ไม่พบผลการค้นหา
'สิริพรรณ' รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้มติรัฐสภาชงศาล รธน.ตีความร่าง รธน.เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. สะท้อนความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล ส่งผลถึงคะแนนเสียงโหวตซักฟอก-เสถียรภาพ เชื่อปีนี้การเมืองร้อนแรงหลังพบตัวเลข ส.ส.ขาดประชุมเป็นการรวมกลุ่มเตรียมตั้งพรรคการเมือง

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีสมาชิกรัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจของตนเองในการแก้รัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า ไม่ใช่ว่า ส.ส. และ สว. เหล่านี้ ไม่เข้าใจอำนาจหน้าที่ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ (separation of powers) จนต้องไปพึ่งพาการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเพราะว่าคนกลุ่มนี้ ใช้ทุกวิถีทางเพื่อสร้างกำแพงขวางกั้นให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการสืบสานอำนาจของระบอบทหาร ที่ตนเองได้เกาะเกี่ยวรอรับผลประโยชน์ เกิดขึ้นไม่ได้ หรือ เกิดขึ้นได้ช้าที่สุด

รศ.ดร.สิริพรรณ ระบุว่า การกีดขวางการแก้รัฐธรรมนูญภายใต้บรรยากาศทางการเมืองเช่นนี้ อาจส่งผลด้านกลับ 2 ประการ คือ 1. รัฐธรรมนูญขาดความชอบธรรม ส่งผลให้นับวันคนยิ่งขาดศรัทธา ไม่เชื่อถือ ไม่ยอมปฏิบัติตาม 2. รัฐธรรมนูญทั้งฉบับถูกทดแทนโดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะไม่ต้องวุ่นวายปวดหัวกับข้อจำกัดที่ไร้เหตุผล ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แม้วิธีการร่างใหม่ทั้งฉบับอาจใช้เวลานานกว่า และเงื่อนไขของการเกิดขึ้นอาจยากลำบากและไม่ราบรื่นนัก

ตัวเลขที่น่าสนใจของการยื่นญัตติยื้อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ 316 เสียงที่ลงมติไม่เห็นด้วย (เกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร) เพราะนอกจากจะประกอบด้วยแนวร่วมฝ่ายค้าน ได้แก่ เพื่อไทย 123 ก้าวไกล 51 เสรีรวมไทย 9 ประชาชาติ 5 เพื่อชาติ 5 เศรษฐกิจใหม่ 2 พลังปวงชนไทย 1 แล้ว ยังสมทบทัพด้วยพรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ ภูมิใจไทย 60 ประชาธิปัตย์ 47 ชาติไทยพัฒนา 12 และ ไทยศรีวิไลย์ 1

"การโหวตสวน ของพรรคร่วมรัฐบาลในญัติติสำคัญนี้ สะท้อนความขัดแย้งที่หากประนีประนอมไม่ได้ ย่อมส่งผลสะเทือนต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจและเสถียรภาพของรัฐบาล" รศ.ดร.สิริพรรณ ระบุ

ส่วนตัวเลขพรรคร่วมฝ่ายค้านที่งดออกเสียง (ตั้งใจ) ขาดประชุม (เพื่อไทย 10 ก้าวไกล 2 ประชาชาติ 2 และฝ่ายรัฐบาล พลังประชารัฐ 8 คน ชาติพัฒนา 4 ภูมิใจไทย 1 ประชาธิปัตย์ 3) น่าจะบอกเค้าลางของการก่อรูปพรรคการเมืองกลุ่มใหม่ หลังหมดยุคของพลังประชารัฐ การเมืองปีนี้จะเข้มข้นและร้อนแรง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง