ไม่พบผลการค้นหา
‘ดอกเตอร์อเล็กซ์ โมลตัน (Dr. Alex Moulton)’ เจ้าของผลงานการออกแบบจักรยานภายใต้ชื่อการค้าว่า ‘อเล็กซ์ โมลตัน’ ใช้เวลากว่า 5 ทศวรรษ หมดไปกับการศึกษาค้นคว้าจักรยาน และยนตรกรรมชั้นนำของโลก จนออกมาเป็นจักรยานล้อเล็กอันทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา และมีมูลค่าเทียบเท่ากับผลงานศิลปะชั้นสูง

โมลตันเกิดในปี 1920 ณ สแตรทฟอร์ด เมืองสำคัญด้านวรรณกรรมอังกฤษ ก่อนจะเข้าศึกษาที่คิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และฝึกงานด้านวิศวกรรมกับหลากหลายบริษัท ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้การคิดค้นระบบกลไก และการออกแบบที่ละเอียดซับซ้อน ทำให้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาตัดสินใจกลับไปเปิดแผนกวิจัยผลิตภัณฑ์ยางกันสะเทือนในบริษัทของตระกูล พร้อมกับก่อตั้งบริษัท ‘Moulton Bicycle Company’ เป็นของตัวเอง เพื่อผลิตจักรยานรุ่นใหม่ในรอบศตวรรษ

24008540_10154843182706300_976167606_n.jpg

ต้องยอมรับว่า ความงดงามของจักรยานอเล็กซ์ โมลตัน ราคาหลายแสน เต็มเปี่ยมไปด้วยแรงดึงดูดที่ทำให้นักปั่นทั่วโลกต่างหลงใหล และอยากครอบครอง จนกระทั่งความนิยมในตัวจักรยานอเล็กซ์ โมลตัน ขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในฐานะจักรยานที่ล้ำหน้า ทางวิศวกรรม และการดีไซน์ที่ยากจะลอกเลียนแบบ ซึ่งสามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ปั่นทางไกล และการแข่งขันกีฬา นอกจากนั้น ความปรารถนาอันแรงกล้าที่มีต่อการออกแบบยังทำให้ในปี 1976 ดอกเตอร์อเล็กซ์ โมลตัน ถูกขนานนามว่า ‘อัศวิน’ หลังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สาขาศิลปะ และวิทยาศาสตร์

‘สมชัย ส่งวัฒนา’ ผู้ก่อตั้งอาณาจักรศิลปะ ‘ช่างชุ่ย’ ให้คำนิยามจักรยานอเล็กซ์ โมลตัน ว่าเป็นนวัตกรรมการออกแบบที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก ทำให้เขาตัดสินใจจัดนิทรรศการ ‘อเล็กซ์ โมลตัน: ศิลปะ ยานพาหนะ อัจฉริยะ’ ครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอเล็กซ์ โมลตัน

20171122_153247.jpg

“นิทรรศการอเล็กซ์ โมลตัน ประเทศไทย เกิดขึ้นได้จากสปิริตของกลุ่มคนรักจักรยานอเล็กซ์ โมลตัน เป็นการร่วมมือกันระหว่างคนปั่นอเล็กซ์ โมลตัน กับช่างชุ่ยที่เห็นว่า ทั้งหมดเป็นสิ่งงดงามที่ควรจะมอบแก่สังคมไทย เพื่อแสดงภาพประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของจักรยานอเล็กซ์ โมลตัน และอัจริยะบุคคลระดับโลก โดยผู้เข้าชมจะได้เห็นการเรียงร้อยเรื่องตั้งแต่ปีแรกจวบจนปัจจุบันร่วม 50 กว่าปี และการรวมตัวของจักรยานอเล็กซ์ โมลตัน ที่เยอะที่สุด”

“จุดมุ่งหมายของช่างชุ่ยไม่ได้หวังให้นิทรรศการอเล็กซ์ โมลตัน เป็นธุรกิจ แค่ต้องการมอบความรู้ และแรงบันดาลใจกับคนรุ่นใหม่ที่อยากจะสร้างปรากฏการณ์ในระดับตำนาน ด้วยการนำการออกแบบมาร่วมกับวิศวกรรม และอเล็กซ์ โมลตัน ก็เป็นตัวอย่างที่ดีมากตัวอย่างหนึ่ง”

สำหรับประเทศญี่ปุ่น เริ่มมีการก่อตั้งชมรมจักรยานอเล็กซ์ โมลตัน ซึ่งนับเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ผู้หลงใหลศิลปะเคลื่อนที่ของ อเล็กซ์ โมลตัน อยู่ทั่วโลก ด้านประเทศไทย ปัจจุบันน่าจะมีจักรยานอเล็กซ์ โมลตัน อยู่ประมาณ 300 คัน แต่ทางช่างชุ่ยเชิญมาร่วมแสดงในนิทรรศการได้เพียง 50 กว่าคันเท่านั้น

“การรวมตัวไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ หรืออาจจะเกิดเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งเราต้องให้เจ้าของสมัครใจจริง ๆ เพราะอเล็กซ์ โมลตัน เป็นเหมือนลูกรักของทุกคน เราต้องดูแลจักรยานทุกคันให้ดีที่สุด และต้องขอบคุณสปิริตของทุกคนที่มีใจรักต่อวงการศิลปะ ต่ออเล็กซ์ โมลตัน และต่อช่างชุ่ย” สมชัยกล่าว

20171122_151724.jpg

ภายในพื้นที่ 700 ตารางเมตร ผู้ชมจะได้เริ่มต้นทำความรู้จักกับจักรยานรุ่นคลาสสิกที่เกิดขึ้นในปี 1962-1974 ช่วงเวลาที่อเล็กซ์ โมลตัน ทุ่มเทชีวิตให้กับการปฏิวัติการออกแบบจักรยานรูปแบบเดิม ๆ โดยหันมามุ่งมั่นกับการสร้างสรรค์จักรยานที่ทุกคนจะมีความสุขกับการปั่น และภาคภูมิใจกับการเป็นเจ้าของ ทำให้เกิดเป็น ‘F Frame’ ตัวถังจักรยานไร้ท่อนอน สะดวกต่อการขึ้นลง มาพร้อมล้อขนาดเล็กเพียง 16 นิ้ว และระบบกันสะเทือนแบบสปริงบนแกนไนลอน ถูกเปิดตัวครั้งแรกที่ Cycle & Motor Cycle Show ในกรุงลอนดอน ราคาตอนนั้นเริ่มต้นที่คันละ 25 ปอนด์ ซึ่งประสบความสำเร็จท่วมท้น

ต่อด้วยในช่วงปี 1977-1988 อเล็กซ์ โมลตัน เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านศิลปะ และแนวคิดในมุมมองต่าง ๆ มาพัฒนาเป็นจักรยานของตลาดระดับบนสุด โดดเด่นด้วย ‘Spaceframe’ ตัวถังเป็นโครงถักจากท่อขนาดเล็ก ผลิตแบบแฮนด์เมด นอกจากจะแข็งแรงแล้วยังนุ่มนวลระหว่างขับขี่ ด้วยระบบกันสะเทือนด้านหน้าแบบใช้ตะเกียบสองชิ้นยึดติดกันด้วย และปรับล้อเป็น 17 นิ้ว เพื่อประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น นับเป็นการพลิกโฉมนวัตกรรมการออกแบบที่เหนือชั้นอีกครั้ง

20171122_151906.jpg20171122_150758.jpg

จากนั้นปี 1989-1993 เป็นยุคของ ‘Moulton Modern AM’ อเล็กซ์ โมลตัน ท้าทายตัวเองด้วยการนำวัสดุใหม่ ๆ ที่น้ำหนักเบามาเป็นส่วนประกอบ และพัฒนาเทคนิคการเชื่อมต่อสเตนเลสสตีลเข้ากับเหล็ก จนเกิดเป็นการผสมผสานที่ลงตัวของวัสดุสองชนิด โดยในเดือนมิถุนายนปี 1991 อเล็กซ์ โมลตัน เปิดตัวจักรยานรุ่นแรกที่ผลิตจากสเตนเลสสตีลชื่อว่า AM-GT ราคาเริ่มต้นที่ 2,500 ปอนด์

มนตรี ศรีณรงค์ศิริ นักสะสมจักรยานอเล็กซ์ โมลตัน กล่าวว่า ผลงานของอเล็กซ์ โมลตัน ทุกชิ้นให้ความสำคัญเรื่องการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นเหมือนผลงานศิลปะล้ำค่า เหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเรียนรู้ว่า ทำไมคน ๆ หนึ่งถึงออกแบบจักรยานที่แปลก แหวกแนว จากจักรยานทั่วไป แต่สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ดี

“จักรยานคันแรกของอเล็กซ์ โมลตัน เกิดขึ้นตั้งแต่ยุค 50s ซึ่งดอกเตอร์อเล็กซ์เป็นคนที่มีความร่วมสมัยมาก เขาออกแบบจักรยานมาจนอายุ 60 กว่า นั่นหมายความว่า เขาอัปเดตตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งมันส่งผลให้จักรยานในยุคต่อ ๆ มา มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะดียิ่งขึ้น”

ว่ากันว่า หากพูดถึงความพิเศษของอเล็กซ์ โมลตัน ในแง่การออกแบบต้องนำไปเปรียบกับรถยนต์สปอร์ตคลาสสิก เพราะเต็มเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว

“ทุกคนที่เห็นครั้งแรกจะต้องตกใจแน่ เพราะเป็นจักรยานโครงสร้างเล็ก หน้าตาน่ารัก ดูเหมือนปั่นไม่ได้จริง แล้วมีหลายคนหันมาศึกษาผลงานของอเล็กซ์ โมลตัน อย่างจริงจัง คืออะไร มาจากไหน นอกจากนั้น หากมองในแง่การกีฬา จักรยานอเล็กซ์ โมลตัน ยังมาพร้อมกับความนิ่มนวล สามารถปั่นได้ระยะไกล และไม่ทำให้ร่างกายบอบช้ำ ถ้าเป็นจักรยานปกติแล้ว เวลาปั่นทางไกลจะเมื่อย” มนตรีกล่าวทิ้งท้าย

จักรยานทุกคันในนิทรรศการ 'อเล็กซ์ โมลตัน: ศิลปะ ยานพาหนะ อัจฉริยะ' เป็นจักรยานที่รวบรวมของสะสมหายาก และคำถามมากมายเอาไว้ สำหรับผู้สนใจสามารถไปชมดีไซน์แปลก ๆ ได้ที่อาคารอาเหนกป้าสงของช่างชุ่ย ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2560

a01c7755-a780-4d87-9841-c699aaee9140.jpg