ไม่พบผลการค้นหา
เปิดใจ 'ยอดหทัย รีศรีคำ' ครูวิชาคณิตศาสตร์ แห่งโรงเรียนแกลงวิทยสถาวร ผู้นำพาความสุขและความรู้มาสู่ห้องเรียน

คุณครูหนุ่มร่างอวบ สวมแว่นตากรอบดำโต ท่าทางสนุกสนานร่าเริง กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เมื่อเขาเลือกทำสิ่งที่ไม่ธรรมดาทั่วไป ปรับตัวพัฒนารูปแบบการสอนที่เรียกว่า “Active Learning Happiness” ซึ่งคิดค้นขึ้นมาเอง โดยหวังเป็นพลังขับเคลื่อนให้เด็กๆ เกิดความรู้ความเข้าใจและมีความสุขในการเรียนมากยิ่งขึ้น

ครูโซ่ - ยอดหทัย รีศรีคำ ครูประจำวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนแกลงวิทยสถาวร จ.ระยอง คือชายคนที่เรากำลังพูดถึง เขาเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อสร้างบุคลิคที่แตกต่างอย่างสม่ำเสมอ เป็นทั้งยอดมนุษย์ซูเปอร์ฮีโร่ ตัวการ์ตูน หรือแม้กระทั่ง ตัวละครในเทพนิยาย 

“ไม่ใช่แค่สีสันหรือเรื่องตลกโปกฮา แต่ละชุดมันมีความหมายและเกี่ยวข้องกับบทเรียนที่เรากำลังจะสอน” ครูหนุ่มอธิบาย


ความสุขนำไปสู่ความเข้าใจ 

ครูโซ่สอนวิชาคณิตศาสตร์ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1, 3, 5 และ 6 โดยใช้การสอนแบบ “Active Learning Happiness” มาเป็นเวลา 7 ปี กับ 2 โรงเรียน 

“ผมคิดขึ้นมาเอง หลังจากเห็นต่างประเทศเขาทำแล้วประสบความสำเร็จ ทำไมเราไม่ทำบ้างล่ะ เราไปดูงานมาตั้งเยอะแยะ แต่ประเทศไทยไม่มีใครทำ”

Active Learning Happiness ของเขา เริ่มจากการแต่งตัวให้สอดคล้องกับบทเรียน เพื่อเรียกความสนใจจากเด็ก ก่อนนำไปสู่การสอนที่สนุกสนานและเชื่อมโยงกับชุดที่สวมใส่ สุดท้ายจึงสรุปเนื้อหาเป็นบทเพลงเพื่อตอกย้ำการจดจำ 

“คาบเรียนสูตรคูณ เราแต่งตัวเป็นพ่อมด พอพูดถึงเลขโรมัน เราก็แต่งชุดโรมัน พอพูดถึงเลขอียิปต์ก็เป็นชุดอียิปต์ มันเป็นรูปธรรมมากกว่านามธรรม ข้อดีคือนักเรียนจะสามารถจดจำ เชื่อมโยงเนื้อหาและภาพที่เห็นได้ โดยเฉพาะในเวลาทำข้อสอบ เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับเลขโรมัน ภาพที่แวบขึ้นมาในหัวเขา คือภาพของผมในชุดนักรบโรมันกำลังพาเขาไปหาคำตอบ” ครูหนุ่มวัย 32 ปีบอกชัดถ้อยชัดคำและว่า 

“เวลาสอนไม่มีครูโซ่ มีแต่คนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาสอน ผมเป็นเพียงผู้ควบคุม นำพาเขาไปตามขั้นตอนการเรียนรู้”

นอกจากการแต่งตัวแล้ว ห้องเรียนที่มีครูโซ่กำกับ ยังเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถดีเบต แลกเปลี่ยนความรู้กันได้ ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพสูง หากทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง 

ครูโซ่


เด็กๆ ทำผลงานได้ดีขึ้น 

ประสิทธิภาพของการเรียนการสอนรูปแบบดังกล่าวสะท้อนให้เห็นจากรอยยิ้ม การมีส่วนร่วมในห้องเรียน และแน่นอน ยังรวมไปถึงคะแนนสอบที่เพิ่มมากขึ้นของเด็กๆ 

“บางคนบอกคุณก็พูดได้สิ คุณเป็นคนสอนเอง และเป็นคนให้เกรดเอง แต่ผมลองไปสอนโรงเรียนอื่นมาแล้ว เด็กที่อื่นก็ทำคะแนนได้ดีและมีความสุขมากขึ้น มันเป็นเครื่องยืนยันว่า การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning Happiness ใช้ได้ผลจริงๆ ทุกคนตื่นตัว มีความสุขไปกับการเรียนจนเกิดความเข้าใจในเนื้อหา รวมถึงมีสมาธิกับมัน”  

ในสายตาของคุณครูรุ่นใหม่ เขาเห็นว่า นักเรียนยุคปัจจุบันจะเรียนตามแบบฉบับเดิมเหมือนในอดีตไม่ได้อีกแล้ว เนื่องจากมีเทคโนโลยีและสื่อเร้าที่แตกต่างกัน ซึ่งหนีไม่พ้นที่คุณครูต้องปรับตัว  

“ถ้าสอนไม่สนุกไม่น่าติดตาม นักเรียนจะไม่อยากเรียน รูปแบบการจัดการ วิธีการเรียนการสอนในปัจจุบันจะต้องเข้าถึง เข้าใจ เปิดโอกาสและผลักดันให้เขาไปในทิศทางที่เหมาะสม” ครูโซ่แสดงวิสัยทัศน์ 

ครูโซ่

สำหรับการแต่งกายในชุดไปรเวทไปเรียนที่กำลังเป็นประเด็นอย่างกว้างขวางในสังคม เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ครูโซ่ สอนศิษย์ให้คิดบวก บอกว่า ไม่สามารถอธิบายด้วยคำตอบเดียวได้ เนื่องจากทุกนโยบายการตัดสินใจ ต้องคำนึงถึงบริบทแง่มุมต่างๆ ของแต่ละโรงเรียนอย่างรอบคอบ  

“โรงเรียนเอกชนที่ผู้ปกครองมีฐานะค่อนข้างดีและไม่เหลื่อมล้ำกันมาก มีความพร้อมในการใช้จ่ายสูง ผมคิดว่าเขาหลุดพ้นหรือไม่มีปัญหาเรื่องการโอ้อวดสิ่งของกัน กลับกัน ถ้าเป็นสังคมที่ยังมีความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจกันมาก เราจะพบว่ายังมีการโอ้อวดกันเสมอ” ครูบอกและเห็นว่าการทดลองของกรุงเทพคริสเตียนฯ เป็นสิ่งที่ดี เพราะสังคมก็อยากรู้เช่นกันว่าเสื้อผ้านั้นกระทบการเรียนหรือไม่ 

ครูโซ่

จากเด็กดื้อสู่คุณครูจอมซ่า 

ครูโซ่ ยอดหทัย เรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ และระดับอุดมศึกษาที่คณะศึกษาศาสตร์ เอกคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก่อนมาบรรจุรับราชการที่จังหวัดระยองเป็นระยะเวลาถึง 9 ปีแล้ว  

เขาอยากมีอาชีพเป็นคุณครูตั้งแต่ยังเด็ก เนื่องจากต้องการเติมเต็มความรู้สึกที่เด็กดื้ออย่างเขาไม่เคยได้รับจากครู 

“ผมเป็นพวกกบฎ ดื้อ มีความรู้สึกว่าทำไมครูไม่ดูแลเด็กดื้อ ทำไมต้องผลักไสไล่ส่งเรา เวลามีกรณีความเสียหายเกิดขึ้นไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือใหญ่ ครูมักจะหันไปมองหรือโทษเด็กดื้อก่อน ผมอยากเป็นครูเพราะอยากดูแลเด็กดื้อ ไม่มีใครเข้าใจเด็กดื้อเท่ากับเด็กดื้อที่เข้าใจกัน” 

พ่อพิมพ์ของชาติฝากทัศนะทิ้งท้ายว่า ครูไม่ใช่แค่คนที่คอยบังคับอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ แต่ยังมีหน้าที่เป็นเสมือนญาติสนิทมิตรสหายคอยแลกเปลี่ยนและนำพาเด็กๆ ไปสู่อนาคตที่สดใส  

“ในบางเวลาเราต้องเป็นนักเรียนของนักเรียนอีกทีหนึ่ง ถ้าครูยอมลดอัตตาตัวเองลงไปถึงจุดนั้นได้ คุณจะสามารถจัดกระบวนการเรียนการสอนได้ง่ายขึ้น”  

ครูโซ่

ภาพประกอบเนื้อหาจากเฟซบุ๊ก ครูโซ่ สอนศิษย์ให้คิดบวก

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog