นับตั้งแต่ภาพกราฟฟิตี้ 'นาฬิกาปลุกโรเล็กซ์' พร้อมใบหน้า 'พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ' รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปรากฏแถวสะพานลอยในย่านสุขุมวิทเมื่อไม่กี่วันก่อน ทำให้ทั้งสื่อไทยและสื่อต่างประเทศหลายสำนัก รวมถึงวอยซ์ออนไลน์ นำเสนอความคิดที่อยู่เบื้องหลังผลงานชิ้นนี้
ขณะเดียวกัน ก็มีเจ้าหน้าที่เทศกิจมุ่งหน้าไปลบภาพดังกล่าวทิ้ง รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจำนวนหนึ่งติดตามไปเยี่ยมที่พักของ Headache Stencil ศิลปินเจ้าของงาน ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันอีกครั้งว่าการพ่นศิลปะบนกำแพงเป็นความผิดร้ายแรงถึงขั้นไหน?
เมื่อในความเป็นจริง การพ่นงานกราฟฟิตี้บนกำแพงในหลายประเทศ เข้าข่ายความผิดในข้อหาทำลายทรัพย์สิน หรือในกรณีของไทยเป็นความผิดพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535
ส่วนในกรณีที่มีการบุกรุกเข้าไปในที่ส่วนบุคคลก็อาจจะโดนข้อหาบุกรุกอีกกระทงหนึ่ง
ถึงแม้ว่าจะถูกมองในแง่ลบในช่วงแรกๆ แต่แวดวงกราฟฟิตี้ของไทยก็ยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และได้รับการยอมรับจากคนหลายกลุ่มในสังคมว่านี่คือศิลปะอีกแขนงหนึ่ง เห็นได้จากการดำรงอยู่ของ 'สวนเลิศหล้า' ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้า BTS ราชเทวี ซึ่งมีศิลปินแนวสตรีทอาร์ทไปพ่นสีบนกำแพงตึกเก่าในย่านนั้นกันอย่างเปิดเผย รวมถึง mamafakka ศิลปินชื่อดังผู้ล่วงลับ
ผลงานกราฟฟิตี้ที่สวนเลิศหล้าได้รับความเห็นชอบจากผู้เป็นเจ้าของอาคารสถานที่บริเวณดังกล่าว และกลายเป็นหมุดหมายใหม่ของคนกร���งเทพฯ และชาวต่างชาติที่สนใจงานกราฟฟิตี้ให้แวะไปเยี่ยมชมและถ่ายภาพ ไม่ต่างจากแกลเลอรี่กลางแจ้ง ซึ่งเปิดกว้างให้คนเข้าไปดูได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ส่วนกราฟฟิตี้ที่แสดงแนวคิดทางการเมือง หรือ Political Art ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคมไทย เพราะมีการแสดงออกซึ่งจุดยืนทางการเมืองผ่านกราฟฟิตี้กันมาพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นยุคที่มีการชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตรัฐบาลหรือฝ่ายที่ต่อต้านอดีตรัฐบาล ก็มีการนำศิลปะมาเกี่ยวข้องในการเคลื่อนไหวด้วยเสมอ
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีโครงการปรับภูมิทัศน์ย่านชุมชนเก่าในไทยหลายแห่งที่นำศิลปะกราฟฟิตี้มาเป็นจุดขาย เช่นในสงขลาและราชบุรี ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ศิลปินกราฟฟิตี้ไปพ่นงานแสดงไว้ ก็ถือได้ว่าสังคมไทยเปิดกว้างและให้พื้นที่แก่งานศิลปะแขนงนี้พอสมควร
นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จเรื่องกราฟฟิตี้ เช่น เมืองปีนังในมาเลเซีย ซึ่งเปิดให้ศิลปินกราฟฟิตี้จากทั่วโลกมาสร้างผลงานตามกำแพงต่างๆ จนเป็นเอกลักษณ์ของเมือง และเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ทำให้พอจะสรุปได้ว่า ประเทศไทยให้การยอมรับกราฟฟิตี้ แต่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี เพราะถ้าเป็นศิลปะที่เกิดจากความยินยอมพร้อมใจ หรือเจ้าของพื้นที่ไม่ต้องการเอาเรื่องเอาราว ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่มีประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งขึ้นมา ศิลปินกราฟฟิตี้ก็อาจจะถูกตามล่าตัวมารับโทษได้เช่นกัน
ผลสะเทือนของงานกราฟฟิตี้
หนึ่งในแรงขับที่สำคัญของการสร้างงานกราฟฟิตี้ ซึ่งเริ่มแพร่หลายในประเทศตะวันตกยุคทศวรรษที่ 80 เกิดจากความต้องการท้าทายกรอบจารีตทั้งในสังคมและแวดวงศิลปะ การพ่นกราฟฟิตี้จึงเริ่มจากกำแพงสาธารณะหรือกำแพงที่พักส่วนบุคคล แต่เมื่อศิลปินหลายคนสร้างผลงานที่สะท้อนสังคมจนส่งผลสะเทือนความรู้สึกคนที่ได้เห็นผลงาน ทำให้กราฟฟิตี้ได้รับการยอมรับในฐานะศิลปะบนกำแพง และเป็นถ้อยแถลงของศิลปินที่สมควรได้รับการเคารพ
ตัวอย่างศิลปินกราฟฟิตี้ที่ทำให้ศิลปะบนกำแพงกลายเป็นข่าวใหญ่ รวมถึงทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทางสังคม เห็นจะหนีไม่พ้น 'Banksy' ศิลปินกราฟฟิตี้นิรนามที่เริ่มพ่นงานครั้งแรกในอังกฤษ และลามไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงพื้นที่แห่งความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์
ผลงานในยุคแรกของแบงก์ซีที่คนจำได้ คือ ภาพชุด 'หนู' ที่สะท้อนแนวคิดของชนชั้นล่างในสังคมอังกฤษ ก่อนจะเป็นภาพเสียดสีเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงภาพต่อต้านการใช้ความรุนแรง และเมื่อผลงานของเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ประชาชนในหลายๆ ย่านที่มีภาพของแบงก์ซีพ่นอยู่ตามกำแพง (รวมถึงงาน installation art) หันมา 'อนุรักษ์' ผลงานของแบงก์ซี ทั้งยังรวมตัวกันคัดค้านเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ให้ลบหรือทำลายผลงานของเขาทิ้ง เพราะถือเป็นความภาคภูมิใจ และเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างเรื่องราวให้กับคนในชุมชน
อย่างไรก็ตาม อังกฤษยังถือว่ากราฟฟิตี้เป็นการกระทำผิดกฎหมาย ในข้อหาทำลายทรัพย์สิน แต่จะมีการบังคับใช้กฎหมายหรือลงโทษผู้สร้างงานได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่างานดังกล่าวมีผลต่อคนดูหรือคนในชุมชนอย่างไร
ส่วนประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดเรื่องกราฟฟิตี้ คือ อาร์เจนตินา ซึ่งไม่มีกฎหมายลงโทษผู้สร้างงานศิลปะบนกำแพง ทำให้แวดวงศิลปินกราฟฟิตี้ในประเทศนี้มีความหลากหลายและเติบโต แม้แต่ในอิหร่านซึ่งเป็นประเทศค่อนข้างปิดก็ยังมีการเคลื่อนไหวของศิลปินกราฟฟิตี้ ส่วนประเทศที่มีกฎหมายลงโทษผู้พ่นงานศิลปะบนกำแพงค่อนช้างรุนแรง เช่น สิงคโปร์ มีบทลงโทษที่ร้ายแรงถึงขั้นปรับเงินและเฆี่ยนตี แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลให้ศิลปินกราฟฟิตี้ลดจำนวนลง แต่ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อ่านเพิ่มเติม: