ไม่พบผลการค้นหา
สรุปผลโพล แฟนเพจวอยซ์ออนไลน์ 24,000 เสียง 52 เปอร์เซ็นต์ บอกมีสิทธิเชียร์เผด็จการ ด้านนักกฎหมายชี้ ต้องแยกเรื่อง 'สิทธิ' และ 'เสรีภาพ' ออกจากกัน ระบุ ต่างประเทศยังดีเบตกันต่อเนื่องว่าเสรีภาพในการแสดงความเห็นด้วยกับนาซีควรถูกจำกัดหรือเปล่า

มาถึงจุดนี้แล้ว อาจจะกล่าวได้ว่าดีเบตเรื่อง “สิทธิสนับสนุนเผด็จการมีจริงหรือไม่” น่าจะข้ามพ้นจากเรื่อง 'ฐานเสียง' หรือ 'ท่าที' ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งไปแล้ว คนที่ยังพอมีกำลังในการดีเบตนั้นพาประเด็นไปสู่การถกในเชิงแนวคิดและปรัชญาของคำว่า 'สิทธิ' แล้ว ซึ่งถ้าทุกฝ่ายทำใจร่มๆ สิ่งที่พอจะบอกได้ก็คือว่า นี่เป็นข้อถกเถียงในสังคมประชาธิไตยซึ่งไม่ได้มีคำตอบเบ็ดเสร็จอะไร เพราะมัน 'แอดวานซ์' มากๆ เมื่อเทียบกับประเทศที่ประชาชนบางคนยังไม่มีแม้แต่สิทธิพลเมือง และทั้งหมดถูกลิดรอนสิทธิทางการเมือง 

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูผลโพลที่แฟนเพจของวอยซ์ออนไลน์ร่วมกันแสดงความคิดเห็นกว่า 24,000 เสียงภายในเวลา 24 ชั่วโมง พร้อมด้วยการแลกเปลี่ยนที่ทั้งเปิดใจกว้างและพยายามแลกเปลี่ยนกันในเชิงหลักการอย่างคึกคักทีเดียว

เราตั้งคำถามว่า คุณคิดว่า ในสังคมประชาธิปไตย ‘แคปเฌอ’ มีสิทธิสนับสนุนเผด็จการหรือไม่

กด 'มีสิทธิ' เพราะระบอบประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้ใครเชื่ออะไรก็ได้

กด 'ไม่มีสิทธิ' เพราะเผด็จการคือการลิดรอนสิทธิพื้นฐาน คนเชื่อในประชาธิปไตย จะไม่ละเมิดคนที่สนับสนุนเผด็จการ และจะกล่าวว่าการสนับสนุนเผด็จการเป็นสิทธิไม่ได้

คำตอบที่เราได้คือ 52 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่ามีสิทธิ และอีก 48 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าไม่มีสิทธิ

แต่โพลนี้ไม่ได้มีเพียงตัวเลข ผู้ร่วมแสดงความเห็น 848 รายการ ร่วมแลกเปลี่ยนกันอย่างเข้มข้นและน่าสนใจมากๆ เช่น คุณ Ken Kanokwattanawan บอกว่า “การใช้สิทธิของตนเองเพื่อลิดรอนสิทธิของผู้อื่นไม่นับเป็นประชาธิปไตยครับ” ความเห็นนี้มีผู้แสดงความเห็นด้วยมากกว่า 1,000 ราย

ความเห็นที่ได้รับคะแนนตอบรับรองลงมาก็คือคุณ T.e. Lawrence บอกว่า “คืองงอ่ะ ในสังคมประชาธิปไตย การจะขึ้นเป็นเผด็จการมันผิดกฎหมายไม่ใช่หรอ แล้วคนที่สนับสนุนก็ต้องผิดกฎหมายป่ะ????” มีเพื่อนๆ เข้ามาคลิกไลค์ 400 กว่าราย

ทั้งนี้ ความเห็นหนึ่งน่าสนใจมาก ก็คือคุณ Ben Wannasiri บอกว่า “Voice ก่อนจะทำโพล์ น่าจะให้ความรู้ลูกเพจนะ ว่าในเยอรมัน คนเยอรมันไม่มีสิทธิสนับสนุนแนวคิดนาซี”

ตกลงว่าเราถกกันเรื่อง 'สิทธิ' หรือเรื่อง 'เสรีภาพ'

เรื่องนี้อาจจะเปิดประเด็นมาด้วยการพูดเรื่อง “สิทธิในการสนับสนุนเผด็จการ” และทำให้เกิดการถกเถียงที่เผ็ดร้อนกว้างขวาง แต่เมื่อ 'วอยซ์ออนไลน์' สอบถามนักวิชาการด้านกฎหมายอาญาที่จบการศึกษาจากเยอรมนี อย่าง สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอชวนดึงกลับประเด็นมาทำความเข้าใจก่อนว่า ที่เราเถียงๆ กันนี่มันอาจจะ 'ผิดประเด็น' ไปนิดหนึ่ง

sawatree03.jpg

ในทางกฎหมายแล้ว มีคำว่า สิทธิ กับ เสรีภาพ สองคำนี้ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่เกี่ยวเนื่องกันอยู่

เสรีภาพ เป็นสิ่งที่มีอยู่โดยใช้อย่างไรก็ได้ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดคนอื่น ไม่จำเป็นต้องให้รัฐรับรอง เช่น เสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพในการเห็นด้วยกับคนอื่น ตราบเท่าที่ไม่กระทบคนอื่น

สิทธิเป็นสิ่งที่รัฐต้องรับรอง คุ้มครอง สิทธิเป็นการให้อำนาจ รับรอง ทำให้เราสามารถจะปกป้องเอาไว้ไม่ให้คนอื่นมายุ่ง และรัฐก็ต้องป้องกันให้คนอื่นมายุ่งด้วย

“ในทางกฎหมายมันลึกซึ้งกว่านั้นนะ มันต้องแยกเรื่องสิทธิกับเสรีภาพออกจากกันนะ รัฐต้องคุ้มครอง ให้คนอื่นมายุ่งด้วยไม่ได้”

เมื่อตั้งต้นอธิบายแบบนี้ สาวตรีบอกว่า ในแง่เสรีภาพแล้วก็น่าจะเป็นเรื่องที่ทุกคนมีได้ แสดงออกได้ ว่าเห็นด้วยกับอะไร ไม่เห็นด้วยกับอะไร แต่ก็มีกรณีของประเทศเยอรมนี และอีก 17 ประเทศในยุโรป ที่กำหนดขอบเขตเสรีภาพไว้จริงๆ อันเนื่องมาจากโศกนาฏกรรมที่ฝ่ายนาซีกระทำต่อมนุษยชาตินับล้านๆ คน และนี่เป็นสิ่งที่มักถูกยกมาเป็นข้ออ้างในการดีเบตว่า ดูซิ เยอรมันยังห้ามแสดงความเห็นด้วยกับนาซีเลย

ผศ. สาวตรีบอกว่า ใช่ กฎหมายนี้มีอยู่จริงๆ แต่แม้แต่ในเยอรมนีก็ถกเถียงกันอยู่ว่า เสรีภาพในการแสดงออกว่าเห็นด้วยกับนาซีนั้นยังควรถูกห้าม และมีโทษทางอาญาอยู่หรือไม่ ทั้งนี้ ในบรรดา 17 ประเทศที่มีกฎหมายนี้อยู่ เริ่มมีการถกเถียงอภิปรายเรื่องนี้กันมากขึ้นๆ และประเทศที่ยกเลิกโทษฐานแสดงออกสนับสนุนนาซีก็มีบ้างแล้ว เช่น สเปน

ทั้งนี้ ข้อถกเถียงหลักๆ ก็คือว่า ถ้าไม่ถึงขั้นเป็นการสร้างเฮทสปีช หรือความเกลียดชัง ทำไมต้องลงโทษทางอาญาด้วย และโทษอาญาที่กำหนดไว้ก็ค่อนข้างร้ายแรง แต่มีหลายลักษณะการกระทำเช่น การติดเครื่องหมายนาซี ทำท่านาซี การพูดแสดงความเห็นด้วย หรือการปฏิเสธหรือโกหกหลอกลวงว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่เคยมีจริง

“จริงๆ การแสดงออกในการต่อต้านคนที่แสดงออกสนับสนุนนาซีนั้น เป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้อยู่แล้ว แต่สมมติถ้าคุณเป็นบริษัท และบอกว่าคุณไม่รับพนักงานที่เห็นด้วยกับเผด็จการ นักกฎหมายเขาก็ถกกันว่าข้อกำหนดแบบนี้ถือว่าละเมิดเสรีภาพหรือเปล่า หรือไม่เป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า ระดับของการ sanction เสรีภาพคนที่สนับสนุนเผด็จการมันอยู่ได้แค่ไหน การยอมรับเสรีภาพพวกนี้ควรมีขอบเขตจำกัดแค่ไหน”

ทั้งนี้ สาวตรีเห็นว่า ที่สังคมกำลังถกกันก็เป็นเรื่องที่ดีตามครรลองประชาธิปไตยอยู่แล้ว เพียงแต่การถกกันอาจจะมี 2 ระนาบ คือระนาบที่ถกทางวิชาการ กับระนาบของการถกันเชิงอุดมการณ์ ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องที่สังคมไทยควรจะเดินหน้าถกเถียงกันต่อไป อย่าเพิ่งเหนื่อยหรือเกลียดชังกันไปเสียก่อนเป็นใช้ได้ เพราะเรื่องนี้ ในประเทศไหนๆ เขาก็ยังถกเถียงกันอยู่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง