ไม่พบผลการค้นหา
ผู้นำสหรัฐฯ เตรียมแต่งตั้งผู้หญิงดำรงตำแหน่ง ผอ.หน่วยข่าวกรองครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่ว่าที่ ผอ.คนใหม่ถูกเปิดโปงว่าเคยดูแลโครงการสอบสวนผู้ต้องสงสัยคดีก่อการร้ายในไทย หลังเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นการซ้อมทรมาน-ละเมิดสิทธิมนุษยชน

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เสนอชื่อ 'จีน่า แฮสเปล' รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ (CIA) เป็นผู้รับตำแหน่งผู้อำนวยการซีไอเอแทน 'ไมค์ ปอมเปโอ' ซึ่งเพิ่งได้รับการเสนอชื่อขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แทนที่ 'เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน' อดีต รมว. ซึ่งถูกเรียกกลับจากการปฏิบัติภารกิจที่แอฟริกาก่อนกำหนด และถูกสั่งปลดจากตำแหน่งเมื่อวันศุกร์ที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา

ทรัมป์ได้แถลงข่าวผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวเมื่อวานนี้ (13 มี.ค.) พร้อมระบุว่า แฮสเปลเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเลือกมาดำรงตำแหน่งสำคัญอย่าง ผอ.ซีไอเอ และเขาได้แสดงความยินดีกับแฮสเปลและปอมเปโอ ซึ่งได้เลื่อนตำแหน่ง รวมถึงขอบคุณทิลเลอร์สันสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงที่ผ่านมา

เว็บไซต์เดอะการ์เดียนรายงานว่าการเสนอชื่อแต่งตั้งผู้หญิงเข้ารับตำแหน่ง ผอ.เป็นเรื่องน่ายินดี แต่การที่แฮสเปลเคยดูแลคุกลับ (ฺBlack Site) ของซีไอเอในประเทศไทย ซึ่งใช้วิธีซ้อมทรมานในการสอบสวนผู้ต้องสงสัยคดีก่อการร้าย อาจทำให้เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องคุณสมบัติในการปฏิบัติหน้าที่

คริสโตเฟอร์ แอนเดอร์ส รองผู้อำนวยการสหภาพแห่งเสรีภาพของพลเรือนอเมริกัน ยื่นคำร้องให้ซีไอเอเปิดเผยข้อมููลเกี่ยวกับประวัติของแฮสเปลในการดูแลโครงการสอบสวนและซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยในคุกลับในไทย ก่อนคณะกรรมาธิการประจำวุฒิสภาจะพิจารณาลงมติว่าจะเห็นชอบให้แฮสเปลรับตำแหน่งซีไอเอหรือไม่ 

ข้อเรียกร้องของแอนเดอร์สได้รับการสนับสนุนจาก จอห์น แม็คเคน ส.ว.พรรครัฐบาลรีพับลิกัน ประจำรัฐแอริโซนา อดีตทหารผ่านศึกที่เคยตกเป็นเชลยในช่วงสงครามเวียดนาม และเป็นผู้เคลื่อนไหวต่อต้านการซ้อมทรมานนักโทษ โดยเขาย้ำว่า แฮสเปลจะต้องอธิบายขอบเขตและหน้าที่รับผิดชอบในระหว่างที่เธอดูแลโครงการสอบสวนในคุกลับ เพราะการซ้อมทรมานนักโทษและผู้ต้องสงสัยที่อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ สมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ถือเป็น 'บันทึกอันดำมืดบทหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์อเมริกัน'

การเปิดโปงว่าแฮสเปลรับผิดชอบดูแลคุกลับในไทยถูกรายงานเป็นข่าวในสหรัฐฯ ครั้งแรกเมื่อเดือน ก.พ.ปีที่แล้ว หล���งจากทรัมป์แต่งตั้งให้เธอดำรงตำแหน่งรอง ผอ.ซีไอเอ และในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา สังกัดพรรคเดโมแครต เคยมีการสกัดไม่ให้แฮสเปลได้รับการเลื่อนตำแหน่งเมื่อปี 2556 และถ้าที่ประชุม ส.ว.ครั้งนี้ลงมติไม่เห็นชอบการเสนอชื่อแฮสเปลเป็น ผอ.ซีไอเอ ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เจมส์ แคลปเปอร์ อดีตผู้อำนวยการสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ (NSA) ในสมัยของโอบามา รวมถึงอดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอหลายราย ประกาศสนับสนุนการแต่งตั้งแฮสเปลดำรงตำแหน่ง ผอ.ซีไอเอ โดยระบุว่า เธอเป็นคนฉลาด มีความสามารถ มีประสบการณ์ ได้รับการยอมรับจากคนทำงาน ทั้งยังเป็นคนดีอีกด้วย

