วิลเลียม เพเซ็ก ผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจประจำกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น เผยแพร่บทความ Populism threatens Thailand again ลงในเว็บไซต์นิกเกอิเอเชี่ยนรีวิว โดยระบุว่าผู้นำจาก 20 ประเทศในกลุ่มระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือ 'จี20' จะเข้าร่วมการประชุมที่กรุงบัวโนสไอเรส เมืองหลวงของอาร์เจนตินา ช่วงสุดสัปดาห์นี้ และเป็นที่รู้กันดีว่าอาร์เจนตินาเคยประสบปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากนโยบายประชานิยมของอดีตรัฐบาล แต่ประเทศที่กำลังประกาศใช้นโยบายประชานิยมอยู่ในขณะนี้ และอาจจะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต คงจะหนีไม่พ้น 'ประเทศไทย'
เพเซ็กยกตัวอย่างนโยบายประชานิยมในไทย เช่น การแจกเงินหรือโครงการมอบเงินสนับสนุนแก่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ภายใต้การกำกับดูแลของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องย้อนแย้งที่รัฐบาลทหารไทยชุดปัจจุบันนำนโยบายดังกล่าวมาใช้ เพื่อที่ตัวเองจะได้รับความนิยมจากประชาชน เพราะรัฐบาลทหารชุดนี้ให้เหตุผลในการก่อรัฐประหารยึดอำนาจอดีตรัฐบาลเมื่อปี 2557 ว่า ต้องการล้มล้างผลพวงของการปกครองโดยอดีตรัฐบาล รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจแบบทักษิโณมิกส์
บทความของเพเซ็กระบุว่า นโยบายเศรษฐกิจของทักษิณได้รับความนิยมในกลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ เพราะเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นถูกจังหวะ เนื่องจากเขาชนะเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากประเทศไทยเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ได้ไม่นาน การใช้นโยบายประชานิยมทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์และมีรายได้เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับเครือข่ายธุรกิจและพวกพ้องของอดีตนายกฯ
อย่างไรก็ตาม เพเซ็กมองว่าอดีตรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ไม่ได้ผลักดันนโยบายที่ชัดเจนมากนักในด้านการศึกษาหรือการส่งเสริมนวัตกรรม แต่ประสบความสำเร็จในการซื้อใจประชาชน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นต้นตอที่ทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างคนในชนบทกับชนชั้นนำในเขตเมือง แต่การรัฐประหารยึดอำนาจอดีตนายกฯ ทักษิณเมื่อปี 2549 เป็นจุดเริ่มต้นของความผันผวนและการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอีกหลายครั้งในประเทศไทย
บทความดังกล่าวระบุด้วยว่า หลังการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ คนที่ 9 ของไทย ซึ่งแม้จะดำรงตำแหน่งมาแล้วกว่า 4 ปี กลับไม่มีนโยบายหรือแนวทางที่แตกต่างไปจากรัฐบาลชุดเก่า ทั้งยังอยู่ในอำนาจนานกว่ารัฐบาลทหารชุดอื่นๆ ซึ่งมักจะอยู่ในตำแหน่งเพียงไม่กี่ปี เพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างบางอย่างที่ทำไม่ได้ในสมัยของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามปกติ
แต่การที่รัฐบาลทหารชุดนี้เลือกใช้นโยบายประชานิยมแบบเดียวกับรัฐบาลที่ตนเองเคยขับไล่ ก็เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่ารัฐบาลชุดนี้แทบจะไม่มีนโยบายเป็นของตนเอง เพราะเป็นเพียงการรื้อฟื้นนโยบายยุคทักษิโณมิกส์ขึ้นมาใหม่
เพเซ็กเตือนว่า นโยบายประชานิยมไม่ใช่การส่งเสริมเศรษฐกิจระยะยาว การอัดฉีดเงินสดให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ไม่ได้ทำให้เกิดความเข้มแข็งในภาคเศรษฐกิจ เพราะไม่ใช่การสร้างรายได้เพิ่ม แต่กลับเป็นการสร้างภาระหนี้ครัวเรือน และผลสำรวจเมื่อต้นปี 2561 บ่งชี้ว่าไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 77.7 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 เมื่อเปรียบเทียบกับอีก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน
นอกจากนี้ แม้ว่าจีนจะยังมีความต้องการขยายการลงทุนมายังประเทศแถบเอเชีย แต่ไทยก็เผชิญกับภาวะส่งออกชะลอตัว และนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเที่ยวลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายการทำสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ และแม้ว่าไทยจะพยายามรักษาสถานะการเป็น 'ดีทรอยต์แห่งเอเชีย' เพราะมีโรงงานผลิตรถยนต์หลายแห่งอยู่ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้า มิตซูบิชิ หรือจีเอ็ม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไทยจะดำรงสถานะดังกล่าวได้ตลอดไป เพราะอินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไทยในภูมิภาคนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: