ไม่พบผลการค้นหา
อดีต รมว.คลังแนะ รัฐบาล คสช.ใช้อำนาจพิเศษ ทบทวนกติกาธุรกิจน้ำมัน ปลดล็อคห่วงโซ่โรงกลั่น -ห่วงโซ่ตลาดขายส่งขายปลีก ปล่อยกลไกตลาดทำงาน ด้าน 'บรรยง' อดีต กรรมการ คนร. ยกงานวิจัยไอเอ็มเอฟ ชี้อุดหนุนราคาพลังงาน คนรวยร้อยละ 20 แรก ได้ประโยชน์ 45 สตางค์ คนจนร้อยละ 20 สุดท้าย ได้เพียง 7 สตางค์

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุเรื่อง 'ถึงเวลาต้องทบทวนกติกาธุรกิจน้ำมัน' โดยระบุว่า ปีนี้ เป็นปีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากระดับ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ไปเป็นระดับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ประชาชนผู้บริโภค ตั้งข้อสงสัยว่า มีบริษัทในห่วงโซ่ธุรกิจน้ำมัน ได้กำไรเกินปกติหรือไม่ โดยสาเหตุที่ประชาชนตั้งข้อสงสัยเรื่องนี้ เนื่องจากเห็นว่า ตั้งแต่มีการปฏิวัติในปี 2557 มีปรากฏการณ์หลายครั้ง ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง แต่ราคาขายปลีกในประเทศไทยไม่ลด หรือลดลงน้อยมาก

ขณะที่ ห่วงโซในธุรกิจน้ำมัน มีห่วงโซ่ของโรงกลั่นน้ำมัน และห่วงโซ่ของการขายส่งขายปลีกน้ำมัน ซึ่งในเรื่องนี้ นายธีระชัยระบุว่า น่าจะมีกติกาที่ไม่เหมาะสม อยู่สองเรื่องด้วยกัน

หนึ่ง สำหรับน้ำมันที่ค้นพบในประเทศไทย แล้วนำขึ้นมากลั่นในไทย เพื่อใช้ในประเทศไทยนั้น ไม่ควรอ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่น ที่ประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากน้ำมันส่วนนี้ ไม่ใช่น้ำมันนำเข้าจากตะวันออกกลาง จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องเอื้อเฟื้อ ให้โรงกลั่นน้ำมันได้รับกำไร เกินกว่าอัตราปกติ แต่รัฐควรกำหนดเพดานราคา สำหรับน้ำมันส่วนนี้ โดยพิจารณาต้นทุนของภาคธุรกิจ แล้วกำหนดอัตรากำไร เพียงเท่าที่พอเหมาะพอสม

สอง สำหรับน้ำมันที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ และทำการกลั่นในประเทศไทย เพื่อใช้ในประเทศไทยนั้น ในอดีตที่ผ่านมา รัฐได้กำหนดราคาเทียบกับหน้าโรงกลั่นที่ประเทศสิงคโปร์แต่ บวกค่าใช้จ่ายในการขนส่ง จากประเทศสิงคโปร์เข้ามายังประเทศไทย ให้แก่โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยด้วย ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการขนส่งดังกล่าว เป็นค่าใช้จ่ายเทียม และกำหนดขึ้นเพื่อเปรียบเทียบกับราคา โดยสมมุติว่า น้ำมันดังกล่าวมีการกลั่นที่ประเทศสิงคโปร์ แล้วขนส่งมาใช้ที่ประเทศไทย โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย ไม่มีโรงใดที่มีการควักกระเป๋าจ่ายเงินค่าขนส่งดังกล่าวจริงๆ เลย เป็นเพียงค่าใช้จ่ายสมมุติที่ตั้งขึ้น เพิ่มเป็นรายได้ให้แก่โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย ในช่วงที่ประเทศไทยยังไม่มีโรงกลั่น หรือมีโรงกลั่น แต่กำลังการผลิตยังไม่พอที่จะใช้งานในประเทศ

ด้วยกติกาดังกล่าว จึงทำให้โรงกลั่นน้ำมันได้กำไรในอัตราที่สูง เป็นการจูงใจให้มีการลงทุนก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันกันมาก แต่เมื่อใดที่มีโรงกลั่นน้ำมันมากเพียงพอแล้ว กติกานี้ก็ควรจะต้องเปลี่ยนแปลง!!! แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมา ไม่ได้มีใครแตะต้องกติกานี้ หรือหยิบยกขึ้นมาทบทวน

ทั้งนี้ อดีต รมว.คลัง ได้ตั้งคำถาม ว่าถ้าให้ความเป็นธรรมแก่โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย ราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย ควรจะกำหนดอย่างไร?

สำหรับน้ำมันส่วนที่นำเข้าจากตะวันออกกลางและนำมากลั่นที่โรงกลั่นน้ำมัน ทั้งที่ในประเทศสิงคโปร์และในประเทศไทย ควรจะกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นที่เท่ากัน ดังนั้นราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย ก็ควรจะเท่ากับราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันที่ประเทศสิงคโปร์ เพราะทั้งสองกรณีดังกล่าว โรงกลั่นน้ำมันนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางเหมือนกัน การกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมัน ที่เท่ากัน จึงเป็นธรรมสำหรับโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย

แต่ทั้งนี้ ในเมื่อปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการกลั่นน้ำมันมากเพียงพอแล้วจึงไม่มีเหตุผลที่จะให้โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยได้รับประโยชน์จากค่าขนส่งเทียมจากประเทศสิงคโปร์เข้ามาประเทศไทย อีกต่อไป!

อีกทั้งกำลังการกลั่นน้ำมันในประเทศไทยขณะนี้ มิใช่เพียงพอที่จะใช้ในประเทศเท่านั้น แต่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เป็นหนึ่งในสองประเทศในอาเซียน คู่กับประเทศสิงคโปร์เท่านั้น!

ถ้าหากจะบอกว่า โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย มีต้นทุนในการขนส่ง ที่สูงกว่าโรงกลั่นน้ำมันในประเทศสิงคโปร์ ก็ต้องเปรียบเทียบค่าขนส่งน้ำมันดิบ จากตะวันออกกลางมายังประเทศสิงคโปร์ กับค่าขนส่งน้ำมันดิบ จากตะวันออกกลางมายังประเทศไทย หรือถ้าจะให้โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย ได้รับประโยชน์จากส่วนต่างค่าขนส่ง ก็จะมีเฉพาะส่วนต่างตรงนี้เท่านั้น แต่การขนส่งทางเรือ ในระยะทางไกลจากตะวันออกกลาง มายังประเทศสิงคโปร์ เปรียบเทียบกลับมายังประเทศไทย น่าจะมีข้อแตกต่างไม่มาก ดังนั้น จึงอาจจะไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องบวกส่วนต่างค่าขนส่งตรงนี้

"ผมจึงคิดว่า เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบ ของรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ ที่ไม่มีผลประโยชน์ทางด้านการเมือง จะต้องรื้อกติกานี้ และกติกาอื่นๆ ถ้ามีกติกาใดที่ให้ประโยชน์เกินกว่าที่ควร แก่ภาคธุรกิจในห่วงโซ่น้ำมัน ไม่ว่าห่วงโซ่ใด" อดีต รมว.คลังระบุ

นอกจากนี้ รัฐบาลควรจะต้องคำนึงว่า การที่จะเปิดให้มีการใช้กลไกตลาด หรือราคาตลาด ในการกำกับดูแลธุรกิจนั้น ห่วงโซ่ทุกห่วง ในโซ่ธุรกิจ จะต้องมีการแข่งขันกันอย่างเสรี จะต้องไม่มีผู้ใดผูกขาด จึงถึงเวลาที่รัฐบาลนี้ จะแก้ไขกติกา และทบทวนกฎระเบียบทั้งหมด เพื่อทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนผู้บริโภคอย่างแท้จริง

'บรรยง' ยกงานวิจัยไอเอ็มเอฟชี้ต้องปล่อยตามกลไกตลาด รัฐแทรกแซงเท่าที่จำเป็น

ขณะที่ นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน และอดีตคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โพสต์เฟซบุ๊ก แสดงความเห็นในเรื่อง 'ให้ลดราคาน้ำมัน ....ผลประโยชน์จะตกกับใคร?' ระบุว่า วิวาทะพลังงานกลับมาร้อนแรงอีกวาระหนึ่ง มีการงัดข้อมูลต่างๆ ของทั้งสองฝ่ายออกมาชักจูงโน้มน้าวต่างๆนาๆ ดังนั้น ตนจึงขอเอางานวิจัยด้านวิชาการ มาแสดงเพื่อโน้มน้าวความเชื่อฝั่งของตน 