วอเตอร์บอร์ดดิง

( 'วอเตอร์บอร์ดดิง' เป็นหนึ่งในวิธีซ้อมทรมานเพื่อสอบปากคำผู้ต้องสงสัยคดีก่อการร้ายของอดีตรัฐบาลสหรัฐฯ )

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอพี/ฟ็อกซ์นิวส์ เผยรายละเอียดเพิ่มเติมว่า แฮสเปล วัย 61 ปี เริ่มงานกับซีไอเอตั้งแต่ปี 2528 และเป็นผู้ดูแลโครงการสอบสวนผู้ต้องสงสัยคดีก่อการร้ายในประเทศไทยช่วงปี 2545 หลังเกิดวินาศกรรม วันที่ 11 กันยายน 2544 หรือเหตุการณ์ 9/11 ในสหรัฐฯ ส่งผลให้อดีต ปธน.จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และออกคำสั่งขยายอำนาจซีไอเอในการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงและการป้องกันการก่อการร้าย โดยไม่ได้ห้ามการซ้อมทรมานระหว่างกระบวนการสอบปากคำ

อาบู ซูไบดาห์ และอับดุล ราฮิม อัล-นาชิรี ชาวซาอุดีอาระเบีย 2 ราย ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะห์ ทั้งคู่ถูกซีไอเอจับกุมและนำตัวมาคุมขังในคุกลับภายในประเทศไทย ซึ่งอยู่ในความดูแลของซีไอเอ และมีการสอบสวนผู้ต้องสงสัยทั้งสองรายด้วยวิธี 'วอเตอร์บอร์ดดิง' หรือการจับผู้ถูกสอบปากคำนอนหงายและขึงพืดกับแผ่นกระดาน จากนั้นจึงใช้ผ้าชุบน้ำปิดทั่วใบหน้าและเทน้ำรด เพื่อให้ผู้ถูกสอบสวนรู้สึกทรมานเหมือนกำลังจมน้ำ

หลังจากโครงการสิ้นสุด แฮสเปลเป็นผู้ที่ออกคำสั่งให้ทำลายหลักฐานและเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการซ้อมทรมานในคุกลับ ขณะที่ผลการสอบสวนของซีไอเอพบว่า อับดุล ราฮิม อัล-นาชิรี เกี่ยวข้องกับการวางแผนลอบโจมตีเรือรบสหรัฐฯ USS Cole แต่ถูกจับกุมที่นครดูไบในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เสียก่อน ขณะที่อาบู ซูไบดาห์ ซึ่งถูกจับกุมที่ปากีสถานในปี 2545 ไม่เคยถูกตั้งข้อหาใดที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย 

prison

ด้วยเหตุนี้ สภายุโรปและองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศจึงได้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ รับผิดชอบต่อการซ้อมทรมานและละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในสมัยอดีตรัฐบาลบุช ไม่เฉพาะแค่คดีของอาบู ซูไบดาห์ ขณะที่ผลสอบสวนวินัยในสมัยของรัฐบาลโอบามา มีมติว่า เจ้าหน้าที่ซึ่งดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการก่อการร้าย ไม่ถือว่ามีความผิดทางอาญา เพราะเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันและรักษาความมั่นคงของชาติ แต่ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศอยู่ดีว่าสหรัฐฯ มักเรียกร้องให้ผู้อื่นเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน แต่กลับเป็นฝ่ายละเมิดสิทธิผู้บริสุทธิ์เสียเอง

มาร์กาเรต หวง ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐฯ แถลงว่าทั้งปอมเปโอและแฮสเปลต่างมีประวัติด้านสิทธิมนุษยชนที่ย่ำแย่ด้วยกันทั้งคู่ ควรได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดโดยวุฒิสภาก่อนเข้ารับตำแหน่ง โดยแอมเนสตี้ฯ เรียกร้องให้ผู้ถูกเสนอชื่อเข้ารับตำแหน่งทั้งสองคนต้องแถลงปฏิเสธและยุติการกระทำที่สนับสนุนการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนเรียกร้องให้วุฒิสภาสหรัฐฯ ตรวจสอบคุณสมบัติของทั้งคู่โดยละเอียดก่อนรับตำแหน่ง เพราะการทรมาน การสอบสวนในคุกลับ และการคุมขังอย่างไม่มีกำหนด เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และการไว้วางใจปอมเปโอและแฮสเปล ซึ่งต่างไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนในอดีต ให้รับบทบาทสำคัญเช่นนี้ ถือเป็นความเสี่ยงของสังคมสหรัฐฯ อย่างยิ่ง

ส่วนรัฐบาลและกองทัพไทยทุกสมัย ให้การปฏิเสธมาตลอดว่าไม่เคยอนุญาตให้ซีไอเอตั้งคุกลับในไทย แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ และสื่อต่างประเทศหลายสำนักจะรายงานยืนยันข้อมูลดังกล่าวเป็นจำนวนมากก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม: