ความสำเร็จของละครเรื่อง 'นาคี' ที่เกี่ยวโยงกับเรื่องราวความเชื่อ พญานาค ทำให้วงการละครคาดหวังความสำเร็จแบบนี้ และทำละครเกี่ยวกับพญานาคกันมากขึ้น หากแต่ทุกอย่างไม่เป็นดังหวัง ผู้เขียนบทโทรทัศน์ 'กอล์ฟ' สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ ที่เขียนบทโทรทัศน์ 'นาคี' และ 'เพลิงนาคา' พบข้อแตกต่าง หลังจากได้ลงพื้นที่ ศึกษาข้อมูลจากผู้ชม
โดย 'กอล์ฟ' เล่าให้ทีมข่าว วอยซ์ออนไลน์ ฟังว่า “การถ่ายทอดเรื่องพญานาคในละครหลังข่าวค่อนข้างยาก เพราะเราจะมีความรู้สึกว่า พญานาคเป็นเรื่องของละครจักรๆ วงศ์ๆ ตอนเช้า หรือไม่ก็เป็นละครเย็น ละครเด็ก เราจะไม่ค่อยมีความคิดพญานาคกับละครหลังข่าว กับวิถีชีวิตคนเมืองเป็นยังไง อย่างนาคี ประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด เพราะว่ามันเป็นการถ่ายทอดเรื่องเล่าท้องถิ่นในรูปแบบของท้องถิ่นดั้งเดิม อันนี้มันสามารถที่จะเข้ารหัสกับผู้ชมได้ไม่ยาก แต่พอมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับ เพลิงนาคา พญานาค ชีวิตของคนเมือง แล้วมันไม่ได้ถูกหล่อหลอมด้วยตำนานนะ แต่มันกลายเป็นอุดมการณ์ทางศาสนา คือ เรื่องเพลิงนาคา เป็นการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ 2 สิ่ง คือ ความเชื่อแบบนับเจ้าถือผีเดิม กับความเชื่อในแบบพระพุทธศาสนาสู้กัน อันนี้ยาก”
“การถ่ายทอดเรื่องพญานาคพอเป็นละครหลังข่าว ที่เป็นสื่อในวงกว้าง สื่อประชานิยม มันก็ค่อนข้างจะทำได้ยากให้จับประชาชนได้ทุกกลุ่ม”
หลายครั้งการศึกษางานวิจัย บทวิทยานิพนธ์ด้านละคร ผู้คนมักหยิบเรื่องราวของละครที่ประสบความสำเร็จมาศึกษา หากแต่ละครที่ไม่ประสบความสำเร็จ กลับไม่ค่อยมีคนสนใจ กอล์ฟ สรรัตน์ ตั้งข้อสังเกต หลังได้พูดคุยกับผู้ชมละคร เพลิงนาคา พบว่า จุดที่ไม่คิดว่าจะเป็นประเด็นกลับกลายเป็นประเด็น
“ความทรงจำที่ถูกสร้างขึ้นจากเรื่อง นาคี ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เครื่องแต่งกาย เรื่องตำนานความเชื่อ ความรักระหว่างมนุษย์กับนาค มันกลายเป็นชุดความคิดหลักที่ทำให้คนเชื่อแบบนั้นไปแล้ว พอเราพยายามสร้างสรรค์ ชุดแบบใหม่ๆ ขึ้นมา เราจะรู้สึกว่าพญานาคไม่ได้แต่งตัวแบบนี้ คือคนในท้องถิ่นจะรู้สึกว่า สิ่งนี้มันไกลต่อความรับรู้ของคนมากเกินไป ละคร นาคี ต้องการนำเสนอ ระหว่างคนชนบท แต่ว่าเรื่องของ เพลิงนาคา เป็นเรื่องของคนเมือง นาคี เป็นเรื่องของ ความรัก เพลิงนาคา เป็นเรื่องของความแค้น นาคี เป็นเรื่องของนาคผู้หญิง เพลิงนาคาเป็นเรื่องของนาคผู้ชาย เราจะเห็นกลุ่มผู้ชมแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด คือ กลุ่มคนต่างจังหวัด จะรู้สึกว่ามันยาก มันเข้า���ม่ถึง ในขณะที่คนกรุงเทพ รู้สึกว่าอันนี้มันมีเหตุมีผลนะครับ
นอกจากนี้ บรรยากาศแวดล้อมในละคร ก็เป็นส่วนสำคัญ ที่จะผลักตัวเรื่องทำให้คนเกิดความเชื่อ แต่ก่อนเราเคยคิดว่า บทสำคัญนะ Content is the king แต่ปัจจุบัน ระบบความคิดต้องเปลี่ยนไป บทสำคัญนะ แต่บริบทสำคัญกว่า
อีกความคิดที่กอล์ฟสังเกตจากละคร 'นาคี' และ 'เพลิงนาคา' ด้วยความที่สังคมไทย เป็นสังคมที่มีแนวคิดชายเป็นใหญ่ ทำให้การปรับเปลี่ยนจากตัวดำเนินเรื่อง พญานาคผู้หญิงที่ถูกกระทำมาเป็น พญานาคผู้ชายแทน ทำให้ไม่ได้รับความนิยม
“นาคีกับผีแม่นาคพระโขนง แบบเดียวกันเลย ก็คือถูกกระทำ คนที่ปราบก็เป็นพวกหมอผี เป็นผู้ชาย เราก็รู้สึกว่าลองสร้างอะไรใหม่ๆได้ใหม่ เราลองเปลี่ยน นาคผู้หญิงที่ถูกกระทำ ถูกกดทับ มาเล่าเป็นนาคผู้ชาย ปรากฏว่าการอินของคนดู กับนาคผู้ชายถูกกระทำไม่เท่านาคผู้หญิง”
ในส่วนของรสนิยมคนดูในปัจจุบัน ก็เป็นส่วนสำคัญมาก ทำให้ศาสตร์การทำละครต้องเปลี่ยนไป
เราพบว่าคนดูใจร้อน คนดูไม่ต้องการ การถักทอทางอารมณ์อีกต่อไป เราไม่ได้ดูละครเพื่อเอารสอย่างเดียว เราดูในลักษณะที่ว่า เรื่องต้อง เร็ว ไม่ชอบอะไรที่รู้อยู่แล้วด้วย แล้วคนดูเดี๋ยวนี้ พูดซ้ำทีหนึ่งไม่ได้แล้วนะ ถ้าพูดซ้ำ แปลว่า บทเอื่อย ละครจึงเป็นศาสตร์ที่ยากในการจับอารมณ์คนดูให้อยู่หมัด ถ้าเกิดว่าเราจะสร้าง พญานาคอย่างในเรื่อง เพลิงนาคา ให้คนได้รับความนิยมในระดับกว้างขวาง มันอาจจะต้องอิงกับความทรงจำร่วมมากกว่านี้
สุดท้ายแล้ว ถ้าเกิดจะทำละครพญานาคสักเรื่องหนึ่งขึ้นมาใหม่ อะไรเป็นสิ่งที่คนดู อยากจะรู้ไม่ซ้ำเดิม