โดยอ้างงานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เมื่อปลายปี 2558 เรื่อง "The unequal benefits of fuel subsidies revisited : Evidence for developing countries." ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนว่าการแทรกแซงด้านราคาในพลังงานนั้นมีผลเสียมากมาย ทำให้เกิดการบิดเบือนหลายด้าน และที่สำคัญ ผลประโยชน์จากการแทรกแซงอุดหนุนนั้น (ซึ่งก็คือต้นทุนของประเทศ ของประชาชนทุกคน) กลับไปตกกับคนรวยคนมั่งมีเสียเป็นส่วนใหญ่ คนจนได้รับกระเส็นกระสายแต่เพียงส่วนน้อยถึงน้อยมากเท่านั้น

การวิจัยที่รวบรวมข้อมูลจากประเทศกำลังพัฒนา บอกว่า ทุกบาทที่มีการอุดหนุนราคาพลังงาน ผลประโยชน์ทั้งทางตรงทางอ้อมจะตกกับคนที่รวยร้อยละ 20 แรกเฉลี่ย ถึง 45 สตางค์ ขณะที่กลุ่มคนรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 สุดท้าย จะได้รับเพียง 7 สตางค์เท่านั้น แต่ถ้าเอาผลทางตรง โดยเฉพาะน้ำมัน ถ้าลดราคาลงลิตรละ 1 บาท คนรวยสุดหนึ่งในห้าแรกจะได้ไปถึง 65 สตางค์ ขณะที่คนจนหนึ่งในห้าสุดท้าย จะได้แค่ 2.4 สตางค์เท่านั้น ต่างกันถึง 27 เท่าตัว 

หรือขยายความได้ว่า ถ้าเราลดภาษีน้ำมันลิตรละ 1 บาท เราใช้น้ำมันเฉลี่ย 90 ล้านลิตร/วัน ปีนึง 32,900 ล้านลิตร ปีหนึ่งรัฐก็จะเสียรายได้ไป 32,900 ล้านบาท (ต้องไปหาเพิ่มทางอื่น หรือลดค่าใช้จ่ายลง) แต่ประโยชน์จะตกกับคนรวยที่สุด 13 ล้านคน (ที่มีตนอยู่ในนั้นด้วย) เสีย 21,385 ล้านบาท ได้คนละ 1,645 บาท ขณะที่คนจนสุด 13 ล้านคน แบ่งกันไป 790 ล้านบาท ได้แค่คนละ 61 บาทเท่านั้น

นายบรรยง จึงตั้งคำถามว่า แล้วจะลดภาษี หรืออุดหนุนราคาไปทำไมครับ หรือ จะว่าไป ในทางกลับกันนั้น ภาษีน้ำมัน นับเป็นภาษีที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากที่สุดอันหนึ่ง คือ เก็บจากคนรวยมากกว่าเป็นลำดับขั้น ซึ่งก็เป็นการสมควร เพราะคนรวยย่อมใช้สาธารณูปโภคมากกว่า ใช้ถนนหนทางมากกว่า ก็ควรจ่ายมาก ซึ่งที่จริงเราควรขึ้นภาษีน้ำมันมากกว่านี้อีกด้วยซ้ำ แล้วเอาเงินไปช่วยคนจน ช่วยคนด้อยโอกาสแบบเต็มๆ จะดีกว่ามาก 

พร้อมกับ ขมวดประเด็นในตอนท้ายของเฟซบุ๊กว่า การปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาดเป็นหลัก โดยรัฐเข้ากำกับ เข้าแทรกแซงเท่าที่จำเป็นอย่างที่ประเทศไทยทำอยู่ เป็นนโยบายพลังงานที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการแทรกแซงเกินควร ซึ่งจะก่อให้เกิดการบิดเบือน และเป็นปัญหาระยะยาวมากกว่า โดยเฉพาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่มีแหล่งพลังงานไม่พอเพียงกับความต้องการอย่างประเทศไทย ซึ่งก็มีงานวิจัยต่างๆ ยืนยันมากมาย อย่างที่ยกตัวอย่างมา 

"ดังนั้น ก่อนที่จะเลือกเชื่อ จะเลือกสรุปอะไร ลองฟังความให้รอบด้าน แล้วใช้หลัก 'กาลามสูตร' คิดเสียก่อนนะครับ"นายบรรยงระบุในเฟซบุ๊กพร้อมทิ้งท้ายในโพสต์ดังกล่าวว่า "ปล. ผมเป็นสมาชิกของกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (Energy Reform for Sustainability) ครับ"

ข่าวเกี่ยวข้อง :


ภาพจาก Photo by Zbynek Burival on Unsplash