ไม่พบผลการค้นหา
ยานอวกาศสำรวจดวงอาทิตย์ของนาซาที่มีแผนจะปล่อยขึ้นสู่ชั้นอวกาศในวันนี้ ต้องเลื่อนการปล่อยตัวไปเป็นวันพรุ่งนี้ หลังพบเหตุขัดข้องทางเทคนิค

ยาน ‘พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ’ ของนาซาที่มีกำหนดปล่อยยานที่แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา ในวันนี้เวลา 03:33 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 14:33 น. ตามเวลาประเทศไทย ถูกเลื่อนการปล่อยยานไปเป็นวันพรุ่งนี้แทน หลังจากที่พบเหตุขัดข้องบางอย่างในช่วงเตรียมความพร้อมของการปล่อยยาน จนมีการเลื่อนเวลาปล่อยยานออกไปอีกเกือบ 1 ชั่วโมงในตอนแรก เพื่อเช็คระบบทั้งหมด แต่เมื่อถึงกำหนดแล้วก็ยังพบว่าระบบไม่มีความพร้อม 100% ในการปล่อยยาน จึงต้องมีการเลื่อนการปล่อยยานไปเป็นวันพรุ่งนี้ (12 สิงหาคม) เวลา 3:31 น. แทน หรือตรงกับเวลาในประเทศไทยคือ 14:31 น. 

ยานลำนี้จะใช้เวลา 7 ปี ในการเดินทางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ที่ระยะห่าง 6 ล้าน 1 แสนกิโลเมตร และโคจรรอบดวงอาทิตย์ 24 รอบเพื่อสำรวจบริเวณที่เรียกว่า ‘โคโรนา’ ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศแผดเผาของดวงอาทิตย์ ที่เต็มไปด้วยพลาสมาและอนุภาคพลังงานสูงที่ปลดปล่อยพายุสุริยะผ่านอวกาศมายังโลก จากนั้นก็จะส่งข้อมูลกลับมายังโลกที่อยู่ห่างออกไป 140 ล้านกิโลเมตร ถือเป็นการสำรวจที่เข้าใกล้พื้นผิวดวงอาทิตย์มากกว่ายานอวกาศลำอื่นถึง 7 เท่า 

ยานลำนี้มีขนาดเทียบเท่ากับรถยนต์คันเล็ก 1 คัน ถูกออกแบบให้ทนความร้อนได้เป็นอย่างดี โดยจะควบคุมอุณหภูมิภายในยานไว้ที่ 29 องศาเซลเซียส แม้ว่าอุณหภูมิภายนอกจะขึ้นสูงถึง 1,370 องศาเซลเซียสก็ตาม และโครงการสำรวจดวงอาทิตย์ครั้งนี้ ใช้งบประมาณสูงถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 5 หมื่นล้านบาท ถือเป็นภารกิจแรกของโครงการ ‘ลิฟวิง วิธ อะ สตาร์ (Living With a Star)’ ของนาซา ที่หวังศึกษาพื้นผิวของดวงอาทิตย์เพื่อเรียนรู้การเกิดลมสุริยะ ซึ่งจะช่วยในการคาดการณ์สภาพอากาศของโลก รวมถึงจะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารต่อไปด้วย

ภาพ: AFP