพิ่มศักยภาพ ปัญหามีรายได้น้อยมาจากอะไร

ด้าน นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เป็นปัญหาเรื้อรังที่รอการแก้ไข ซึ่งไม่สามารถทำให้สำเร็จในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น พรรคการเมือง จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเลือกอนาคตของตัวเอง เช่น สิทธิรักษาพยาบาล คุณภาพการศึกษา การคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงาน เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับนายจ้าง และความเสมอภาคทางเพศ

อย่างไรก็ตาม นายจักรชัย ยังคาดหวังว่า ในอนาคต สังคมไทยจะสามารถพูดคุยเรื่อง 'ความมั่งคั่ง' และ 'ความเหลื่อมล้ำ' ได้อย่างเป็นปกติเหมือนในต่างประเทศ โดย คน 1% บนของประเทศ(ฐานะร่ำรวยมาก) ต้องชี้แจงที่มาที่ไปของเงิน เพื่อสร้างความโปร่งใส และตรวจสอบได้