ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรี ยืนยัน การลงพื้นที่ตามภูมิภาคต่างๆ ไม่ได้หวังผลทางการเมือง แต่เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณ ในการแก้ไขปัญหาของแต่ละพื้นที่ให้ตรงจุดมากที่สุด

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ถึงการลงพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ โดยยืนยันว่า ไม่ได้หวังผลทางการเมือง แต่เป็นการลงพื้นที่รับฟังปัญหาของประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณให้ตรงกับความต้องการมากที่สุด โดยจะมีการจัดลำดับความเร่งด่วน ตามความเดือดร้อนของประชาชนแต่ละพื้นที่ ซึ่งการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล ได้กระจายให้กับทุกภาคอย่างใกล้เคียงกันและหน่วยงานภาครัฐทุกระดับ ต้องมีการปรับแผนงาน โครงการ จากข้อมูลพื้นฐานของแต่ละกระทรวง ให้สอดคล้องกับปัญหาของแต่ละพื้นที่ เพื่อนำงบประมาณไปใช้แก้ปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างเหมาะสมด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาให้กับประชาชนทุกระดับ ต้องอาศัยความเข้มแข็งของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ปลัด อบต. เนื่องจากเป็นผู้ใกล้ชิดกับประชาชนและมองเห็นแนวทางพัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ โดยภาครัฐ จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนต่อยอดในด้านต่างๆ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนตามกลไกประชารัฐ และไทยนิยมยั่งยืน ในการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมเช่นกัน

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการพัฒนาแหล่งน้ำบึงสีไฟที่เกิดปัญหาแห้งขอดในช่วงปี 2559 ด้วยการคืนชีวิตบึงสีไฟได้สำเร็จ จากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการเปิดเส้นทางน้ำ กำจัดผักตบชวาทำให้แม่น้ำสามารถไหลผ่านได้ตลอดทั้งสายยาวกว่า 127 กิโลเมตร โดยรัฐบาลได้ให้งบประมาณสนับสนุนกว่า 300 ล้านบาท ขุดลอกบึงสีไฟระยะแรก งบประมาณก่อสร้างทางจักรยานรอบบึงสีไฟระยะทาง 12 กิโลเมตร อีก 65 ล้านบาท หากแล้วเสร็จจะทำให้บึงสีไฟสามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น จากเดิม 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้เป็นแก้มลิงเก็บน้ำได้ถึง 12 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งยังได้เตรียมความพร้อมสู่การพัฒนายกระดับบึงสีไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่สำคัญของประเทศโดยใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท ทยอยดำเนินการพัฒนา

ขณะที่การฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตรยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องด้วยการนำน้ำจากคลองปรับปรุงอาคารบังคับน้ำที่กั้นระหว่างแม่น้ำน่านกับแม่น้ำพิจิตรให้น้ำจากแม่น้ำน่านไหลเข้าแม่น้ำพิจิตรได้ตั้งแต่ปี 2560 ส่งผลดีและสร้างประโยชน์ให้แก่ชาวบ้าน 4 อำเภอ 13 ตำบลของสองฝั่งแม่น้ำพิจิตรเป็นดั่งสายน้ำแห่งความหวังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งแก่ชาวพิจิตรและพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำนี้อีกด้วย อย่างไรก็ตามโครงการขุดลอกแม่น้ำพิจิตรในระยะต่อไปรัฐบาลจะเข้ามาสนับสนุนผ่านการร่วมมือระหว่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) กรมทรัพยากรน้ำกรมชลประทานและหน่วยงานระดับพื้นที่ ในการขุดลอกซ่อมแซมและติดตั้งระบบประตูระบายน้ำดงเศรษฐีให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น พร้อมทั้งทำให้ประตูระบายน้ำทุกจุด สามารถใช้การผันน้ำเข้าสู่ระบบนิเวศวิทยาของแม่น้ำพิจิตรภายใต้งบประมาณ 380 ล้านบาท